จาก “อาลีบาบา” ถึงธุรกิจใหม่ของ “แจ็ก หม่า”

SPAIN-CHINA-MA
Jack Ma, co-founder and former executive chairman of Chinese Alibaba Group is pictured in Santa Ponsa, on the island of Mallorca on October 20, 2021. Jack Ma is spending time in Spain on the luxury yacht "Zen". Ma's presence in Spain -- for a "study tour of the agricultural industry and technology related to the environment" -- was reported by the South China Morning Post, which is owned by Alibaba. (ภาพโดย JAIME REINA / AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

“แจ็ก หม่า” ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง ผู้นำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในจีน กลับมาเคลื่อนไหวในแวดวงธุรกิจจีนอีกครั้ง ด้วยการก่อตั้งบริษัทใหม่ เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ตามข้อมูลใน “ฉีชาช่า” (Qichacha) ผู้ให้บริการข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทระบุว่า บริษัทใหม่ของแจ็ก หม่า ซึ่งยังไม่มีรายงานออกมาว่าชื่อเรียงเสียงไรนี้ มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นเพียง 10 ล้านหยวน หรือราว 1.39 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

ธุรกิจหลักของบริษัทใหม่ของแจ็ก หม่า ในครั้งนี้เป็นธุรกิจอาหารปรุงสำเร็จในบรรจุภัณฑ์พร้อมจัดส่ง ว่ากันว่ากิจการทำนองนี้ “รุ่ง” และเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อันเป็นผลมาจากพฤติกรรม “อยู่กับบ้าน” ในตลอดช่วง 3 ปีที่โควิด-19 ระบาด

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้น่าสนใจ และชวนติดตามไม่น้อย เพราะเป็นการเริ่มลงทุนทำกิจการอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังจาก แจ็ก หม่า ลาออกจากการเป็นกรรมการบริหาร (บอร์ด) ของอาลีบาบาในปี 2020 และใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดนร่วมปี ท่ามกลางกระแสข่าวว่าเกิดการ “งัดข้อ” กันขึ้นระหว่างเจ้าตัวกับทางการจีน ที่ต้องการเข้ามาควบคุมกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างใกล้ชิด

มีผู้พบเห็น “แจ็ก หม่า” ในหลายประเทศ ทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวกันว่า การเดินทางของเขาไม่ใช่การตระเวนท่องเที่ยวพักผ่อน แต่เป็นเจตนาของเจ้าตัวที่ต้องการเข้าไปดูงานและสังเกตเทคโนโลยีการเกษตรและธุรกิจฟาร์มในประเทศเหล่านี้

ครั้งหนึ่งมีรายงานว่า แจ็ก หม่า เดินทางเยือนศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของมหาวิทยาลัยคินได ในประเทศญี่ปุ่น เก็บเกี่ยวความรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานดังกล่าว โดยในเวลาต่อมาก็หันมาลงทุนในกิจการสตาร์ตอัพเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำผ่านกลไกการลงทุนแห่งหนึ่ง

เชื่อว่าความสนใจเป็นพิเศษนี่เองที่ส่งผลให้ แจ็ก หม่า หันมาก่อตั้งบริษัทใหม่ในธุรกิจอาหารขึ้นมา

ข้อที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ แจ็ก หม่า กลับจีนมาได้ไม่นาน ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน “อาลีบาบา” เป็นการเปลี่ยนแปลงที่นักวิเคราะห์ไม่น้อยเชื่อว่า สะท้อนให้เห็นว่า “บิ๊กบอส” ที่แท้จริงในอาลีบาบา ยังคงเป็นแจ็ก หม่า ผู้นี้นี่เอง

แจ็ก หม่า เดินทางกลับจีนในเดือนมีนาคมปีนี้ พอถึงราวกลางเดือนกันยายน อาลีบาบาก็เกิดการเปลี่ยนแปลงชนิด “คาดไม่ถึง” เมื่อ “แดเนียล จาง” หุ้นส่วนที่เคยร่วมก่อตั้งกิจการกันมาเมื่อราว 20 ปีก่อน ลาออกจากทุกตำแหน่งในอาลีบาบา

