ข้อตกลง “ทรัมป์-สี จิ้นผิง” แค่ “หยุดยิง” ซื้อเวลา

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ความตกลงระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กับ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายเดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศจี 20 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เป็นไปตามความคาดหมายของนักวิเคราะห์ และนักสังเกตการณ์ส่วนใหญ่ที่ให้ความเห็นเอาไว้ก่อนหน้าการเจรจาทวิภาคีนอกกรอบการประชุมดังกล่าวนั้น

ซึ่งนั่นไม่ได้เป็นผลดีต่อทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมแต่อย่างใด

สาระหลักของความตกลงดังกล่าว ไม่ต่างอะไรกันมากมายนักจากการ “หยุดยิง” ในสงครามการค้าระหว่างประเทศทั้งสอง ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปลายปี 2018 ที่ผ่านมา โดยที่สหรัฐอเมริกาสัญญาว่าจะไม่ตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น ในขณะที่จีนก็รับปากจะซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น

ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ยกเลิกกำแพงภาษีที่ตั้งขึ้นไว้ตอบโต้กันไปมาที่ผ่านมาแต่อย่างใด

ข้อที่ผิดแผกไปอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการ “หยุดยิง” ครั้งใหม่กับครั้งที่ผ่านมา ก็คือทรัมป์แสดงชัดเจนว่า “หัวเว่ย” ยักษ์ใหญ่ในแวดวงโทรคมนาคมของโลกจะเป็น “หมาก” ตัวหนึ่งในการต่อรองเพื่อทำความตกลงทางการค้าที่จะฟื้นฟูกันขึ้นมาใหม่ต่อไป

ธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (บีไอเอส) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครบาเซิล สวิตเซอร์แลนด์ แสดงท่าทีออกมาในไม่ช้าไม่นานอย่างชัดเจนว่า แม้จะยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า ความตึงเครียดทางการค้าและทางการเมืองครั้งนี้จะพัฒนาไปอย่างไร แต่มีแนวโน้มที่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะยังคงทำให้กิจกรรมการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลายลดลงอย่างต่อเนื่องต่อไป ในปีถัด ๆ ไปนี้

อกุสติน คาร์สเตน กรรมการผู้จัดการของธนาคารชี้ให้เห็นเพิ่มเติมว่า มิติในทางการเมืองของเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะทำให้กรณีนี้ยากที่จะคาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา ดังนั้น ไม่ว่าทรัมป์และสีจะแสดงท่าทีเป็นมิตรกันมากมายเพียงใด ความตกลงที่เกิดขึ้นก็ยังคงก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่มีอะไรแน่นอนขึ้นตามมา ชะลอการตัดสินใจสำคัญ ๆ ของบริษัทธุรกิจทั้งหลายและกลายเป็นตัวบ่อนเซาะความรุดหน้าของเศรษฐกิจทั้งโลกไปในที่สุด

ความต้องการที่สำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกาในการเจรจาการค้ากับจีนในครั้งนี้ อย่างการเรียกร้องให้จีนเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ให้กำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา และยุติการบังคับให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ยังคงปรากฏผลคืบหน้าน้อยมาก แม้จะหารือกันมาต่อเนื่อง ก่อนหน้าที่จะมีความตกลง “หยุดยิง” ครั้งใหม่

ในเวลาเดียวกัน จีนก็ยังคงยืนกรานไม่ยินยอมให้มีการจัดตั้งกลไกเพื่อบังคับใช้ความตกลง (หากมีขึ้น) ซึ่งสหรัฐต้องการเป็นหลักประกันว่า จีนจะดำเนินการตามความตกลงในอนาคต

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่า ช่องว่างระหว่างสองประเทศยังใหญ่โตมหาศาลมาก ดังนั้น จึงไม่มีใครแน่ใจได้ว่า ถึงแม้จะเจรจากันต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้จีนกับสหรัฐอเมริกาจะบรรลุความตกลงทางการค้ากันได้หรือไม่

