สมาร์ทโฟน “หัวเว่ย” วืด-ผลกระทบ “สหรัฐ”

ตัวเลขยอดส่งออกสมาร์ทโฟนของ “หัวเว่ย” ทั่วโลกช่วงไตรมาส 4/2020 อยู่ที่เพียง 33 ล้านเครื่อง ลดฮวบถึง 41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่เคยเป็นบริษัทที่ส่งออกสมาร์ทโฟนอันดับ 1 เมื่อไตรมาส 2/2020 กลับตกลงมาอยู่อันดับ 6 ตามหลังสมาร์ทโฟนจีนอย่าง “ออปโป้” และ “วีโว่” ขณะที่ “แอปเปิล” และ “ซัมซุง” ก็ทิ้งห่างออกไป

“แอมเบอร์ ลิว” นักวิเคราะห์ศูนย์วิจัยคานาลิซ รีเสิร์ช ระบุว่าส่วนแบ่งตลาดของ “หัวเว่ย” ในหลาย ๆ ประเทศลดลง จากที่ถูกสหรัฐอเมริกา “คว่ำบาตร”

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า จากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ มีผลทำให้ยอดขายสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยในต่างประเทศลดลงอย่างมาก

หลังจากปี 2019 “โดนัลด์ ทรัมป์” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ขึ้น “บัญชีดำ” บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ห้ามไม่ให้หน่วยงานสหรัฐซื้อหรือใช้งานอุปกรณ์ของหัวเว่ย รวมทั้งไม่ให้เอกชนของสหรัฐอเมริกา จัดซื้อหรือใช้อุปกรณ์เครือข่ายสื่อสารของหัวเว่ย รวมถึงไม่ให้บริษัทสหรัฐเป็นซัพพลายเออร์ให้กับหัวเว่ยอีกด้วย

เท่ากับว่าเป็นการปิดตลาดสหรัฐอเมริกาโดยสิ้นเชิง ตามความกังวลของทรัมป์ที่ว่าบริษัทเทคโนโลยีจีนรายนี้ มีความเชื่อมโยงหรืออาจสร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงแห่งชาติ เพราะมองว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะใช้บริษัทเทคโนโลยีเข้ามาสอดแนมข้อมูลของสหรัฐได้

จากที่สมาร์ทโฟน “หัวเว่ย” ไม่สามารถใช้งานระบบปฏิบัติการ “แอนดรอยด์” ของกูเกิลได้ เนื่องจากเป็นบริษัทของสหรัฐอเมริกา ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อหัวเว่ย และเป็นปัญหาหลักที่ทำให้สมาร์ทโฟนหัวเว่ย ขยายฐานลูกค้าต่างประเทศได้ลดลง เพราะผู้บริโภคไม่คุ้นชินกับระบบปฏิบัติการอื่น นอกเหนือจากแอนดรอยด์และไอโอเอสของแอปเปิล

ล่าสุดเมื่อ 9 ก.พ. 2021 “เหริน เจิ้งเฟย” ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ “หัวเว่ย” ได้ให้สัมภาษณ์สื่อระหว่างร่วมงาน “หัวเว่ย” เปิดห้องปฏิบัติการใหม่ด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ในเมืองไท่หยวนทางตอนเหนือของจีน

เจิ้งเฟยคาดหวังว่าสหรัฐอเมริกาภายใต้รัฐบาลของ “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน จะมีนโยบายที่ “ต้อนรับ” หัวเว่ยกลับเข้าสู่สหรัฐ โดยระบุว่าต้องการให้รัฐบาลของไบเดน คำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทอเมริกัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการไม่สามารถทำการค้ากับหัวเว่ย โดยธุรกิจและเศรษฐกิจของสหรัฐจะได้ประโยชน์อย่างมาก หากยกเลิกการแบนหัวเว่ย โดยเฉพาะการที่ผู้ประกอบการสหรัฐจะสามารถกลับมาเป็นซัพพลายเออร์ให้กับหัวเว่ย

“หมายถึงหัวเว่ยจะสามารถสั่งซื้อชิ้นส่วนประกอบ รวมทั้งอุปกรณ์จำนวนมากจากสหรัฐอเมริกา เพื่อที่เราทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของจีน” ซีอีโอหัวเว่ยกล่าว

พร้อมย้ำว่าส่วนแบ่งตลาดของบริษัทชิปสหรัฐอย่าง “อินเทล” ลดลงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา แน่ใจหรือไม่ว่าไม่อยากเข้ามาเป็นซัพพลายเออร์ให้กับหัวเว่ย

แม้จะมีความยากลำบากต่อธุรกิจสมาร์ทโฟนในสหรัฐและบางประเทศในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เช่นสหราชอาณาจักร ซึ่งปิดกั้นหัวเว่ยจากตลาด 5G แต่เจิ้งเฟยยังมั่นใจว่ากิจการอื่น ๆ ของบริษัทอย่างกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีเพื่อการขุดเหมือง หรือระบบ “ไอโอที” (IOT) สำหรับสนามบินเพื่อสร้าง “สมาร์ทแอร์พอร์ต” จะมาสร้างยอดขายทดแทนได้ ทำให้ปีที่ผ่านมาบริษัทยังมีรายได้และกำไรสุทธิที่เติบโต

โกลบอลไทม์รายงานว่า ปี 2020 “หัวเว่ย เทคโนโลยีส์” สามารถทำรายได้รวม 1.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.2% จากปีก่อนหน้า และกำไรสุทธิ 9.9 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10.4%