ย้อนรอย “รัฐประหาร” 3 ครั้ง ในเมียนมา

FILE PHOTO: REUTERS/Ann Wang

ย้อนรอยการทำรัฐประหาร 3 ครั้ง ในเมียนมา หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อ 93 ปีที่แล้ว 

วันจันทร์ที่ 1 เช้าแรกของเดือนใหม่กุมภาพันธ์ 2564 ข่าวใหญ่ของโลกเช้านี้ คือ การเข้าควบคุมตัว “อองซาน ซูจี” ที่ปรึกษาแห่งรัฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้นำพรรคสันนิบาตชาติแห่งประชาธิปไตย หรือ เอ็น แอล ดี (NLD) รวมทั้งประธานาธิบดี “วิน-มินต์” และผู้นำรัฐบาลอีกหลายคนซึ่งมีกำหนดการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง ครั้งแรกวันนี้ (1 ก.พ.) หลังจากการเลือกตั้ง

สถานีโทรทัศน์เมียวดีทีวีของกองทัพพม่า ระบุว่า กองทัพประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี พร้อมแต่งตั้ง “พล.อ.อาวุโสมิน ส่วย” อดีตรองประธานาธิบดี และรักษาการประธานาธิบดีเมื่อครั้งที่ นายติน จ่อ อดีตผู้นำพม่า ลาออกในปี 2561 ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการประธานาธิบดี

โดยอำนาจบริหารและตุลาการจะถูกส่งต่อให้ “พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง ลาย” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด การตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นเพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของรัฐ พร้อมกล่าวหาคณะกรรมการการเลือกตั้งถึงความล้มเหลวในการรับมือกับการเลือกตั้งที่มีความผิดปกติส่อเค้าทุจริตเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 และเป็นเหตุให้กองทัพต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

เส้นทางข่าวลือรัฐประหาร

บีบีซีไทย รายงานเส้นทางการทำรัฐประหารในเมียนมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงสถานการณ์ทางการการเมืองในภาวะตึงเครียด

26 มกราคม 2564 

  • โฆษกกองทัพเมียนมาไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่กองทัพจะเข้ายึดอำนาจ เพื่อจัดการกับสิ่งที่เขาเรียกว่า “วิกฤตทางการเมือง”

27 มกราคม 2564 

  • พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา กล่าวในงานให้โอวาทนักเรียนเตรียมทหารแห่งวิทยาลัยป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม ถึงความเป็นไปได้ในการยกเลิกรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งกล่าวว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายแม่ของกฎหมายทั้งปวง แต่ “คงจำเป็นต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ หากคนไม่ปฏิบัติตาม” ทั้งนี้ถ้อยแถลงของ พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ถูกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เมียวดีฉบับวันรุ่งขึ้นด้วย

28 มกราคม 2564 

  • มีการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับคณะทหาร ที่กรุงเนปิดอว์ ก่อนที่โฆษกพรรคเอ็นแอลดีจะออกมาเปิดเผยกับรอยเตอร์สว่า “ไม่ประสบความสำเร็จ” ในการหาทางออกจากวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น

29 มกราคม 2564 

  • ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคยูเอสดีพีหลายร้อยคนชุมนุมประท้วง กกต. ทั้งที่กรุงเนปิดอว์และกรุงย่างกุ้ง แต่ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและไม่มีรายงานการใช้ความรุนแรง

1 กุมภาพันธ์ 2564 

  • โฆษกพรรคเอ็นแอลดีกล่าวว่า นาง ซู จี และ ผู้นำของพรรคหลายคนถูกพาตัวจากบ้านพักไปตั้งแต่ช่วงรุ่งสาง

