เมื่อ ‘สงครามการค้า’ ลุกลามโลกก็ต้องพร้อมรับมือ

ชีพจรเศรษฐกิจโลก

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

สถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ในห้วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน ตกอยู่ในสภาพที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเป็น “การลุกลามอย่างมีนัยสำคัญ”

ประเดิมต้นสัปดาห์ขึ้นมา มาตรการทางพิกัดอัตราภาษีศุลกากรของสหรัฐที่ประกาศไว้ว่า จะขึ้นภาษีต่อสินค้าที่นำเข้าจากจีนรวมทั้งหมดเป็นมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ ก็เริ่มมีผลบังคับใช้ โดยเริ่มจาก 10 เปอร์เซ็นต์ในเวลานี้ และจะเพิ่มพรวดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ทันทีเมื่อขึ้นปีใหม่

ทำให้สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนรวมทั้งหมดแล้ว คิดเป็นมูลค่าสินค้าราว 250,000 ล้านดอลลาร์ อัตราภาษีใหม่ที่เรียกเก็บเพิ่มจากเดิมมีตั้งแต่ 10 เปอร์เซ็นต์ เรื่อยไปจนถึง 25 เปอร์เซ็นต์ รวมความแล้วเท่ากับว่า ราวครึ่งหนึ่งของสินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากจีน ถูกขึ้นภาษีนำเข้าไปแล้ว

ในทางกลับกัน จีนซึ่งเดิมเคยตอบโต้การขึ้นภาษีระลอกแรกของสหรัฐ ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐ 25 เปอร์เซ็นต์ต่อสินค้ารวมมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ ก็ประกาศตอบโต้มาตรการของสหรัฐอีกครั้ง ด้วยการขึ้นภาษี 5-10 เปอร์เซ็นต์ต่อสินค้าอีกหลายรายการ รวมมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์

ภายใต้เงื่อนไขว่า สามารถปรับเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ในทันทีที่กำแพงภาษีของสหรัฐเพิ่มเป็น 25 เปอร์เซ็นต์
ส่วนปริมาณสินค้าที่จีนขึ้นกำแพงภาษีในรอบใหม่นี้ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ของสินค้าทั้งหมดที่
นำเข้าจากสหรัฐ

อีกเงื่อนปมที่น่าสนใจก็คือ การขึ้นภาษีตอบโต้กันระลอกใหม่นี้ มีขึ้นหลังจากที่จีนประกาศเลิกล้มแผนการเดินทางไปเจรจาของคณะเจรจาทางการค้าที่นำโดย รองนายกรัฐมนตรี หลิว เหอ เมื่อวันที่ 22 กันยายน เหตุหนึ่งนั้นเป็นการ “ประท้วง” ต่อการแซงก์ชั่นกระทรวงกลาโหมของจีน ที่ไปสั่งซื้อเครื่องบินรบกับระบบป้องกันภัยทางอากาศจากรัสเซีย รวมทั้งเห็นท่าทีของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมาแล้วอนุมานได้ว่า เจรจาไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะ “ไม่จริงใจ”

รัฐบาลจีนเผยแพร่ “สมุดปกขาว” เพื่อแจงปมความขัดแย้ง, จุดยืนของจีน และท่าทีที่จีนเห็นว่าเป็นการ
“ขู่กรรโชก” ด้วยมาตรการทางการค้าของสหรัฐอเมริกาละเอียดยิบ

ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ถูกนักวิเคราะห์ตีความว่าต่างฝ่ายต่างยังคงยึดกุมจุดยืนของตัวเอง และมุ่งมั่นจนถึงที่สุดที่จะเอาชนะสงครามการค้านี้

นักวิเคราะห์หลายราย รวมทั้ง “ร็อบ คอร์เนลล์” หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียของไอเอ็นจี เชื่อว่า ตลอดทั้งปีนี้อาจไม่มีการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนอีกต่อไปแล้ว อย่างน้อยก็จะไม่มีการเจรจาจนกว่าผลการเลือกตั้งกลางวาระของสหรัฐอเมริกาจะสิ้นสุดลง

พูดได้ว่า แทบทุกคนเล็งเห็นตรงกันว่า สงครามการค้าสหรัฐ-จีนหนนี้ ยังมองไม่เห็นวี่แววว่าจะยุติลงได้อย่างไร

นั่นทำให้ทุกคนหันมามุ่งความสนใจไปที่สินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากจีนที่หลงเหลืออยู่อีกราวครึ่งหนึ่ง มูลค่ารวม 267,000 ล้านดอลลาร์ ว่าจะตกเป็นเป้าขึ้นภาษีอีกหรือไม่ เพราะ โดนัลด์ ทรัมป์ ขู่แล้วขู่อีกว่า หากจำเป็นก็อาจต้องขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมด

“เราไม่อยากทำ แต่เราอาจไม่มีทางเลือก” ทรัมป์ประกาศเอาไว้อย่างนั้นที่ทำเนียบขาว เมื่อ 23 กันยายนที่ผ่านมา

เมื่อมองกรณีนี้จากมุมของจีนจะเห็นว่า สินค้าอเมริกันที่จีนเลือกเป็นเป้าขึ้นภาษีนั้นแตกต่างกันออกไป ระลอกแรกสุดเป็น ถั่วเหลือง กับรถยนต์ ที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา

ในระลอกใหม่นี้เป้าหมายขยายวงกว้างมากขึ้น ครอบคลุมไปถึงพลังงานอย่าง ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และ “สินค้าทุน” ซึ่งส่งผลให้กิจการในอุตสาหกรรมของจีนเริ่มได้รับผลกระทบ

ที่น่าสนใจก็คือ พ้นจากระลอกที่ 2 นี้แล้ว จีนหลงเหลือรายการสินค้าจากสหรัฐให้ขึ้นภาษีอีกน้อยมาก หลงเหลือเพียงส่วนของสินค้า ซึ่งจีนเองไม่สามารถแข่งขันกับชาติตะวันตกได้อยู่ในเวลานี้ อาทิ เครื่องบินพาณิชย์, คอมพิวเตอร์ชิป และเวชภัณฑ์

น่าจับตาว่าหากสงครามการค้าลุกลามต่อไป สินค้าในกลุ่มหลังสุดนี้จะลงเอยอย่างไร ตัวอย่าง เช่น โบอิ้ง ซึ่งกำลังได้ปลื้มอยู่กับการขยายตัวของตลาดจีน จะเสียตลาดให้กับแอร์บัสหรือไม่

ที่สำคัญที่สุดก็คือ จีนจะเลือกวิธีการอื่น ๆ มาตอบโต้สหรัฐหรือไม่ เช่น การใช้วิธีห้ามส่งสินค้าบางรายการที่สหรัฐต้องการมาก ๆ หรือชะลอการส่งออกสินค้าเหล่านั้น เพื่อสร้างความเสียหายให้กับบริษัทอเมริกัน หรืออาจเล่นงานกิจการอเมริกันในจีน รวมทั้งจะหันมาใช้มาตรการค่าเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกของตัวเอง ด้วยการกดค่าเงินหยวนให้อ่อนลงมาก ๆ หรือไม่

นั่นคือสิ่งที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพิ่งเตือนไว้ก่อนหน้านี้ว่า ถึงจุดหนึ่งสงครามการค้าไม่เพียงทำให้เศรษฐกิจจีนและสหรัฐชะงักงันเท่านั้น ยังจะถอนรากถอนโคนระบบซัพพลายเชน ป่วนระบบการค้าโลกและระบบการเงินของโลกด้วย