กลเกมโหดร้ายของ “ทรัมป์” ใน “สงครามการค้า” รอบล่าสุด

เรียกได้ว่าพลิกความคาดหมายในระดับช็อกโลกสำหรับการเจรจาการค้ารอบล่าสุดระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนเมื่อวันที่ 9 และ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะนอกจากจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใด ๆ ได้แล้ว สหรัฐยังปรับเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ จาก 10% เป็น 25% ทั้งที่บรรยากาศก่อนถึงวันเจรจาไม่ถึง 1 สัปดาห์ ล้วนแต่มีแนวโน้มดี เห็นได้จากคำยืนยันของประธานาธิบดีทรัมป์เอง ตลอดจนรัฐมนตรีคลังและเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่น ๆ ของสหรัฐที่ดูเหมือนจะส่งสัญญาณตรงกันว่า ครั้งนี้น่าจะบรรลุข้อตกลงกันได้

แต่เป็นสหรัฐเสียเองที่ทำลายบรรยากาศนั้น เพราะวันที่ 8 พฤษภาคมก่อนหน้ากำหนดการเจรจาเพียง 1 วัน ทรัมป์ประกาศปรับเพิ่มภาษีสินค้าจีนจาก 10% เป็น 25% โดยให้มีผลในวันที่ 10 พฤษภาคม เห็นชัดว่าทรัมป์ต้องการใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือกดดันจีนล่วงหน้าให้ยอมตามเงื่อนไขที่ต้องการ

การกระทำดังกล่าวซึ่งดูเหมือนไม่ให้เกียรติและหักหน้าจีน ส่งผลให้ในตอนแรกเกิดข่าวสับสนอลหม่านว่าทีมเจรจาของจีนนำโดยนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรี อาจยกเลิกการเดินทางมาวอชิงตัน อย่างไรก็ตาม ในที่สุดจีนยอมเดินทางมาตามกำหนดเดิม คือ 9-10 พฤษภาคม ก่อนที่ผลการเจรจาจะออกมาตามคาด คือ ไร้ข้อตกลง ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐช็อกหนัก

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 600 กว่าจุด

ทรัมป์ออกมาขู่ดักคอจีนว่า อย่าคิดตอบโต้ แต่ไม่ได้ผล เพราะจีนเอาคืนด้วยการประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ในอัตราเท่ากัน มีผลวันที่ 1 มิถุนายน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์โนอาห์ สมิธ แห่งมหาวิทยาลัยสโตนี่ บรูก เขียนบทความในบลูมเบิร์ก ยอมรับว่าตนเองคาดผิดที่คิดว่าทรัมป์จะยอมถอยในการทำสงครามการค้าเพื่อแลกกับการให้จีนซื้อสินค้าเกษตร แต่กลายเป็นว่าทรัมป์เพิ่มแรงกดดันมากขึ้นด้วยการขึ้นภาษี 2 แสนล้านดอลลาร์ และยังเตรียมจะเพิ่มภาษีสินค้าส่วนที่เหลืออีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์

สมิธชี้ว่า มีหลายเหตุผลที่ทำให้ตนเชื่อว่าทรัมป์น่าจะยอมถอย เช่น ข้อกล่าวหาต่อจีนในประเด็นขโมยทรัพย์สินทางปัญญานั้นยากที่จะพิสูจน์ นอกจากนั้น ต้นทุนในการทำสงครามการค้ามีข้อมูลจากนักเศรษฐศาสตร์หลายคนแสดงให้เห็นว่า ภาระภาษีส่วนใหญ่ตกอยู่กับ

ผู้บริโภคอเมริกัน ดังนั้น ยากที่อเมริกาจะเป็นฝ่ายชนะในสงคราม ขณะที่ความสูญเสียมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เหตุใดทรัมป์กลับแข็งกร้าวมากขึ้น

ความแข็งกร้าวนั้นอาจเป็นเพราะทรัมป์ต้องการอาศัยจังหวะที่เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งเล่นงานจีนและสกัดกั้นการเป็นมหาอำนาจ เพราะการที่เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตดี อาจทำให้คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ได้สังเกตหรือรู้สึกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่วนสินค้าเกษตรซึ่งจะได้รับผลกระทบหนักจากการตอบโต้ของจีน และเกษตรกรยังเป็นฐานเสียงสำคัญของทรัมป์นั้น ดูเหมือนทรัมป์

จะคำนวณแล้วว่า การให้เงินช่วยเหลือแก่เกษตรกร 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อบรรเทาผลกระทบ จะทำให้เขาไม่เสียคะแนนเสียงมากนักในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึง ซึ่งเหลือเวลาไม่ถึง 2 ปี

สมิธระบุว่า การใช้สงครามการค้าเป็นเครื่องมือเล่นงานจีน อยู่บนตรรกะที่โหดร้ายพอสมควร โดยเป็นไปได้ว่าวัตถุประสงค์แท้จริงของทรัมป์ครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อเพิ่มความเจริญรุ่งเรือง กินดีอยู่ดีให้กับชาวอเมริกัน แต่เป็นการให้ความสำคัญต่อประเด็นภูมิรัฐศาสตร์มากที่สุด ทรัมป์ต้องการสกัดการขึ้นเป็นมหาอำนาจของจีน จึงเห็นว่าการใช้วิธีนี้จะได้ผลที่สุด แม้ว่าจะสร้างผลเสียต่อสหรัฐ แต่อยู่ในระดับที่ยอมรับได้เมื่อเทียบกับจีนที่จะเสียมากกว่า

อีกทั้งเป็นไปได้ว่าสงครามการค้าเป็นแค่เครื่องมือประชานิยมของทรัมป์ การเก็บภาษีจีนต่อไปเรื่อย ๆ เป็นหนทางง่าย ๆ เพื่อโชว์ว่าทรัมป์เข้มแข็ง และหากคำนวณแล้วว่าการทำข้อตกลงสงบศึกการค้าได้ผลประโยชน์น้อยกว่าการเก็บภาษีไปเรื่อย ๆ ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดศึกบดขยี้ทางการค้าที่ยาวนาน

ในระยะสั้นจีนจะได้รับผลกระทบหนักกว่าจากสงครามการค้า แต่ในระยะยาวผลกระทบหรือความเจ็บปวดนั้นจะแผ่ซ่านไปยังสหรัฐในระดับเท่าเทียมกัน จนสรุปได้ว่าสุดท้ายแล้วทุกคนตายหมดในศึกนี้