“กรีซ” กับ “ยูโรโซน” พ้นพงหนามแต่ยังไม่พ้นพงหนี้

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

วันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา คือวันที่มีความหมายไม่น้อยต่อบรรดาประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ที่ใช้เงินสกุลยูโรหรือที่เรียกกันว่า ยูโรโซน เพราะวันนั้นเป็นวันสิ้นสุดโครงการปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือทางการเงินอย่างเป็นทางการแก่กรีซ สมาชิกยูโรโซนที่ประสบวิกฤตหนักหนาสาหัสที่สุด จะเรียกว่าเป็นวันที่วิกฤตการณ์ทางการเงินในยูโรโซนสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการก็ว่าได้

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามี 5 ชาติยูโรโซนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากอียู คือ ไอร์แลนด์, โปรตุเกส, สเปน ไซปรัส และกรีซ

ในช่วงที่เกิดวิกฤตหนัก ๆ นั้น ถึงกับเกิดข้อกังขากันขึ้นมาอย่างจริงจังว่า ยูโรโซนและเงินสกุลยูโรจะไปไหวไหม ? หรือสุดท้ายแล้วจะเหลือสมาชิกยูโรโซนสักกี่ประเทศกันแน่

10 ปีที่ผ่านมาจึงเป็น 10 ปีที่หนักหนาสาหัสสำหรับทั้งประเทศที่จำเป็นต้องรับความช่วยเหลือ และสำหรับยูโรโซนโดยรวมเช่นเดียวกัน แต่ในที่สุดทั้งหมดก็ฝ่าฟันจนอยู่รอดกันมาได้ครบถ้วนจนถึงเวลานี้ วันที่เศรษฐกิจของยูโรโซนกำลังขยายตัว บางประเทศที่เคยอยู่ในวิกฤตกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งทีเดียว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ไอร์แลนด์ ที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ระดับสูงกว่าระดับก่อนหน้าเกิดวิกฤตถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

แต่ไม่ใช่ในกรณีของกรีซ กรีซเป็นบททดสอบยูโรโซนที่หนักหนาสาหัสที่สุด อื้อฉาวที่สุด ถกเถียงกันมากที่สุด เป็นกรณีที่โครงการช่วยเหลือของอียูที่มีเงื่อนไขต่าง ๆ ผูกติดมาด้วยถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด

นักวิชาการบางคนยังคงยืนกรานอยู่จนถึงเวลานี้ว่า เงื่อนไขบีบบังคับต่อกรีซของอียูนั้น “ช่วยเถือ” เศรษฐกิจกรีซมากกว่า “ช่วยเหลือ” คือทำให้ปัญหาเศรฐกิจกรีซหนักหน่วงมากขึ้นด้วยซ้ำไป

ตอนที่วิกฤตพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดนั้น เศรษฐกิจของกรีซหดตัวลงมากถึง 28 เปอร์เซ็นต์ อัตราว่างงานพุ่งขึ้นสูงกว่า 27 เปอร์เซ็นต์ เงื่อนไขบีบรัดจากอียูที่เรียกกันว่า มาตรการยาขมนั้นส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทั้งบริการของภาครัฐและมาตรฐานการครองชีพของคนกรีกทั้งประเทศอาทิ เงินเดือน หรือเงินบำนาญ ถูกปรับลดลงมากกว่า 1 ใน 3 ในเวลาเดียวกับที่ภาษีก็เรียกเก็บในอัตราที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของเงินช่วยเหลือ

แต่หลังจากถกกันอย่างหนัก แม้แต่รัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองนิยมซ้ายก็ยังยอมรับว่าเศรษฐกิจและการเงินของกรีซจำเป็นต้องปฏิรูป

ในเวลานี้ เศรษฐกิจกรีซเริ่มกลับมาขยายตัวใหม่อีกครั้ง แม้จะยังต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤตอยู่มากก็ตามที อัตราว่างงานเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาลดลงต่ำกว่าระดับ 20 เปอร์เซ็นต์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2011

