อังกฤษนำ “แผ่นเสียง” เข้าคำนวน “เงินเฟ้อ” ยืนยันการกลับมาที่ไม่ใช่แค่เทรนด์ 

อังกฤษ แผ่นเสียง เงินเฟ้อ

“แผ่นเสียง” (Vinyl) ได้หายจากตลาดดนตรีไปแล้วช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งกินเวลาหลายสิบปี แต่ราวสิบปีมานี้ แผ่นเสียงกลับมาเป็นที่นิยมในหมู่นักฟังเพลงทั่วโลกอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดดนตรีใหญ่ ๆ อย่างสหราชอาณาจักร 

ต้องยอมรับว่าในช่วงปีแรก ๆ ที่แผ่นเสียงกลับมาเป็นที่นิยมนั้น มันก็ถูกตั้งคำถามว่าจะเป็นแค่เทรนด์ชั่วครู่ชั่วยาม หรือจะกลับมาอยู่ในไลฟ์สไตล์ของคนฟังเพลงต่อไปอย่างยั่งยืน ซึ่งเวลาที่ผ่านมาหลายปีก็น่าจะพิสูจน์ให้เห็นประมาณหนึ่งแล้วว่า การกลับมาของแผ่นเสียงนั้นไม่ใช่แค่เทรนด์สั้น ๆ แม้ว่ามันจะไม่ใช่ตัวเลือกหลักในการฟังเพลงเหมือนในอดีต แต่มันก็เป็นหนึ่ง “ทางเลือก” ที่มีตลาดขนาดใหญ่มากพอที่จะอยู่ต่อไปได้เรื่อย ๆ 

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวน่าสนใจที่ยืนยันได้ดี ว่าแผ่นเสียงไม่ได้มาเล่น ๆ แต่เป็นสินค้าที่อยู่ในลิสต์ความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ก็คือการที่ในสหราชอาณาจักร หรืออังกฤษมีการนำ “แผ่นเสียง” เข้าไปอยู่ในรายการตะกร้าสินค้าสำหรับคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่เป็นมาตรวัด “อัตราเงินเฟ้อ” 

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) ของสหราชอาณาจักร เพิ่งเปิดเผยในวันที่ 11 มีนาคม 2024 นี้ว่า แผ่นเสียงจะถูกนำเข้าไปเป็น 1 ใน 744 รายการสินค้าในตะกร้าสินค้าสำหรับคำนวณเงินเฟ้อ จากภาพรวมที่ ONS เพิ่มสินค้า 16 รายการเข้าสู่ตะกร้า และลบ 15 รายการออกจากตะกร้า 

แผ่นเสียงอยู่ในตะกร้าสินค้าคำนวณเงินเฟ้อครั้งล่าสุดในปี 1992 แล้วก็ถูกนำออกจากตะกร้าไปตามความนิยมที่เสื่อมถอยลงไปในยุคสมัยนั้น การกลับมาครั้งนี้หมายความว่า แผ่นเสียงได้กลับเข้าสู่ตะกร้าหลังจากที่หลุดออกไป 32 ปี ! 

ONS ให้เหตุผลที่นำแผ่นเสียงกลับเข้าคำนวณอัตราเงินเฟ้อว่า การฟื้นตัวของความนิยมในแผ่นเสียงทำให้มันเป็นสินค้าที่ควรได้กลับเข้าสู่การคำนวณเงินเฟ้ออีกครั้ง 

“บ่อยครั้งตะกร้าสินค้าสะท้อนให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ แต่การกลับมาของแผ่นเสียงแสดงให้เห็นว่าการฟื้นฟูวัฒนธรรมส่งผลต่อการใช้จ่ายของเราอย่างไร” แมตต์ คอร์เดอร์ (Matt Corder) นักสถิติของ ONS กล่าว

ตามการรายงานของเดอะการ์เดียน (The Guardian) อ้างอิงข้อมูลจาก British Phonographic Industry (BPI) ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนอุตสาหกรรมสิ่งบันทึกเสียงของอังกฤษ แผ่นเสียงไวนิลทำยอดขายในสหราชอาณาจักรได้ถึง 5.9 ล้านแผ่นในปี 2023 ซึ่งเป็นยอดขายสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1990

อัลบั้มที่ผลักดันยอดขายแผ่นเสียงมากที่สุดในปี 2023 คือ “1989” (Taylor’s Version) ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ซึ่งเป็นแผ่นเสียงที่มียอดขายสูงสุดประจำปี ขณะที่อัลบั้ม “Hackney Diamonds” ของ โรลลิง สโตนส์ (Rolling Stones) เป็นแผ่นเสียงของศิลปินชาวอังกฤษที่มียอดขายสูงสุดประจำปี 

ไม่ใช่แค่แผ่นเสียงเท่านั้นที่กลับมาเป็นที่นิยม แต่แผ่นซีดีก็เริ่มกลับมาเป็นที่นิยมมากขึ้นเช่นกัน หรือแม้แต่เทปคาสเซตก็ด้วย กล่าวคือโดยภาพรวม ชาวอังกฤษกลับมานิยมฟังเพลงในรูปแบบที่ “จับต้องได้” มากขึ้น 

“เป็นเรื่องดีที่ได้เห็น ONS นับรวมแผ่นเสียงอีกครั้งในการวัดว่าผู้คนกำลังซื้ออะไรอยู่ทั่วสหราชอาณาจักร” โจ ทวิสต์ (Jo Twist) ผู้บริหารระดับสูงของ BPI กล่าว 

ทวิสต์กล่าวถึงการกลับมาเป็นที่นิยมของซีดีด้วยว่า ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของซีดีในหมู่ผู้ซื้ออายุน้อย ๆ หมายความว่าซีดีก็อาจถูกนำเข้าสู่ตะกร้าอัตราสินค้าคำนวณเงินเฟ้อด้วยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า 

เธอกล่าวอีกว่า แผ่นเสียงซึ่งเป็นที่โปรดปรานของคนฟังเพลงมีดีมานด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเกือบสองทศวรรษแล้ว รวมถึงในกลุ่มผู้บริโภคอายุน้อย ๆ ด้วย และรูปแบบการฟังเพลงก็มีความหลากหลายมากขึ้นในกลุ่มคนที่ฟังเพลงจากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งทุกวัน แต่ก็ยังรักที่จะเป็นเจ้าของเพลงโปรดในรูปที่จับต้องได้ด้วย 

ทวิสต์บอกด้วยว่า การกลับมาเป็นที่นิยมของแผ่นเสียงช่วยให้ร้านขายแผ่นเสียงอิสระในสหราชอาณาจักรอยู่รอด และทำให้มีร้านใหม่ ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก เมื่อปี 2014 ร้านอิสระเหล่านี้มีอยู่จำนวน 339 ร้าน แต่ล่าสุดในปี 2023 มันเพิ่มขึ้นเป็น 461 ร้านแล้ว