เบื้องหลังปฏิบัติการข่าวสาร-การยึดอำนาจของ “กองทัพเมียนมา”

เมียนมาทำไมต้องยึดอำนาจเวลานี้
REUTERS/Shwe Paw Mya Tin/File Photo

เช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นอีกหนึ่งเช้าที่ชาวเอเชียตื่นมาพร้อมกับข่าวใหญ่ “กองทัพเมียนมา” ยึดอำนาจและควบคุมตัว “อองซาน ซูจี” กับนักการเมืองอีกหลายคน ก่อนที่กองทัพจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และแต่งตั้ง “ประธานาธิบดีรักษาการ” ท่ามกลางเสียงประณามจากฝั่งประเทศประชาธิปไตย 

ซีเอ็นเอ็น รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาว่า ประชาชนทั้งประเทศตื่นมาเจอกับการปิดข่าวสาร, การปิดธนาคาร ขณะที่ทหารในกองทัพต่างเหนื่อยล้าจากการลาดตระเวนตามถนนสายต่าง ๆ ในเมืองใหญ่อย่างนครย่างกุ้ง ประชาชนทำได้เพียงเปิดโทรทัศน์ เพื่อติดตามข่าวสารจากช่องเมียวดี ซึ่งเป็นช่องของกองทัพ ส่วนช่องอื่น ๆ นั้น ถูกปิดกั้น

มีข่าวว่าผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยถูกควบคุมตัวในเมืองหลวง หลายชั่วโมงก่อนการเปิดประชุมสภาชุดใหม่ครั้งแรก ผู้ประกาศข่าวช่องเมียวดีประกาศว่า มีการส่งมอบอำนาจให้กับ “พลเอก มิน อ่อง ลาย” ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพเมียนมา แล้ว

ในคำแถลงการณ์ของกองทัพยืนยันว่า กองทัพได้ควบคุมตัว “ซูจี” ที่ปรึกษาแห่งรัฐ พร้อมด้วยผู้นำระดับสูงอีกหลายคนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) โดยอ้างว่าเป็นการตอบสนองต่อความผิดปกติในการลงคะแนนเลือกตั้ง เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

การรัฐประหารครั้งนี้มีขึ้นหลังจากหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เมียนมาเผชิญความตึงเครียดทางการเมือง กรณีการเลือกตั้งที่มีข้อพิพาท rพร้อมกับข่าวลือในช่วงไม่กี่วันมานี้ว่ากองทัพอาจเข้ายึดครองประเทศ

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งเพียงครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นตามระบอบประชาธิปไตย นับตั้งแต่เมียนมาหลุดพ้นจาก 50 ปี ของการปกครองโดยทหาร เมื่อปี 2554 โดยพรรคเอ็นแอลดีของ “ซูจี” ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 83 ได้กุมอำนาจในรัฐบาลถึง 5 ปี ส่วนพรรคสหภาพเพื่อเอกภาพและการพัฒนา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ได้ที่นั่งในสภา 33 ที่นั่ง จาก 476 ที่นั่ง ซึ่งน้อยกว่าที่พรรคคาดเอาไว้มาก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันจันทร์ได้รับการประณามอย่างกว้างขวางในระดับสากล โดยสหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้ผู้นำกองทัพเมียนมาปล่อยตัวเจ้าหน้าที่รัฐบาลทั้งหมด รวมถึงผู้นำภาคประชาสังคม และแสดงความเคารพต่อเจตจำนงของประชาชน

“สหรัฐฯ กังวลและตื่นตระหนกอย่างมากกับรายงานที่ว่ากองทัพเมียนมาได้จับกุมผู้นำรัฐบาลพลเรือนหลายคน ซึ่งรวมถึง “อองซาน ซูจี” ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และผู้นำภาคประชาสังคม” ตามคำแถลงของ “แอนโทนี บลิงเคน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งกล่าวด้วยว่า “กองทัพเมียนมาต้องยกเลิกการกระทำเหล่านี้ทันที”

สำหรับ “พลเอก มิน อ่อง ลาย” ซึ่งบริหารประเทศอยู่ในขณะนี้ ได้ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 เนื่องจากถูกตัดสินว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง กรณีการสังหารโหดที่กระทำต่อชุมชนชาวมุสลิมโรฮีนจา

“ถั่นมินต์อู” นักประวัติศาสตร์และนักเขียนชื่อดังชาวเมียนมา ทวีตข้อความว่า ประตูเพิ่งเปิดสู่อนาคตที่แตกต่างไปจากเดิม ผมรู้สึกว่าไม่มีใครสามารถควบคุมสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป และจำไว้ว่าเมียนมาเป็นประเทศที่จมอยู่ใต้กองอาวุธ ด้วยความแตกแยกอย่างลึกซึ้งต่อประเด็นเรื่องชาติพันธุ์และศาสนา ซึ่งผู้คนนับล้านแทบไม่สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้