ย้อนรอยรัฐประหารในเมียนมา

หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ ในพ.ศ. 2491 เมียนมามีชื่ออย่างเป็นทางการขณะนั้นว่า สหภาพพม่า โดยมีเจ้าฟ้ากัมโพชรัฐสิริปวรมหาวงศาสุธรรมราชา หรือ“เจ้าส่วยแต้ก” เป็นประธานาธิบดีคนแรก และ “อู นุ” เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ต้องเผชิญกับสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อที่สุดท่ามกลางกลุ่ม ชาติพันธุ์ที่มีอยู่มากมายแต่สถานการณ์ในประเทศมีสถานการณ์ตึงเครียดทางการทหารและการลุกฮือของชนกลุ่มน้อย

พลเอก เนวีน รัฐประหารในเมียมาร์
“พล.อ. อาวุโส เนวิน”ผู้นำเผด็จการของรัฐบาลทหารของพม่า ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพม่าอย่างยาวนานถึง 26 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ถึง พ.ศ. 2531 (FILE. AFP)

ในปี พ.ศ. 2491 “พล.อ. อาวุโส เนวิน” ขึ้นมามีอำนาจในกองทัพ ต่อมาช่วงต้นปี 2492 ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารและเข้าควบคุมทหารทั้งหมดและเนวินได้จัดระเบียบกองทัพใหม่ ต่อมา “อู นุ” ได้ร้องขอให้เนวินเป็นนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลเมื่อ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2501 หลังจากที่สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์แตกออกเป็นสองส่วน และเกือบไม่ได้รับการไว้วางใจจากรัฐสภา

“พล.อ. อาวุโส เนวิน” ได้ฟื้นฟูกฎระเบียบใหม่ในระหว่างที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาล การเลือกตั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2503 “อู นุ” เป็นฝ่ายชนะ และได้จัดตั้งรัฐบาล

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2505 “พล.อ. อาวุโส เนวิน” ขึ้นสู่อำนาจอีกครั้ง โดยการก่อ “รัฐประหารครั้งแรก” ตัวเองมีสถานะเป็นประมุขรัฐในฐานะประธานสภาปฏิวัติสหภาพ และเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย เขาได้จับกุม “อู นุ” และคนอื่น ๆ อีกหลายคน และประกาศจัดตั้งรัฐสังคมนิยม

หลังจากมีการลุกประท้วงที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ในเดือนกรกฎาคม ของปีเดียวกัน เขาได้มีการส่งทหารเข้าไปจัดระเบียบใหม่ มีการเผาผู้ประท้วงและทำลายอาคารสหภาพนักศึกษา หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยทั่วประเทศถูกสั่งปิดเป็นเวลา 2 ปี จนถึงเดือนกันยายน ปี 2507

ภายหลังจากการรัฐประหาร พม่าถูกปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร นำโดยคณะปฏิวัติของ “พล.อ. อาวุโส เนวิน” สังคมทั้งหมดถูกควบคุมและอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ ผ่านรูปแบบสังคมนิยม ซึ่งดัดแปลงมาจากแนวคิดของสหภาพโซเวียต และ การวางแผนจากส่วนกลาง

รัฐธรรมนูญใหม่แห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า ได้ถูกประกาศใช้ปี 2517 ในช่วงเวลานั้น พม่าถูกปกครองโดยระบบพรรคการเมืองเดียว คือ พรรคโครงการสังคมนิยมพม่า ที่นำโดย”พล.อ. อาวุโส เนวิน” และ อดีตนายทหารหลายนาย จนถึงปี 2531

รัฐประหารครั้งที่ 2 ในปี 2531

การปกครองประเทศพม่าด้วยระบบเดียวของ “พล.อ. อาวุโส เนวิน” ทำให้ประเทศมีหนี้สิน 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีเงินสดสำรองระหว่าง 20 – 35 ล้านเหรียญ อัตราหนี้สินภาคบริการเป็นครึ่งหนึ่งของงบประมาณของประเทศ

วันที่ 5 กันยายน 2530 “พล.อ. อาวุโส เนวิน” ได้ประกาศยกเลิกธนบัตรราคา 100, 75, 35 และ 25 จ๊าด ที่เพิ่งออกใช้ใหม่ และให้ใช้ธนบัตรเพียง 45 และ 90 จ๊าด เนื่องจากเป็นธนบัตรที่ตัวเลขหารด้วยเก้าลงตัว ซึ่งถือเป็นเลขนำโชคของเขา