นั่นหมายความว่า มีความเป็นไปได้สูงยิ่งที่สงครามการค้าจะยังคงเป็นตัวถ่วงภาพรวมเศรษฐกิจของทั้งโลกอยู่ต่อไป

ความตกลงที่ทรัมป์และสีทำขึ้นที่โอซากา อาจผลักดันให้ทุกฝ่ายมีความหวังขึ้นมาอยู่บ้าง ส่งผลให้ตลาดเงินทั่วโลกพุ่งขึ้นอยู่บ้าง แต่หลายคนมั่นใจว่า นั่นเป็นเพียง “ความโล่งใจ” ชั่วขณะ หลายคนยังสงสัยอยู่ว่า ความหวังที่ว่านี้จะอยู่ได้ถึงเดือนหรือไม่ด้วยซ้ำไป

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือ ระหว่างที่ทรัมป์กับสีกำลังเตรียมการเจรจากันอยู่นั้นความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาก็ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่หยุดหย่อน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา จับบริษัทซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของจีนอีก 5 บริษัท เข้าไปอยู่ใน “บัญชีดำ” ห้ามทำธุรกิจด้วย ทำนองเดียวกับกรณีของหัวเว่ย

ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันศาลสหรัฐอเมริกายังมีคำพิพากษาออกมาด้วยว่า ธนาคารขนาดใหญ่ของจีน 3 ธนาคารแสดงพฤติกรรมเข้าข่าย “หมิ่นศาล” ด้วยการปฏิเสธที่จะทำตามคำขอของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการสืบสวนสอบสวนว่า ธนาคารเหล่านั้นละเมิดการแซงก์ชั่นต่อเกาหลีเหนือของสหรัฐอเมริกาหรือไม่

ไม่มีการระบุชื่อธนาคารทั้งสามออกมา แต่เชื่อกันว่า คือ ธนาคารเพื่อการโทรคมนาคม (แบงก์ ออฟ คอมมิวนิเคชั่น), ธนาคารเพื่อการค้าแห่งจีน (ไชน่า เมอร์แชนต์ส แบงก์) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเซี่ยงไฮ้ ปู่ตง

ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า แม้การตกลงหยุดยิงระหว่างทรัมป์กับสี จะถือว่าเป็นก้าวที่ดีก้าวหนึ่ง แต่ความขัดแย้งซึ่งกันและกันจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป

ข้อสังเกตของ “เกวิน เดวีส์” คอลัมนิสต์แห่งไฟแนนเชียลไทมส์ก็คือ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจของทั้งโลกกำลังขยายตัวต่ำกว่าแนวโน้มที่ควรจะเป็นอยู่ราว 0.7 เปอร์เซ็นเทจพอยต์ ตลอดทั้งปี 2019 นี้ และยังไม่มีวี่แววว่าจะปรับตัวดีขึ้น

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วยังคงอ่อนแอมากเป็นพิเศษ ระดับการขยายตัวอยู่ต่ำกว่าแนวโน้มที่ควรจะเป็นระหว่าง 1.0 เปอร์เซนเทจพอยต์ ไปจนถึง 2.5 เปอร์เซ็นเทจพอยต์

ภาคการค้าอ่อนแอลงอย่างมาก มากกว่าภาคบริการ เนื่องจากการค้าและการใช้จ่ายลงทุนในสินทรัพย์คงที่ฉุดเอาอัตราการขยายตัวของผลผลิตทางอุตสาหกรรมให้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0 เปอร์เซ็นต์แล้ว

ตัวเลขเหล่านั้นช่วยให้สามารถตีความได้ว่า เศรษฐกิจของทั้งโลกยังคงเสี่ยงสูงที่จะตกสู่ภาวะถดถอย แม้ว่าจะมีความตกลงยุติการตั้งกำแพงภาษีเข้าใส่กันแล้วก็ตาม