สิ่งที่นำมาสู่การรัฐประหาร

ในการประกาศ ซึ่งลงนามโดย “พลเอก มินต์ ส่วย” อดีตนายพล ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็น “ประธานาธิบดีรักษาการ” กองทัพอ้างว่า มีการโกงการเลือกตั้งในวันที่ 8 ธันวาคม 2563 พร้อมระบุว่า พวกเขาได้จับกุมผู้นำนักการเมืองเนื่องจากล้มเหลวในการดำเนินการ และไม่ปฏิบัติตามคำขอให้เลื่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โฆษกกองทัพเผยว่า กองทัพจะไม่ก่อรัฐประหาร แม้ว่าข้อกล่าวหาเรื่องโกงเลือกตั้ง เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ของกองทัพจะไม่ได้รับการตรวจสอบ

วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา คณะกรรมการเลือกตั้งของเมียนมา ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องโกงเลือกตั้ง โดยระบุว่า ทุกข้อผิดพลาด เช่น รายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ซ้ำกัน ไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะส่งผลต่อการลงคะแนน

เจ้าของรางวัลโนเบลอย่าง “ซูจี” ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นวีรสตรีแห่งประชาธิปไตยในเมียนมา โดยเธอถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านเป็นเวลา 15 ปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับการปกครองของทหาร

หลังได้รับการปล่อยตัว “ซูจี” นำพรรคของเธอคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2558 พร้อมจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนเป็นครั้งแรก หลังเมียนมาถูกปกครองโดยทหารมานานหลายทศวรรษ

ทว่าชื่อเสียงในระดับนานาชาติของเธอต้องเสื่อมเสียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากข้อกล่าวหาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮีนจาในเมียนมา อย่างไรก็ตาม เมียนมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ โดยอ้างว่าประเทศตกเป็นเป้าหมายของผู้ก่อการร้ายต่างหาก

REUTERS/Athit Perawongmetha

เมื่อวันจันทร์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน “เบอร์มา ไรท์ส ยูเค” โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ว่า ข่าวการควบคุมตัว “ซูจี” นั้น สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรง

“สิ่งนี้จะต้องได้รับการตอบสนองอย่างรุนแรงจากนานาชาติ กองทัพเมียนมาจำเป็นต้องตระหนักว่า พวกเขาได้ทำผิดพลาดครั้งใหญ่ และหยุดคิดว่าตัวเองจะสามารถหนีรอดจากเรื่องนี้ได้” ทางกลุ่มกล่าว

ปิดกั้นการสื่อสาร

ในขณะที่ผู้นำกองทัพเข้ายึดอำนาจ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มีปัญหาทั่วประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน หรือการตอบสนองผ่านสื่อโซเชียล

“เน็ตบล็อกส์” ซึ่งตรวจสอบการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก เผยว่า ข้อมูลเครือข่ายแบบเรียลไทม์แสดงให้เห็นว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตลดลงอย่างมาก ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงก่อนเข้าสู่รุ่งเช้าวันจันทร์ โดย “ดูก์ มาดอรี” นักวิเคราะห์จากคีเนติก บริษัทตรวจสอบเครือข่าย แสดงความคิดเห็นทางทวิตเตอร์ว่า เกิดเหตุอินเทอร์เน็ตมีปัญหาครั้งใหญ่

“มีการตรวจพบการตัดการเชื่อมต่ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้การเชื่อมต่อทั่วเมียนมาลดลงในตอนแรก 75% และต่อมา 50% ของระดับปกติ ในเวลา 08.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น” ตามข้อมูลจากเน็ตบล็อกส์

รอยเตอร์สรายงานว่า เอ็มอาร์ทีวี สื่อทางการเมียนมามีปัญหาทางเทคนิคและไม่สามารถออกอากาศได้ โดยทางเอ็มอาร์ทีวีระบุทางเพจเฟซบุ๊กว่า เนื่องจากปัญหาการสื่อสารในขณะนี้ เราจึงขอแจ้งให้คุณทราบด้วยความเคารพว่า รายการปกติของเอ็มอาร์ทีวีและเมียนมาเรดิโอ ไม่สามารถออกอากาศได้”

ต่อมา เอ็มอาร์ทีวีเริ่มแพร่ภาพโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพ ด้วยภาพทหารโบกธงบนกระสอบทราย, เฮลิคอปเตอร์บินโฉบไปมาเหนือเจ้าหน้าที่ทหารและแพทย์ถือเปลหาม

เน็ตบล็อกส์ รายงานว่า ข้อมูลทางเทคนิคแสดงให้เห็นการตัดการเชื่อมต่อ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการเครือข่าย ซึ่งรวมถึงสื่อทางการอย่าง เมียนมาโพสต์ และเทเลคอมมิวนิเคชั่น (เอ็มพีที) รวมถึงผู้ให้บริการระหว่างประเทศอย่าง เทเลนอร์ ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่า กลไกที่ได้รับคำสั่งจากส่วนกลาง พุ่งเป้าไปที่บริการโทรศัพท์มือถือและบริการโทรศัพท์ขั้นพื้นฐาน

ธนาคารหลายแห่งในเมียนมาก็ปิดให้บริการชั่วคราว เนื่องจากปัญหาด้านอินเทอร์เน็ต ตามแถลงการณ์จากสมาคมธนาคารเมียนมา ขณะที่ประธานและคณะทำงานกลางสมาคมธนาคารเมียนมาได้จัดประชุมฉุกเฉินในช่วงเช้าวันจันทร์ และตัดสินใจว่าธนาคารต่าง ๆ ต้องหยุดดำเนินการ จนกว่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะดีขึ้น

ธนาคารในเมียนมาปิด
ชาวเมียนมาเข้าแถวรอธนาคารเปิด (REUTERS/Stringer)

ปฏิกิริยาจากนานาชาติ

การกระทำของกองทัพเมียนมาได้ทำให้เกิดความกังวลและเรียกเสียงประณามจากประชาคมระหว่างประเทศ

“โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้รับฟังข้อมูลสรุปสถานการณ์ในเมียนมาจากที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ “เจค ซัลลิแวน” ตามข้อมูลจากแถลงการณ์ของ “เจน ซากี” เลขาธิการทำเนียบขาว

แถลงการณ์ทำเนียบขาวระบุด้วยว่า “สหรัฐฯ คัดค้านความพยายามใด ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา หรือการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของเมียนมา และจะดำเนินการต่อต้านผู้ที่รับผิดชอบ หากไม่มีการยกเลิกการกระทำเหล่านี้” นอกจากนี้ยังระบุว่า “เรากำลังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

ด้านออสเตรเลียได้ออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัว “ซูจี” และผู้นำอาวุโสคนอื่น ๆ ที่ถูกกองทัพควบคุมตัว โดยทันที

ในแถลงการณ์จากกระทรวงต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย “มาริส เพย์น” รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศและการค้า กล่าวว่า รัฐบาลออสเตรเลียมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อรายงานที่กองทัพเมียนมา พยายามยึดอำนาจควบคุมเมียนมาอีกครั้ง

“เราขอเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาเคารพหลักนิติธรรม เพื่อยุติข้อพิพาทผ่านกลไกที่ชอบด้วยกฎหมาย และปล่อยตัวผู้นำพลเรือนและคนอื่น ๆ ที่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมายทันที” ข้อความบางส่วนจากแถลงการณ์

ด้านกระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซียได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมา ระบุผ่านแถลงการณ์โดยเน้นย้ำว่า ผลต่างทั้งหมดในการเลือกตั้งจะต้องได้รับการแก้ไขตามกลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมาใช้ความยับยั้งชั่งใจและหันหน้าพูดคุยกันเพื่อหาทางออก ไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลง

ทำไมต้องรัฐประหารตอนนี้?

การรัฐประหารอย่างกระทันหันได้สร้างความประหลาดใจแก่ผู้สังเกตการณ์หลายคน ซึ่งมองว่ากองทัพมีอำนาจล้นฟ้าอยู่แล้ว

เมื่อปี 2551 คณะผู้นำการปกครองได้ร่างรัฐธรรมนูญโดยจัดสรรที่นั่งในสภานิติบัญญัติ 25% ให้แก่กองทัพ รวมทั้งควบคุมกระทรวงหลัก ๆ อย่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ทั้งยังสามารถใช้อำนาจยับยั้งหรือวีโต้การแก้ไขบทบัญญัติใด ๆ ในรัฐธรรมนูญ

“ทอม แอนดรูส์” ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ กล่าวกับซีเอ็นเอ็นว่า การรัฐประหารครั้งนี้เป็นปริศนาอย่างแท้จริง

“พวกเขาเขียนรัฐธรรมนูญ ที่พวกเขาเพิ่งล้มล้าง มันทำให้พวกเขามีอำนาจมหาศาล ทั้งอำนาจเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมือง” เขากล่าวและว่า นี่เป็นเหตุผลที่การคว่ำรัฐธรรมนูญของกองทัพเป็นเรื่องเหลือเชื่อมาก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กองทัพพยายามที่จะคลายความกังวลเรื่องการยึดอำนาจ โดยกล่าวว่า กองทัพจะปกป้องและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ตามการรายงานของรอยเตอร์ส

“แอนดรูส์” กล่าวว่า การกระทำของกองทัพได้สร้างความเสียหายอย่างยิ่ง และเกิดขึ้นในเวลาที่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศกำลังเผชิญความยากลำบากอย่างมากจากการระบาดของโควิด

“ผู้คนในเมียนมาต้องผ่านอะไรมากมาย พวกเขาใช้ชีวิตภายใต้การปกครองที่โหดร้ายของทหารมานานหลายทศวรรษ พวกเขากำลังเผชิญกับโรคระบาด เศรษฐกิจในประเทศก็อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ จึงเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมอย่างเหลือเชื่อที่พวกเขาจะต้องเจอเรื่องนี้อีก”