การก่อการกำเริบ 8888 เป็นการกำเริบระดับชาติเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศพม่า เมื่อ ค.ศ. 1988 การก่อการกำเริบนี้เริ่มขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1988 และจากวันที่นี้ (8-8-88) ทำให้เหตุการณ์นี้มักเป็นที่รู้จักในชื่อ “การก่อการกำเริบ 8888″(Photo by STR / AFP)

ในเดือนพฤศจิกายน 2528 มีนักศึกษาออกมาประท้วงคว่ำบาตรรัฐบาลที่ประกาศยกเลิกธนบัตรที่ใช้ในตลาด ต่อมามีการประท้วงครั้งใหญ่อีกครั้งในมัณฑะเลย์ โดยพระสงฆ์และกรรมกร มีการเผาอาคารของรัฐและธุรกิจของรัฐ

นักศึกษาในย่างกุ้งลุกฮือประท้วงการปกครองของรัฐบาล “พล.อ. อาวุโส เนวิน” อีกครั้ง การประท้วงครั้งนี้ได้ดึงมวลชนจากหลากหลายอาชีพทั่วประเทศ มาร่วมด้วย ซึ่งมีการปะทะระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จนมีผู้บาดเจ็บ ล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้ “พล.อ. อาวุโส เนวิน” ที่อยู่ในตำแหน่งมากว่า 26 ปี ประกาศลาออก เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2531

จากนั้นได้ ส่งมอบอำนาจให้ “พลจัตวา เซนวิน” ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่แห่งพม่า แต่บรรดานักศึกษายังไม่ยอมรับ และยังมีการประท้วงอยู่ เรียกร้องให้ “นายพล เซนวิน” และรัฐบาลทหารสลายตัวไป โดยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 สิงหาคม 2531 หรือ ค.ศ. 1988 ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “การก่อการกำเริบ 8888”

การประท้วงครั้งนั้น เกิดขึ้นจากชาวพม่า มีทั้งชนกลุ่มน้อย ชาวพุทธและมุสลิม นักศึกษา คนงาน เยาวชน ที่มีการเรียกร้องให้ทหารออกมาร่วมกับการเรียกร้องของประชาชน

การก่อการกำเริบ 8888 เป็นการกำเริบระดับชาติเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศพม่า เมื่อ ค.ศ. 1988 การก่อการกำเริบนี้เริ่มขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1988 และจากวันที่นี้ (8-8-88) ทำให้เหตุการณ์นี้มักเป็นที่รู้จักในชื่อ “การก่อการกำเริบ 8888” (TOMMASO VILLANI / AFP)

จากนั้นไม่นาน รัฐบาลได้มีคำสั่งให้สลายฝูงชนด้วยอาวุธ ในวันที่ 10 สิงหาคม ทหารได้บุกเข้าไปในโรงพยาบาลย่างกุ้ง ฆ่าหมอและพยาบาลที่รักษาผู้บาดเจ็บจากการประท้วง วิทยุของรัฐบาลรายงานว่ามีผู้ถูกจับกุม 1,451 คน ทหารได้รายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 95 คน บาดเจ็บ 240 คน

วันที่ 12 สิงหาคม 2531 “นายพล เซนวิน” ได้ลาออกอย่างจากตำแหน่งผู้นำสูงสุดอย่างที่ไม่มีใครขาดหมาย นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ประท้วงเกิดความสับสน แต่ก็ยังไม่ได้ยุติการชุมนุม แต่ยังมีการเสนอข้อเรียกร้องว่า  ต้องการรัฐบาลพลเรือนของนาย ดร. หม่อง หม่อง ได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งเป็นพลเรือนคนเดียวในพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า