บประมาณของรัฐ หากไม่นับส่วนที่ต้องกันไว้สำหรับใช้หนี้เกินดุลในระดับราว 4 เปอร์เซ็นต์ต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปี นับตั้งแต่ปี 2016

แม้กรีซจะยังคงต้องใช้หนี้ต่อไปอีกหลายสิบปี แต่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องรับเงินช่วยเหลืออีกต่อไปแล้ว สามารถนำเงินจากภาษีอากรมาใช้เป็นงบประมาณ หรือไม่ก็สามารถออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนจากตลาดการเงินได้อีกครั้ง เมื่อภาพรวมเครดิตของประเทศกลับมาเป็นบวก และได้รับการคาดหมายว่าอาจสามารถหลุดจากระดับ “ไม่เหมาะกับการลงทุน” หรือระดับ “ขยะ” ในอีกไม่ช้าไม่นาน

จึงอาจเรียกได้ว่า กรีซสามารถนำตัวเองพ้นพงหนามมาได้แล้ว หลงเหลือแต่หนี้มหาศาลที่ต้องชดใช้กันต่อเนื่องต่อไปเท่านั้น

ทำนองเดียวกันกับยูโรโซนโดยรวมที่แม้จะมีนักวิชาการบางคนชี้ว่า การอยู่รอดจากภาวะวิกฤตเช่นนี้มาได้ถือว่าผ่านด่านทดสอบที่สำคัญมาแล้วก็ตามที แต่ก็ยังมีข้อกังขากันอีกมากว่า ยูโรโซน “ปฏิรูป” ตัวเองจนสามารถป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนเช่นที่ผ่านมาได้อีกในอนาคตหรือไม่

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ใน 5 ประเทศที่ต้องขอรับความช่วยเหลือนั้น แม้สาเหตุจะแตกต่างกันออกไป แต่ผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดปัญหาจริง ๆ เป็นเช่นเดียวกัน นั่นคือเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาวะตึงตัวทางการเงินของรัฐบาลกับภาวะตึงตัวทางการเงินในระบบธนาคารด้วยกันทั้งสิ้น

บางกรณีอย่างเช่นในสเปนและไอร์แลนด์ เกิดจากปัญหาฟองสบู่ในภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ที่ทำให้เกิดปัญหากับระบบธนาคาร จนกลายเป็นปัญหาของรัฐ ตรงกันข้ามกับกรณีของกรีซที่รัฐบาลจ่ายเงินเกินตัวไปมากจนกลายเป็นวิกฤตในระบบธนาคารที่แบกรับหนี้ส่วนใหญ่ของรัฐบาลเอาไว้

ยูโรโซนสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ แต่การป้องกันเล่า ?

โครงการปฏิรูปเพื่อป้องกันหรือทำให้โอกาสที่จะเกิดวิกฤตจนเดือดร้อนกันหนักมากเหมือนเช่นที่ผ่านมาลดน้อยลง หรือเมื่อเกิดขึ้นสามัญชนทั่วไปในประเทศยูโรโซนจะไม่เดือนร้อน

สูญเสียสาหัสกันอีกครั้ง ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในโปรเจ็กต์ที่เรียกกันว่า “แบงกิ้งยูเนี่ยน” ซึ่งนำเสนอกันเมื่อปี 2015 นั้นหลายอย่างรุดหน้าไปก็จริง แต่อีกหลายอย่างยังคงเป็นเพียงข้อเสนออยู่เท่านั้น

ในขณะที่ยูโรโซนยังมีประเทศอย่าง “อิตาลี” ซึ่งไม่ได้ขอรับความช่วยเหลือ แต่ยังถูลู่ถูกังแบกหนี้มหาศาลต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้หนี้สินของอิตาลีมหาศาลชนิดที่นักวิชาการเชื่อว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาจริง แม้แต่ยูโรโซนเองยังไม่มีปัญญาอุ้มด้วยซ้ำไป