จาง ก้าวขึ้นเป็น “ซีอีโอ” ของอาลีบาบาในปี 2015 สืบต่อจากโจนาธาน หลิว ที่รับไม้ต่อจากแจ็ก หม่า ในปี 2013 ต่อมาในปี 2019 แดเนียล จาง ก็ก้าวขึ้นเป็นประธานกลุ่มบริษัทแทนที่ แจ็ก หม่า และในเดือนธันวาคมเมื่อปี 2022 นี่เอง ก็เข้ารับตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มธุรกิจคลาวด์ หนึ่งในหน่วยธุรกิจสำคัญที่สุดของอาลีบาบาด้วยอีกต่างหาก

ตำแหน่งซีอีโอของจาง ถูกแทนที่ด้วย เอ็ดดี้ หวู ในขณะที่ตำแหน่งประธานกลุ่มบริษัทตกไปอยู่กับ โจเซฟ ไซ่ ในขณะที่เอ็ดดี้ หวู เข้ามาควบคุมกิจการคลาวด์ของอาลีบาบาอีกตำแหน่งหนึ่ง

ในบรรดาตำแหน่งระดับสูงทั้ง 3 ตำแหน่งนี้ การลาออกจากกิจการคลาวด์ของ “แดเนียล จาง” ถือเป็นการสร้างเซอร์ไพรส์สูงสุด เพราะแทบจะไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ที่สำคัญที่สุดก็คือ เป็นที่รู้กันดีว่า ทั้งโจเซฟ ไซ่ และ เอ็ดดี้ หวู ต่างเป็น “สหายร่วมรบ” ที่ฝ่าฟันความยากลำบากต่าง ๆ นานามาร่วมกับแจ็ก หม่า จนกลายเป็นเพื่อนสนิทชนิด “มองตาก็รู้ใจ” กันมาโดยตลอด

เท่านั้นยังไม่พอ การลาออกจากทุกตำแหน่งของแดเนียล จาง ยังเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการกลับมาของหวัง เจี้ยน ผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจคลาวด์ของอาลีบาบา ที่ถูกดีดพ้นหน่วยธุรกิจนี้ไปเมื่อ 10 ปีก่อน ด้วยการกลับมารับตำแหน่งในบอร์ดบริหารของอาลีบาบา คลาวด์ อีกครั้ง

ก่อนเข้าร่วมกับอาลีบาบา ในปี 2008 หวัง เจี้ยน เคยทำงานให้กับไมโครซอฟท์ รีเสิร์ช เอเชีย และเป็นคนที่ครั้งหนึ่งเคยให้นิยามความสัมพันธ์ระหว่างเขากับแจ็ก หม่า ไว้ว่า เป็นเหมือน “พี่น้องร่วมทุกข์ร่วมสุข” กันมาเลยทีเดียว

เชลซีย์ แทม นักวิเคราะห์หลักทรัพย์อาวุโสของมอร์นิงสตาร์ เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดในอาลีบาบา ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีการ “วางแผน” กันไว้ก่อน

ในขณะที่ผู้บริหารอาวุโสรายหนึ่งเคยบอกกับนิกเคอิเอเชีย ในเวลานั้นว่า การกลับมาของหวัง เจี้ยน ในวัย 60 ปี เป็นสัญญาณชัดเจนที่สุดว่า แม้ว่าจะไม่มีตำแหน่ง ไม่มีบทบาทอย่างเป็นทางการในอาลีบาบา แต่แจ็ก หม่า ยังคงเป็น “ลูกพี่ใหญ่” ที่มีอิทธิพลสูงสุดที่นี่อยู่ดี

คำถามทิ้งท้ายที่น่าสนใจก็คือ อะไรคือก้าวย่างต่อไปของแจ็ก หม่า และการหวนกลับมาสู่แวดวงธุรกิจของผู้ทรงอิทธิพลรายนี้ทางการจีนจะว่าอย่างไร ?