อย่างไรก็ดีการชุมนุมครั้งนั้น (26 ส.ค.) “อองซาน ซูจี” ได้ออกมาร่วมกับผู้ประท้วงด้วย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการกลายเป็นสัญลักษณ์เพื่อการต่อสู้ในพม่า ซูจีเรียกร้องให้ประชาชนชุมนุมโดยสงบ ณ จุดนี้ ในเวลานั้น การลุกฮือมีลักษณะคล้ายกับการกำเริบพลังประชาชนในฟิลิปปินส์เมื่อ 2529

เดือนกันยายน  2531 ในการประชุมรัฐสภา มีผู้ออกเสียงให้ใช้ระบบหลายพรรคการเมืองถึง 90% พรรคโครงการสังคมนิยมพม่าออกมาประกาศว่าจะจัดการเลือกตั้ง แต่พรรคฝ่ายค้านเรียกร้องให้ลาออก เพื่อให้มีรัฐบาลชั่วคราวเข้ามาจัดการเลือกตั้ง พรรคโครงการสังคมนิยมพม่าปฏิเสธ ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงออกมาอีกครั้งในวันที่ 12 กันยายน 2531 การประท้วงเป็นไปด้วยความรุนแรงและผิดกฎหมาย

“พล.อ. อาวุโส เนวิน” ซอมอง นำเผด็จการของรัฐบาลทหารของพม่า หลังการรัฐประหารล้มอำนาจพลเอก เนวี่น เมื่อ พ.ศ. 2531 (Photo by PORNVILAI CARR / AFP)

วันที่ 18 กันยายน 2531 ทหารได้กลับมาปกครองประเทศอีกครั้ง นำไปสู่การทำรัฐประหารครั้งที่ 2 โดย “พล.อ. อาวุโส ซอมอง” ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 และจัดตั้งสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐหรือสลอร์ก หลังจากที่ได้ประกาศกฏอัยการศึก ได้เกิดการประท้วงที่รุนแรงขึ้นอีกครั้ง นักศึกษา พระสงฆ์และนักเรียนราวพันคนถูกสังหาร และมีบางส่วนได้หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย

สิ้นเดือนกันยายน ประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตราว 3,000 คน และผู้บาดเจ็บไม่ทราบจำนวน เฉพาะในย่างกุ้งมีผู้เสียชีวิตประมาณพันคน ในวันที่ 21 กันยายน 2531 รัฐบาลได้เข้ามาปกครองประเทศและขบวนการต่อต้านได้สลายตัวไปในเดือนตุลาคม เมื่อสิ้นปี 2531 เชื่อว่าผู้เสียชีวิตร่วมหมื่นคนและสูญหายอีกจำนวนมาก

รัฐประหารครั้งที่ 3 พ.ศ. 2535

จากนั้นในปี 2535 เกิดการรัฐประหาร ครั้งที่ 3 นำโดย “พล.อ.อาวุโส ต้าน ชเว” ผู้นำสูงสุดของกองทัพ ได้ขึ้นมาล้มอำนาจของ “พล.อ. อาวุโส ซอมอง” ผู้นำเผด็จการของรัฐบาลพม่า ที่สามารถล้มอำนาจ “พล.อ. อาวุโส เนวิน” ได้โดยให้เหตุผลว่า “มีปัญหาด้านสุขภาพ”

“พล.อ. อาวุโส ต้านชเว” (Photo by STR / AFP)

ต่อมาเมื่อสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจจากพุทธสังคมนิยมมาเป็นกึ่งเสรีตามแนวทุนนิยม เขาเปลี่ยนชื่อประเทศจากพม่า มาเป็น “เมียนมา” พร้อมเปลี่ยนชื่อคณะผู้ปกครองทหารพม่าจากสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐมาเป็นสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐดังปัจจุบัน

“พล.อ.อาวุโส ต้าน ชเว” ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศในทุกด้าน ตั้งแต่เป็นประธานสภาสันติภาพฯ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด

“ซูจี” ประกาศลงเลือกตั้ง

นับแต่การถูกปล่อยตัวของ “อองซาน ซูจี” จากรัฐบาลทหาร ในปี 2553

3 ปีถัดมา (6 มิ.ย.) ซูจีประกาศบนเว็บไซต์ของเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมว่า เธอจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี 2558

