“การค้าโลก-สินทรัพย์” สั่นสะเทือน ผวา “ทรัมป์” คัมแบ็ก ปธน.

US-POLITICS-VOTE-TRUMP
Republican presidential hopeful and former US President Donald Trump gestures as he speaks during a rally in Laconia, New Hampshire, January 22, 2024. (Photo by TIMOTHY A. CLARY / AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ที่กำหนดคุณสมบัติเพียง 3 ข้อสำหรับผู้มีสิทธิลงสมัครชิงประธานาธิบดีคือ 1.เป็นพลเมืองอเมริกันโดยกำเนิด 2.เป็นผู้อยู่อาศัยในอเมริกามาเป็นเวลา 14 ปี และ 3.มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี

โดยที่ไม่มีข้อใดเลยกำหนดห้ามผู้ที่เคยถูกดำเนินคดีอาญาลงเลือกตั้ง กำลังทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ดูจะยุ่งเหยิงโกลาหล เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศตัวลงชิงตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าจะถูกดำเนินคดีอาญาหลายคดีที่ยังค้างคาอยู่ พร้อมกับมีความไม่แน่นอนรออยู่ข้างหน้าว่าสุดท้ายแล้ว ทรัมป์มีคุณสมบัติจะเป็นประธานาธิบดีหรือไม่

มีแนวโน้มสูงที่ทรัมป์จะได้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อคัดเลือกผู้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงชิงประธานาธิบดีที่รัฐไอโอวาเมื่อกลางเดือนมกราคม ผลปรากฏว่าทรัมป์ได้คะแนนทิ้งห่างคู่แข่งแบบถล่มทลาย สะท้อนว่าเขายังได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นในกลุ่มผู้สนับสนุน

หลังจากชัยชนะท่วมท้นของทรัมป์ที่รัฐไอโอวา ทำให้นักวิเคราะห์และผู้สังเกตการณ์เริ่มออกมาส่งสัญญาณเตือนว่าตลาดจำเป็นต้องเริ่มนึกถึงผลกระทบที่จะเกิดจากข้อเสนอและนโยบายของทรัมป์ หนึ่งในนั้นคือการเก็บภาษีสินค้าทั้งหมดที่นำเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐในอัตรา 10% ซึ่ง ไมเคิล เอฟรี นักกลยุทธ์ของราโบแบงก์ ชี้ว่า ข้อเสนอเก็บภาษีสินค้านำเข้าทั้งหมด 10% จะสั่นคลอนสินทรัพย์ทุกชนิด ดังนั้น จึงควรเป็นประเด็นสำคัญอันดับแรก ๆ ที่นักลงทุนควรกังวล

เอฟรีระบุว่า นักลงทุนยังนึกภาพไม่ออกว่าการเก็บภาษี 10% หมายถึงอะไร พวกเขายังไม่เข้าใจแท้จริงว่าผลกระทบรอบที่สองและสามจากการเก็บภาษี 10% คืออะไร

และสำคัญกว่านั้น พวกเขาไม่เข้าใจเลยว่าทรัมป์ไม่ได้กำลังพูดถึงแค่ภาษีศุลกากร 10% แต่กำลังพูดถึงการทำลายระบบโครงสร้างระบบของโลกทุกวิถีทาง เพียงเพื่อสร้างอุตสาหกรรมแบบนีโอแฮมิลตัน อันเป็นอุตสาหกรรมรูปแบบดั้งเดิมของสหรัฐขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการสร้างอุปสรรคหรือกำแพงระหว่างสหรัฐอเมริกากับทั้งโลก เพื่อให้สินค้ามีราคาถูกถ้าผลิตในอเมริกา และมีราคาแพงหากผลิตนอกอเมริกาและนำเข้ามาจำหน่ายในอเมริกา

“นโยบายการค้าใด ๆ ที่กลับไปสู่แบบนีโอแฮมิลตัน จะสั่นคลอนสินทรัพย์ทุกประเภท ตั้งแต่หุ้น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา พันธบัตรและอื่น ๆ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมตลาดและนักลงทุนควรเริ่มคิดถึงเรื่องนี้”

ขณะที่รายงานของ “อเมริกัน แอ็กชัน ฟอรัม” (เอเอเอฟ) เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ระบุว่า สิ่งที่จะเป็นไปได้มากที่สุดหากทรัมป์เก็บภาษีสินค้านำเข้าทุกชนิด 10% ก็คือ จะเป็นการ “บิดเบือนการค้าโลก ไม่ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมเศรษฐกิจ และส่งผลลบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจสหรัฐ”

เอเอเอฟยังประเมินว่า หากตั้งสมมุติฐานว่าคู่ค้าของสหรัฐอเมริกาตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีเช่นกัน จะทำให้จีดีพีสหรัฐลดลง 0.31% หรือคิดเป็น 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้ผู้บริโภคอเมริกันลำบากมากขึ้น และลดสวัสดิการของสหรัฐลง 1.233 แสนล้านดอลลาร์

ช่วงที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก ได้เปิดศึกการค้ากับจีนด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจีน เป็นมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเอเอเอฟประเมินว่าสร้างภาระให้กับผู้บริโภคอเมริกันเพิ่มขึ้น 1.95 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจากอเมริกาเช่นกัน ต่อมาในรัฐบาลโจ ไบเดน ก็ยังคงชื่นชอบที่จะสานต่อจุดยืนแข็งกร้าวกับจีนด้วยการคงอัตราภาษีศุลกากรที่เก็บจากสินค้าจีนไว้ตามเดิมในสมัยทรัมป์เป็นส่วนใหญ่

แดน บอร์ดแมน-เวสตัน ซีอีโอของบีอาร์ไอ เวลธ์แมเนจเมนต์ กล่าวว่า ภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจมหภาคและภูมิรัฐศาสตร์ในตอนนี้แตกต่างและท้าทายมากกว่าตอนที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรกเมื่อปี 2017 อย่างมาก นอกจากนั้นการตัดสินใจด้านนโยบายแบบเอาแน่เอานอนไม่ได้ของทรัมป์ จะเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับตลาดมากขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดไม่ชอบมากที่สุด

“ปี 2017 ตลาดชื่นชอบรัฐบาลทรัมป์ เพราะมีการลดภาษีนิติบุคคลและผ่อนคลายกฎระเบียบ อีกทั้งสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย เพราะดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ตลาดหุ้นขยับขึ้น แต่ในครั้งนี้จะแตกต่างออกไปอย่างมาก ขณะที่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งดูเหมือนสิ่งนี้จะยังไม่อยู่ในความใส่ใจของนักลงทุน”