อาลัย “ชาร์ลี มังเกอร์” มือขวา “บัฟเฟตต์” เบื้องหลังความสำเร็จ Berkshire Hathaway

ชาร์ลี มังเกอร์
ชาร์ลี มังเกอร์/ แฟ้มภาพ ปี 2013 (ภาพโดย Rick Wilking/ REUTERS)

ชาร์ลี มังเกอร์ นักลงทุนระดับเทพ ผู้เป็นมือขวาของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ และอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Berkshire Hathaway มาหลายทศวรรษ เสียชีวิตแล้วในวัย 99 ปี บัฟเฟตต์กล่าวถึงคู่หูของเขาในแถลงการณ์ว่า Berkshire Hathaway จะไม่สามารถอยู่ในจุดที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้เลย หากปราศจากมังเกอร์ 

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2023 ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ ซึ่งตรงกับวันที่ 29 พฤศจิกายน ตามเวลาไทย สื่อต่างประเทศรายงานว่า มหาเศรษฐีชาร์ลี มังเกอร์ (Charlie Munger) ผู้รอบรู้เรื่องการลงทุน ซึ่งเป็นผู้ช่วย หรือ “มือขวา” ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ในตำแหน่ง รองประธานบริษัท เบิร์กเชียร์ แฮทะเวย์ (Berkshire Hathaway) เสียชีวิตแล้วในวัย 99 ปี ซึ่งเหลืออีกเพียง 1 เดือนนิด ๆ เขาก็จะมีอายุครบ 100 ปีในวันปีใหม่ที่จะถึงนี้ 

ข่าวเผยแพร่จาก Berkshire Hathaway ระบุว่า บริษัทได้รับการแจ้งจากครอบครัวของมังเกอร์ว่า มังเกอร์เสียชีวิตอย่างสงบที่โรงพยาบาลในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อเช้าวันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน 

“Berkshire Hathaway ไม่สามารถถูกสร้างขึ้นให้อยู่ในสถานะปัจจุบันได้ หากปราศจากแรงบันดาลใจ สติปัญญา และการมีส่วนร่วมของชาร์ลี” วอร์เรน บัฟเฟตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Berkshire Hathaway  กล่าวในแถลงการณ์ถึงชาร์ลี มังเกอร์ ผู้ที่เป็นทั้งผู้ช่วย คู่หู เพื่อนร่วมงาน และเพื่อนของเขา 

ชาร์ลี มังเกอร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน เขารู้จักกับบัฟเฟตต์ตั้งแต่ปี 1959 แล้วได้แลกเปลี่ยนไอเดียการลงทุนกันเรื่อยมา ก่อนที่บัฟเฟตต์จะเริ่มซื้อหุ้น Berkshire Hathaway ในปี 1962 แล้วเข้าควบคุมอำนาจบริหารในปี 1965

มังเกอร์เข้าร่วมงานเป็นผู้ช่วยบัฟเฟตต์ในตำแหน่งรองประธานที่ Berkshire Hathaway ในปี 1978 และอยู่ในตำแหน่งนั้นมาจนวันสุดท้ายของชีวิต 

นอกจากเป็นรองประธาน Berkshire Hathaway แล้ว มังเกอร์เป็นทนายความด้านอสังหาริมทรัพย์ เป็นประธานและผู้จัดพิมพ์ของบริษัทสิ่งพิมพ์ Daily Journal Corp. เป็นกรรมการบริษัทค้าส่ง Costco เป็นผู้ใจบุญ และเป็นสถาปนิก

ในช่วงต้นปี 2023 ความมั่งคั่งของมังเกอร์อยู่ที่ประมาณ 2,300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาลสำหรับคนโดยทั่วไป แต่แน่นอนว่าน้อยกว่าความมั่งคั่งที่ไม่อาจระบุจำนวนได้แน่ชัดของบัฟเฟตต์ ซึ่งมีการประเมินไว้ที่มากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์

บัฟเฟตต์ให้เครดิตมังเกอร์ในการขยายกลยุทธ์การลงทุนของเขา ตั้งแต่กลยุทธ์การลงทุนในบริษัทที่มีปัญหาด้วยราคาต่ำ โดยหวังว่าจะได้รับผลกำไร ไปจนถึงการมุ่งเน้นลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพสูงกว่าแต่ยังมีราคาต่ำกว่าศักยภาพ 

ตัวอย่างแรกของการเปลี่ยนแปลงจากกลยุทธ์การลงทุนของมังเกอร์แสดงให้เห็นในปี 1972 ด้วยความสามารถของมังเกอร์ที่โน้มน้าวให้บัฟเฟตต์ลงนามให้ Berkshire ซื้อ See’s Candies ในราคา 25 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าผู้ผลิตขนมในแคลิฟอร์เนียรายนี้จะมีรายได้ก่อนหักภาษีต่อปีเพียงประมาณ 4 ล้านดอลลาร์เท่านั้น แต่นับตั้งแต่นั้นมาบริษัทนี้ก็สร้างยอดขายให้กับ Berkshire มากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ 

“เขาทำให้ผมเลิกสนใจการซื้อบริษัทธรรมดา ๆ ในราคาที่ถูกมาก โดยรู้ว่ามีกำไรอยู่บ้างเล็กน้อย และมองหาธุรกิจที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ ที่เราสามารถซื้อได้ในราคายุติธรรม” บัฟเฟตต์บอกกับซีเอ็นบีซี (CNBC) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2016 

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ประชุมผู้พือหุ้น 2023
วอร์เรน บัฟเฟตต์ และชาร์ลี มังเกอร์ ในการประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway (ภาพจากวิดีโอ CNBC)


ในการประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway ประจำปี 2023 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2023 ซึ่งตรงกับช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของคิงชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร คุณปู่บัฟเฟตต์เริ่มต้นการพูดคุยกับนักลงทุนโดยพูดล้อเล่นไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอังกฤษด้วยว่า Berkshire Hathaway ก็มี “คิงชาร์ลส์” เป็นของตัวเอง ซึ่งหมายถึง ชาร์ลี มังเกอร์ นั่นเอง

ในการประชุมผู้ถือหุ้นวันนั้น มังเกอร์ ซึ่งขึ้นเวทีนั่งข้างบัฟเฟตต์บอกกับนักลงทุนว่า บางทีการกระจายความเสี่ยงก็นำมาซึ่งความเสี่ยงเสียเอง โดยมังเกอร์กล่าวว่า การกระจายการลงทุนกลายเป็นกฎมาตรฐานในการลงทุนเพื่อช่วยลดความเสี่ยงและสร้างพอร์ตโฟลิโอที่ยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ก็มีบางอย่างที่ผู้ศึกษาด้านการลงทุนไม่ได้ให้ความสนใจมากพอ 

เขาบอกว่า บางทีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนก็เป็น “deworsification” คือ เป็นการกระจายความเสี่ยงที่ไม่ดีแล้วนำมาซึ่งความเสี่ยงเสียเอง

“สิ่งไร้สาระอย่างหนึ่งที่สอนกันในการศึกษาในมหาวิทยาลัยสมัยใหม่คือการลงทุนในหุ้นสามัญนั้นจำเป็นต้องมีการกระจายความเสี่ยงให้มากเข้าไว้”

“นั่นเป็นความคิดที่บ้า” มังเกอร์บอกว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีโอกาสที่ดีมากมายที่สามารถระบุเจาะจงได้ง่าย ๆ

นอกจากนั้น ขณะที่บัฟเฟตต์กล่าวว่า นักลงทุนเน้นคุณค่า (VI) จะมีโอกาสทำเงินเมื่อคนอื่นตัดสินใจผิดพลาด 

“สิ่งที่เปิดโอกาสให้คุณคือการที่คนอื่นทำเรื่องโง่ ๆ” 

“ใน 58 ปีที่เราบริหาร Berkshire มา ผมบอกได้เลยว่า มีคนที่ทำเรื่องโง่ ๆ เพิ่มขึ้นมาก และพวกเขาก็ทำเรื่องโง่ ๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่ด้วย” 

มังเกอร์ได้กล่าวให้แง่มุมคิดแก่นักลงทุนว่า นักลงทุนเน้นคุณค่าไม่ควรกังวลใจที่จะทำกำไรได้น้อยลง เพราะในยุคนี้มีการแข่งขันมากขึ้น แต่เขาก็กล่าวด้วยว่า ยังมีโอกาสอีกมากอยู่ในมือของคนฉลาดที่พยายามชิงไหวชิงพริบกัน 

แต่บัฟเฟตต์เสริมว่า คนพวกนั้นพยายามชิงไหวชิงพริบกันในเวทีที่นักลงทุนไม่จำเป็นต้องกระโดดเข้าไป และเขากล่าวอีกว่า โลกกำลังให้ความสนใจกับเรื่องระยะสั้นมากเกินไป

“ผมอยากเกิดในยุคนี้ และออกไปลงทุนด้วยเงินที่ไม่มากเกินไป และหวังว่าจะเปลี่ยนมันเป็นเงินจำนวนมากได้ และชาร์ลีก็เช่นกัน” บัฟเฟฟต์กล่าว ซึ่งตีความได้ว่าเขาอยากเริ่มลงทุนในยุคปัจจุบันที่การแข่งขันสูงกว่าในยุคที่เขาเริ่มต้น 

แต่มังเกอร์บอกว่า ไม่ชอบความเป็นไปได้ที่ความมั่งคั่งของตัวเองจะหดเล็กลง

บนเวทีวันนั้น ชาร์ลี มังเกอร์ แสดงความกังขาเกี่ยวกับอนาคตของปัญญาประดิษฐ์ แม้เขาจะยอมรับว่ามันจะเปลี่ยนโฉมหน้าของหลาย ๆ อุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วก็ตาม 

“เราจะได้เห็นโลกนี้มีหุ่นยนต์มากขึ้น” มังเกอร์กล่าว 

“โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยเชื่อในโฆษณาที่เกินจริงบางอย่างในศักยภาพของ AI ผมคิดว่าปัญญาแบบเดิม ๆ ก็ทำงานได้ดีทีเดียว”

ด้านวอร์เรน บัฟเฟตต์ แชร์มุมมองว่า แม้ว่าตัวเขาเองคาดหวังว่า AI จะ “เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งในโลก” แต่เขาไม่คิดว่ามันจะดีกว่าสติปัญญาของมนุษย์

ล่าสุด มังเกอร์ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซี (CNBC) เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เขากล่าวสรุปว่า เคล็ดลับความสำเร็จของ Berkshire Hathaway คือ “การหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด” และการที่เขาและบัฟเฟตต์ยังคงทำงานได้ดีในวัย 90 กว่าปี

ในอดีตเมื่อปี 2014 มังเกอร์เคยเขียนถึงปัจจัยความสำเร็จของ Berkshire Hathaway ว่า “เราบ้าน้อยกว่าคนส่วนใหญ่นิดหน่อย และโง่น้อยกว่าคนส่วนใหญ่นิดหน่อย ซึ่งนั่นช่วยเราได้จริง ๆ”