ทำให้ในการเลือกตั้งทั่วไป ในปี 2558 พรรคสันนิบาตชาติแห่งประชาธิปไตยของ “ซูจี” ได้คะแนนเสียงทั้งประเทศตามรายงานของบีบีซีไทย ว่าได้ที่นั่งในสภาประชาชน หรือ สภาล่าง 196 ที่นั่ง ที่นั่งในสภาชนชาติหรือสภาสูง 95 ที่นั่ง รวมสองสภาได้ 291 ที่นั่ง ขณะที่พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา  ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเดิม ได้ที่นั่ง ส.ส. 23 ที่นั่ง และที่นั่งในสภาสูง 10 ที่นั่ง รวมสองสภาได้ 33 ที่นั่ง

ส่งผลให้พรรคสันนิบาตชาติแห่งประชาธิปไตย ได้จัดตั้งรัฐบาล โดย “ซูจี” มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา มิได้ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียน เนื่องด้วยถูกห้ามมิภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน โดยมี “ทีนจอ” ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ที่เป็นพลเรือนคนแรกในรอบ 50 ปี

Photo by Thet Aung / AFP

ขณะที่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ (พ.ย.63) พรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย คว้าชัยชนะไปอย่างถล่มทลาย สามารถครองเก้าอี้ในรัฐสภาได้มากถึง 83% โดยครองเก้าอี้ได้มากถึง 396 ที่นั่ง จากเก้าอี้ในรัฐสภา 476 ที่นั่ง ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยที่ 2 โดยคว้าที่นั่งในสภาแบ่งเป็น สภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง 258 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 ที่นั่ง) และสภาชนชาติ หรือสภาสูง 138 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 ที่นั่ง)

ขณะที่พรรคซึ่งได้รับการสนับสนุนของกองทัพได้เสียงในสภาล่าง 26 ที่นั่ง และสภาชนชาติ 7 ที่นั่ง (ลดลงจากเดิมสภาละ 4 ที่นั่ง)

พร้อมด้วยข้อครหาว่า “มีการทุจริตการเลือกตั้ง

มูลเหตุการรัฐประหารครั้งล่าสุด

บีบีซีไทย รายงานถึงมูลเหตุแห่งความขัดแย้งครั้งล่าสุดว่า เกิดขึ้นจากผลการเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยคว้าชัยชนะไปอย่างถล่มทลาย สามารถจัดตั้งรัฐบาลต่อไปได้อีก 5 ปี ขณะที่พรรคที่สนับสนุนกองทัพ ได้เก้าอี้ไปเพียง 33 ที่นั่งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญพม่าฉบับล่าสุดกำหนดเอาไว้ว่าให้กองทัพเมียนมา ต้องแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา คิดเป็นสัดส่วน 25% เพื่อคงอำนาจของกองทัพเอาไว้

โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกทั้งสองสภา มากกว่า 75% เพื่อนำไปสู่การทำประชามติ และการลงประชามติดังกล่าว ถูกกำหนดไว้ว่า จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งประเทศมากกว่า 50% ไม่ได้นับจากสัดส่วนผู้มาลงประชามติแต่อย่างใด

FILE PHOTO:  REUTERS/File Photo

ทั้งนี้หลังการเลือกตั้งดังกล่าว กองทัพเมียนมา ออกมาแสดงความกังวลว่าจะมีการทุจริตเลือกตั้งขึ้น อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ได้รับลูกดังกล่าวโดยระบุว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอ รัฐธรรมนูญส่งผลให้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ออกมาประกาศส่งสัญญาณการรัฐประหารยึดอำนาจ โดยระบุว่า “เป็นกฎหมายแม่บทของทุกกฎหมายที่มีอยู่และควรได้รับความเคารพ”

นำไปสู่การคุมตัว “อองซาน ซูจี” พร้อมผู้นำรัฐบาลอีกหลายคน และการประกาศยึดอำนาจ ใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี