Yield Curve Control เทรนด์ใหม่แบงก์ชาติทั่วโลก นโยบายการเงินยุคโควิด

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกอัดฉีดเม็ดเงินนับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ระบบเพื่อพยุงเศรษฐกิจผ่านการทำ “คิวอี” ด้วยการเข้าซื้อสินทรัพย์ ตราสารทางการเงินต่าง ๆ นอกจากนี้ ธนาคารกลางหลายแห่งยังงัดมาตรการ yield curve control มาใช้ควบคู่ไปด้วยเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจที่ซบเซามากสุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยนโยบายนี้ธนาคารกลางจะกำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางหรือระยะยาว จากนั้นจะเข้าทำการซื้อหรือขายพันธบัตรเพื่อรักษาเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้

หากนโยบาย yield curve control ถูกดำเนินอย่างมีประสิทธิภาพก็จะช่วยลดภาระการเข้าซื้อสินทรัพย์ของ “คิวอี” อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นจากการคงระดับอัตราดอกเบี้ยระยะกลางถึงระยะยาวที่ระดับต่ำ

อย่างไรก็ตาม บลูมเบิร์กรายงานว่า yield curve control เป็นยาแรงที่มีผลข้างเคียงสูง โดยมีเพียงธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่ได้นำนโยบายนี้มาใช้เมื่อปี 2016 ภายหลังเศรษฐกิจเผชิญกับภาวะเงินฝืดติดต่อกันกว่า 20 ปี ทว่า หลังการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายประเทศได้เริ่มนโยบายกำหนดการตรึงอัตราดอกเบี้ยแล้ว โดยแบงก์ชาติออสเตรเลียได้ประกาศเมื่อ มี.ค. 2020 คงดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปี ที่ระดับ 0.25% นอกจากนี้ รายงานยังระบุอีกว่า แบงก์ชาติอินเดียได้เริ่มทำ yield curve control ตั้งแต่เมื่อ ก.พ. 2020

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนมากยังคาดกันว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ก็อาจต้องดำเนินรอยตามธนาคารกลางญี่ปุ่นเช่นกัน โดยรอยเตอร์สรายงานอ้างอิงงานของ “รัสเซลล์ อินเวสต์เมนต์” ที่สำรวจความเห็นของผู้จัดการกองทุนทั่วโลก พบว่ามือบริหารเงินชั้นนำของโลกส่วนใหญ่เห็นว่า “เฟด” จะประกาศ yield curve control อย่างเร็วที่สุดในช่วงไตรมาส 2/2020 สอดคล้องกับคำกล่าวของ “เจอโรม พาวเวลล์” ที่ไม่ได้ปฏิเสธการทำนโยบายดังกล่าว พร้อมระบุว่า “เฟดกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาการทำนโยบายนี้” ทำให้คาดการณ์กันว่าเฟดอาจจำเป็นต้องเดินตามแนวทางของบีโอเจในอนาคต

ขณะที่ “บีโออี” เป็นธนาคารกลางอีกแห่งที่ถูกกดดันให้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจของอังกฤษ โดยเฉพาะหลังการประกาศตัวเลขผู้ว่างงานเมื่อ 16 มิ.ย. 2020 พบว่าจำนวนคนตกงานช่วง มี.ค.-พ.ค.พุ่งขึ้นสู่ระดับกว่า 3 ล้านราย ขณะที่อัตราการเติบโตจีดีพีเมื่อ เม.ย.กลับติดลบอย่างน่าตกใจถึง 20.4%

โดย yield curve control ก็ได้ถูกนำมาพิจารณาพร้อมกับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ “ติดลบ” ซึ่งในกรณีนี้ “จอร์จ บั๊กเลย์” นักเศรษฐศาสตร์จาก “โนมูระ อินเตอร์เนชั่นแนล” แสดงความเห็นว่า แบงก์ชาติอังกฤษมีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการ yield curve control มากกว่า เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับติดลบจะสร้างผลกระทบต่อภาคธนาคาร อีกทั้งยังเป็นนโยบายที่ “ทำแล้วเลิกยาก” ซึ่งจากที่ผ่านมาพบว่าหลายประเทศที่นำดอกเบี้ยติดลบมาใช้และไม่สามารถเลิกได้

หากถอดบทเรียนของ “บีโอเจ” จะพบว่า ภายใต้ yield curve control ธนาคารกลางจะสามารถลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตร แต่สามารถรักษาอัตราผลตอบแทนที่ระดับต่ำได้ ซึ่งรายงานของ “บรูกกิงส์ อินสติติวชั่น” สถาบันวิจัยจากสหรัฐอเมริกา พบว่าก่อนการประกาศนโยบายเมื่อปี 2016 แบงก์ชาติญี่ปุ่นต้องซื้อพันธบัตรปีละกว่า 100 ล้านล้านเยน เพื่อกดอัตราดอกเบี้ย แต่หลังจากการประกาศนโยบาย yield curve control เป็นต้นมาการเข้าซื้อพันธบัตรก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในกรณีดังกล่าว “เบน เบอร์นันเก้” อดีตผู้ว่าการของ “เฟด” ให้เหตุผลว่า “ความน่าเชื่อถือ” (credibility) ของธนาคารกลางในการรักษาพันธะ (commitment) ที่ได้ประกาศไว้เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินนโยบายนี้ หากนักลงทุนในตลาดพันธบัตรเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางจะสามารถรักษาเป้าหมายดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ นักลงทุนก็จะทำการซื้อขายพันธบัตรที่ระดับไม่เกินเป้าหมายของธนาคารกลาง ทำให้แบงก์ชาติไม่จำเป็นต้องเข้าซื้อพันธบัตรจำนวนมากเพื่อกดอัตราผลตอบแทน และจะช่วยลดภาระของมาตรการคิวอีได้เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนเชื่อว่าธนาคารกลางจะไม่สามารถรักษาเป้าหมายดอกเบี้ยที่ประกาศตรึงเอาไว้ได้ก็จะส่งผลให้เกิดการเทขายพันธบัตรออกมาจำนวนมาก ผลลัพธ์ก็คือ ธนาคารกลางจำเป็นต้องเข้าซื้อพันธบัตรที่มากขึ้นกว่าเดิมเพื่อรักษาเป้าหมาย

ในทางทฤษฎีการตรึงอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลจะถูกส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยของตราสารการเงินอื่น ๆ ที่มีอายุเท่ากัน เช่น หุ้นกู้ ขณะที่ “อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ” จะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคกู้เงินเพื่อใช้จ่ายมากขึ้น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีกว่าการทำคิวอีเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม การคงอัตราดอกเบี้ยระยะกลางถึงระยะยาวจะสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการกู้เงินเพื่อลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นเพื่อหาส่วนต่างผลตอบแทน

นอกจากนี้ เงินทุนจะไหลเข้าสู่ประเทศตลาดเกิดใหม่อีกจำนวนมากจากการทำ “แครี่เทรด” ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย โดยเทรดเดอร์ค่าเงินจะทำการกู้เงินที่อัตราดอกเบี้ย “ระดับต่ำ” และ “คงตัว” จากประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อนำไปหาผลตอบแทนในประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า

สิ่งเหล่านี้อาจสร้าง “ภาวะฟองสบู่” ขึ้นมา ดังเช่นที่ “อาซาร์ ฮัสเซน” หัวหน้าฝ่ายตลาดสินเชื่อของ “รอยัล ลอนดอน แอสเซต แมเนจเมนต์” ที่กล่าวว่า หากมีการนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ก็จะเพิ่มพฤติกรรมเสี่ยงของนักลงทุน ท่ามกลางช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนหลังการระบาดของไวรัส ซึ่งคงไม่ส่งผลที่ดีต่อเศรษฐกิจในอนาคต