ใจความสำคัญ “หวัง อี้” หารือ “เจก ซัลลิแวน” กับเหตุผล ทำไมเจอกันที่ “ไทย” 

หวัง อี้ เจก ซัลลิแวน
หวัง อี้ และเจก ซัลลิแวน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศจีน จัดหาโดย Xinhua)

หวัง อี้ (Wang Yi) สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านการต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน เดินทางมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 26-29 มกราคม 2024 

ขณะที่ชาวไทยกำลังสนใจเรื่องการลงนามความร่วมมือยกเว้นวีซ่าถาวรระหว่างจีนกับไทย มีข่าวใหญ่ปรากฏขึ้นมาจากการเปิดเผยของโฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวว่า เจก ซัลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา นัดพบปะหารือกับหวัง อี้ ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 26-27 มกราคม 

การประชุมนี้ผ่านพ้นไปโดยกินเวลาในสองวันรวม 12 ชั่วโมง ซึ่งทั้งสองฝ่ายระบุว่าเป็นการประชุมที่มีลักษณะเป็นการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ที่ “ตรงไปตรงมา มีสาระสำคัญ และสร้างสรรค์” เป็นการดำเนินการตามฉันทามติที่ผู้นำของทั้งสองประเทศบรรลุร่วมกันในการประชุมสุดยอดที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 เพื่อฟื้นการเจรจาทางการทูต

ตามเอกสารเผยแพร่ของทำเนียบขาว การประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการรักษาช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้าง และบริหารจัดการการแข่งขันอย่างมีความรับผิดชอบ ตามที่ผู้นำของทั้งสองประเทศกำหนด โดยทั้งสองฝ่ายได้หารืออย่างตรงไปตรงมา มีสาระสำคัญ และสร้างสรรค์ในประเด็นระดับโลกและระดับภูมิภาค รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับสงครามของรัสเซียกับยูเครน ตะวันออกกลาง เกาหลีเหนือ ทะเลจีนใต้ และเมียนมา 

เจก ซัลลิแวน เน้นย้ำว่า ถึงแม้สหรัฐและจีนจะแข่งขันกัน แต่ทั้งสองประเทศจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง หรือการเผชิญหน้ากัน ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการต่อไปในด้านต่าง ๆ ของความร่วมมือที่ผู้นำได้หารือเมื่อสองเดือนก่อน 

ทั้งสองรับทราบถึงความคืบหน้าล่าสุดในการกลับมาติดต่อสื่อสารระหว่างกองทัพของสองประเทศอีกครั้ง และกล่าวถึงความสำคัญของการรักษาช่องทางการสื่อสารเหล่านี้ อีกทั้งยังได้หารือถึงขั้นตอนต่อไปในการจัดการเจรจาระหว่างสหรัฐกับจีนเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในฤดูใบไม้ผลิที่จะมาถึงนี้ (มีนาคมถึงพฤษภาคม) 

ในการหารือประเด็นไต้หวัน หวังและซัลลิแวนเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพทั่วช่องแคบไต้หวัน 

ทำเนียบขาวบอกอีกว่า ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะรักษาช่องทางการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ และการดำเนินการทางการทูตระดับสูง และการปรึกษาหารือเพิ่มเติมในด้านที่มีความสำคัญ รวมถึงการโทรศัพท์สายตรงระหว่างประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน 

นอกจากนั้น มีข่าวที่อ้างแหล่งข่าวเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสที่ไม่เปิดเผยชื่อว่า เจก ซัลลิแวน ก็ได้ใช้โอกาสนี้กดดันจีนให้ใช้อิทธิพลของตนกับอิหร่าน เพื่อบรรเทาความตึงเครียดในตะวันออกกลางด้วย โดยซัลลิแวนเน้นย้ำถึงผลกระทบจากการโจมตีของกลุ่มฮูตีที่บั่นทอนเสถียรภาพการค้าระหว่างประเทศ

หวัง อี้ เจก ซัลลิแวน
หวัง อี้ และเจก ซัลลิแวน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศจีน จัดหาโดย Xinhua)

ส่วนฝั่งจีน ตามการรายงานของ โกลบอล ไทม์ส (Global Times) สื่อที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นเจ้าของคำกล่าวของ หวัง อี้ ค่อนข้างตึงเครียด เหมือนกับหลาย ๆ ครั้งที่เคยมีการรายงานคำล่าวของเขาในการเจอกับเจ้าหน้าที่สหรัฐครั้งก่อน ๆ หน้านี้ 

หวัง อี้ กล่าวว่า ปี 2024 เป็นปีครบรอบ 45 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ทั้งสองฝ่ายควรใช้โอกาสนี้เพื่อสรุปประสบการณ์และนำบทเรียนในอดีตมาใช้ เพื่อปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมกัน แทนที่จะวางตัวให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต่ำต้อยกว่า ควรสร้างความเห็นพ้องและจุดยืนร่วมกัน แทนที่จะเน้นย้ำความแตกต่าง และควรให้ความเคารพซึ่งกันและกัน แทนที่จะบ่อนทำลายผลประโยชน์หลักของกันและกัน 

ในระหว่างคุยประเด็นไต้หวัน หวัง อี้ เน้นย้ำว่า ปัญหาไต้หวันเป็นเรื่องภายในของจีน และการเลือกตั้งใน “เขตปกครองตนเองไต้หวัน” (Taiwan Region) ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงพื้นฐานที่ว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนได้ “เอกราชของไต้หวัน” ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดต่อสันติภาพและเสถียรภาพข้ามช่องแคบ และเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดต่อความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ ดังนั้น ฝ่ายสหรัฐจะต้องปฏิบัติตามหลักการจีนเดียวและแถลงการณ์ร่วมจีน-สหรัฐทั้งสามฉบับ ซึ่งสหรัฐได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะไม่สนับสนุน “เอกราชของไต้หวัน” และจะสนับสนุนการรวมประเทศอย่างสันติของจีน 

โพลิติโก (Politico) ตั้งข้อสังเกตว่า ในข้อมูลสรุปการประชุมของจีน ประเด็น “ไต้หวัน” เป็นประเด็นแรกที่จีนกล่าวถึง แต่ในข้อมูลของฝั่งสหรัฐ ประเด็นไต้หวันอยู่ท้าย ๆ ตามหลังประเด็นระดับโลกและระดับภูมิภาค

และเมื่อเทียบข้อมูลสรุปของสองประเทศ เวอร์ชั่นของอเมริกามองโลกในแง่ดีอย่างน่าทึ่ง โดยไม่มีการกล่าวถึงปัญหาอย่างเจาะจงในข้อมูลอย่างเป็นทางการ

ที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าเนื้อหาสาระของการประชุมระหว่างสองผู้มีบทบาทในฝ่ายบริหารของจีนกับสหรัฐ คือเหตุผลว่าทำไมการประชุมครั้งนี้จึงเกิดขึ้นที่ประเทศไทย 

หากย้อนกลับไปดูการเจอกันของหวัง อี้ กับเจก ซัลลิแวน ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมและกันยายน 2023 หวัง อี้ และ เจก ซัลลิแวน จัดการประชุมที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และที่ประเทศมอลตา ตามลำดับ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า ทั้งออสเตรียและมอลตาเป็นประเทศในยุโรปที่ “เป็นกลาง” ดังนั้น น่าจะหมายความว่าจีนกับสหรัฐเลือกที่จะประชุมกันในพื้นที่ที่เป็นกลาง ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบ 

สำหรับประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญมองว่า แม้ว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ “เป็นกลาง” ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ แต่ไทยก็เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รักษาความสัมพันธ์ได้อย่างดีและมีเสถียรภาพกับทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การเลือกประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกลางเป็นสถานที่จัดการประชุม เป็นการส่งสัญญาณที่สำคัญว่าจีนและสหรัฐมีหลายประเด็นที่จำเป็นต้องหารือเกี่ยวกับกิจการในเอเชีย-แปซิฟิก และแม้แต่ประเด็นระดับโลก