สงครามหุ้น ‘เกมสต็อป’ ระวังปรากฏการณ์ ‘ตายหมู่’

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ปรากฏการณ์ขับเคี่ยวกันระหว่างนักลงทุนสมัครเล่นที่รวมหัวกันเล่นงานบรรดาขาใหญ่ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีตยังไม่จบ แม้เริ่มมีคำถามเกิดขึ้นแล้วว่า งานนี้ ใครได้ใครเสีย ใครผิดใครถูกกันแน่
เพราะแค่ยกแรกที่กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ก็เล่นเอาหัวร้างข้างแตกตาม ๆ กันไปแล้วหลายราย
บรรดานักลงทุนรายย่อยที่ไม่มีเงินถุงเงินถัง รวมหัวกันโดยอาศัยฟอรัมแชตและโซเชียลมีเดียเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเคล็ดลับ กำหนดเวลาการซื้อการขายกันในกลุ่มพวกเดียวกัน

โดยมีเป้าหมายร่วมอันเดียวกันคือ ดันราคาหุ้นที่ถูกบรรดาขาใหญ่ทั้งหลายกะเก็งกันว่าเป็นหุ้นชนิดไม่มีอนาคต ราคามีแต่จะรูดลงเรื่อย ๆ แล้วทำ “ชอร์ตเซล” เอาไว้มหาศาล ให้พุ่งสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ

บีบให้กองทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกองทุนประเภทเฮดจ์ฟันด์ ต้องกัดฟันเข้ามาไล่ซื้อเมื่อหุ้นเหล่านั้นราคาสูงขึ้นมากกว่าที่คาดหมายไว้

นั่นคือกระบวนการง่าย ๆ ที่ทำให้กลุ่มนักลงทุนรายย่อยที่เป็นสมาชิกฟอรัม “วอลล์สตรีตเบ็ตส์” ในเว็บไซต์ “เรดดิต” สามารถดันราคาหุ้นของบริษัท เกมสต็อป จากระดับไม่ถึง 20 ดอลลาร์ ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ให้พุ่งถึงเกือบ 350 ดอลลาร์ เมื่อ 27 มกราคมที่ผ่านมา แล้วทะลุ 400 ดอลลาร์ ในอีกวันสองวันให้หลัง

เป็นการแก้เผ็ดที่พวกตนตกเป็นเหยื่อ หลายคนหมดเนื้อหมดตัวเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ที่บรรดาขาใหญ่เทขายทำตลาดตกต่ำเป็นประวัติการณ์ท่ามกลางสถานการณ์โควิด

ที่สะใจบรรดารายย่อยทั้งหลายก็คือ การได้ใช้กรรมวิธีของขาใหญ่นั่นแหละมาเล่นงานเฮดจ์ฟันด์ทั้งหลายเอง สอนบทเรียนให้ตระหนักว่า ผลของการครอบงำตลาดเพื่อชี้นำทิศทางหุ้นนั้นเป็นอย่างไร

ว่ากันว่า นับจนถึงวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา อันเป็นวันทำการสุดท้ายของตลาด ปรากฏการณ์วอลล์สตรีตเบ็ตส์สามารถสร้างความเสียหายให้กับบรรดานักลงทุนสถาบันและเฮดจ์ฟันด์แล้วไม่น้อยกว่า 19,000 ล้านดอลลาร์

เฮดจ์ฟันด์หลายรายเจ็บหนัก อย่างเช่น พอยต์72 ของ “สตีฟ โคเฮน” ที่ตลอดเดือนมกราคมสินทรัพย์หดหายไปไม่น้อยกว่า 15% หรือดีวัน แคปิตอล แมเนจเมนต์ ที่เจ๊งไปถึง 20% แต่ยังดีกว่า “เมลวิน แคปิตอล” ของเก๊บ พล็อทกิน ที่หายไปมากถึง 30%

ส่วนของรายย่อยไม่ต้องพูดถึง ใครที่เข้าไปผิดจังหวะลงมือตอนตลาดวาย ก็เจ๊งไปตามระเบียบ

จอร์แดน เบลฟอร์ท “เดอะ วูลฟ์ ออฟ วอลล์สตรีต” ตัวจริง ถึงกับออกปากชื่นชมว่า ปรากฏการณ์ครั้งนี้ทั้งชวนตะลึงและอัศจรรย์ไปพร้อม ๆ กัน เพราะในทัศนะของเขานั้น เฮดจ์ฟันด์เล่นงานบรรดารายย่อยสาหัสมานานมากแล้ว

ปัญหาก็คือ คนที่บาดเจ็บไม่ได้เป็นเพียงแค่บรรดานักลงทุนสถาบัน หรือเฮดจ์ฟันด์ ทั้งหลายเท่านั้น ตลาดโดยรวมก็พลอยป่วนตามไปด้วย นักลงทุนทั่วไปต้องพลอยฟ้าพลอยฝน เพราะบรรดาเฮดจ์ฟันด์ต้องเทขายหุ้นอื่น ๆ ในมือออกมาเพื่อชดเชยการสูญเสียในสงครามหุ้นครั้งนี้

ในเวลาเดียวกัน รายย่อยทั้งหลายก็เริ่มหันมาดันราคาหุ้นอื่น ๆ มากขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ “เอเอ็มซี เอนเตอร์เทนเมนต์” ซึ่งเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์เครือ “โอเดียน ซิเนมา” (ที่ถูกมองว่าไร้อนาคต) ในสหรัฐอเมริกา หรืออเมริกันแอร์ไลน์ เป็นต้น

เป็นเหตุให้บรรดาผู้กำกับดูแลก็เริ่มจับตามองมากขึ้นตามลำดับ แต่เบลฟอร์ทเชื่อว่าคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (เอสอีซี) ของสหรัฐอเมริกาคงไม่เล่นงาน ดำเนินคดีกับรายย่อยเป็นแน่ แม้จะเข้าข่าย “ปั่น” อันเป็นการกระทำผิดกฎหมายก็ตาม

“เอลิซาเบธ วอร์เรน” วุฒิสมาชิกระดับบิ๊กของเดโมแครต ซึ่งจ้องจะขึ้นภาษีเฮดจ์ฟันด์ทั้งหลายอยู่ก่อนแล้ว เชื่อว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือสัญญาณของการ “บิดเบือนตลาด” ที่ส่อให้เห็นว่ามีการกระทำผิดกฎหมายอยู่ในคู่สงครามทั้งสอง ฝ่าย ซึ่งจำเป็นต้อง “จัดการ” ก่อนที่จะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ทำให้การไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนี้ในรัฐสภาสหรัฐต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดต่อไป ว่าจะลงเอยแบบใด

ในส่วนของเบลฟอร์ท ที่เคยติดคุกมาแล้ว 22 เดือน จากกรณีฉาว “เพนนีสต็อก” เขากลับไม่เป็นห่วงบรรดาเฮดจ์ฟันด์ทั้งหลายเท่าใดนัก แต่เตือนรายย่อยทั้งหลายให้ระวังตัวให้จงหนัก เมื่อตัดสินใจกระโจนลงสงครามครั้งนี้

เบลฟอร์ทเตือนว่า เฮดจ์ฟันด์และขาใหญ่ทั้งหลายต้อง “เอาคืน” จากกรณีนี้แน่นอน ด้วยศักยภาพที่สูงกว่า การวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งกว่า

และแทบจะแน่ใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า สงครามหนนี้ไม่มีวันลงเอยด้วยดีแน่ ๆ

แต่จะมีคนเป็นจำนวนมากที่กลายสภาพเป็นเหยื่อ “ตายเกลื่อน” แน่นอน