อังกฤษหั่น “สวัสดิการบุตร” คนรุ่นใหม่คิดหนัก…มีลูกมากยากนาน

เป็นข่าวครึกโครมทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อดัชเชสแคเทอรีน แห่งราชวงศ์วินเซอร์ ได้ให้ประสูติกาลเจ้าชายน้อย ซึ่งเป็นโอรสพระองค์ที่ 3 และรัชทายาทบัลลังก์อังกฤษลำดับที่ 5 ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และหลังพักฟื้นราวเจ็ดชั่วโมง ดัชเชสแคเทอรีนก็ทรงออกมาพบปะกับพสกนิกรหน้าโรงพยาบาลเซนต์แมรีส์ เคียงข้าง พรินซ์วิลเลียม พระสวามี โดยมีเจ้าชายน้อยอยู่ในอ้อมอก

เป็นภาพที่น่าประทับใจ แต่ถ้ามองลึกลงไป ก็ถูกมองว่าสะท้อนถึง “ความเหลื่อมล้ำ” และ “ความเป็นไปไม่ได้” บางอย่าง ในสหราชอาณาจักร

เป็นเรื่องง่ายสำหรับสมาชิกราชวงศ์ ที่จะอุ้มชูพระโอรสและพระธิดา3 พระองค์ ให้เติบโตขึ้นในสังคมคุณภาพและไม่ขาดเหลือ เพราะดยุกและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ จะได้รับเงินเดือนในการปฏิบัติภารกิจอย่างเป็นทางการจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์พระบิดา นับล้าน ๆ ปอนด์ และมีที่พักอาศัยสุดหรู ณเคนซิงตัน พาเลซ

แต่สำหรับคนอังกฤษทั่วไปนั้น เป็นเรื่องยาก หรือพูดจริง ๆ คือ “แทบเป็นไปไม่ได้” เลย โดยเฉพาะชาวอังกฤษเจเนอเรชั่นมิลเลนเนียล ที่เกิดระหว่างปี 1980s-1990s และกำลังอยู่ในวัยสร้างครอบครัวในปัจจุบัน ที่เผชิญหน้าปัญหาการขึ้นค่าแรงล่าช้า และดูเหมือนจะได้รับเงินเดือนน้อยกว่าคนในเจเนอเรชั่น X เพราะยุคมิลเลนเนียล คือยุคที่ต้องเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกครั้งสำคัญ ช่วงปลาย 2000s

ซีเอ็นเอ็นรายงานข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ โดยอ้างผลการวิจัยจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (CEBR) ที่ระบุว่า ในประเทศอังกฤษ การเลี้ยงเด็กสักคนให้เติบโตขึ้นมาถึงอายุ 21 ปี พอที่พวกเขาจะหารายได้ได้เองอย่างเต็มตัวผู้ปกครองจะต้องใช้เงินมากถึง 232,000 ปอนด์สเตอร์ลิง หรือราว 10,200,000 บาท แต่ถ้าเจาะลึกพื้นที่ในลอนดอน ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นไปอีก อยู่ที่ 254,000 ปอนด์ หรือ 11 ล้านบาท

นั่นหมายความว่า การเลี้ยงเด็กสามคนจะมีค่าใช้จ่ายคิดเป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งราคานี้ไม่รวมค่าเล่าเรียนในโรงเรียนเอกชน หรือค่าธรรมเนียมการเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าบวกไปค่าใช้จ่ายต่อเด็กแต่ละคนจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 6 ล้านบาท

ขณะที่ค่าเฉลี่ยเงินเดือนชาวอังกฤษหนึ่งครัวเรือน ข้อมูลจากสำนักสถิติสหราชอาณาจักร ระบุว่า อยู่ที่ราว 1,200,000 บาท ต่อปีเท่านั้น หลังหักภาษีเงินได้ สวนทางกับราคาซื้อขายบ้านในลอนดอน ก็พุ่งกระฉูดเกือบ20 ล้านปอนด์/หลัง โดยผลสำรวจ CEBR ในปี 2014 ชี้ว่า 21% ของคู่รัก ตัดสินใจจะเลื่อนการวางแผนมีบุตรออกไปก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูที่สูงขึ้น

นอกจากภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ครอบครัวส่วนใหญ่ไม่อยากมีลูกแล้ว อาจเป็นเพราะ “ผู้หญิง” ในฐานะต้องทำหน้าที่แม่ มีเจตจำนงด้านอื่นในการใช้ชีวิตมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้หญิงอังกฤษส่วนใหญ่มีลูกน้อยลง เป็นเพราะพวกเธอได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น มีหน้าที่การงาน มีเป้าหมายในชีวิตมากกว่าแค่เป็นแม่บ้านคอยเลี้ยงลูก

ไม่น่าแปลกใจที่ระยะหลัง ผู้หญิงอังกฤษมีลูกน้อยลง อย่างผลสำรวจตัวเลขล่าสุด จากสำนักสถิติสหราชอาณาจักร ระบุว่าผู้หญิงอังกฤษ 1 คน มีลูกเพียง 1.8 คนเท่านั้น แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในช่วงปี 1960s ในยุคเบบี้บูมเมอร์ พวกเธอมีลูกมากถึง 3 คน

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลล่าสุด โดยเฉพาะการตัดทอนสวัสดิการรัฐที่จะบังคับใช้ในปี 2020 น่าจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้ประชาชนกว่าล้านครัวเรือนไม่อยากจะมีลูกมากกว่า 2 คนอีก

เนื่องจากปี 2017 ที่ผ่านมา รัฐบาลกรุงลอนดอนประกาศจะลดสวัสดิการจำนวนมาก และเป็นสวัสดิการที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตโดยตรง โดยเฉพาะสวัสดิการสำหรับการสร้างครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการตัดงบฯช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูลูกปีละ 53,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลให้การจ่ายเงินช่วยเหลือบุตรจะเหลือเพียงแค่ 2 คนแรกของแต่ละครอบครัว ตกปีละ 120,000 บาท/คน นอกจากนี้ เงินค่าเลี้ยงดูพิเศษปีละ 25,000 บาท/คน ก็จะถูกยุติโครงการลงด้วย นั่นหมายความว่าจะไม่มีเงินก้อนนี้อีกต่อไป

“กฎหมายดังกล่าว สามารถตีความได้ว่า สังคมไม่อยากให้คุณมีลูกมากกว่า 2 คน หากคุณยากจน” Donald Hirsch ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านนโยบายสังคม มหาวิทยาลัย Loughborough กล่าว ทั้งระบุว่า คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าการมีลูกคนที่ 2 หรือ 3 ค่าใช้จ่ายน่าจะน้อยลงกว่าคนแรก แต่จริง ๆ แล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการซื้อรถหรือบ้านใหม่ ที่ใหญ่กว่าเดิมพอจะอยู่พร้อมหน้ากันได้ทั้งครอบครัว