วัคซีนชาตินิยม อุปสรรคฟื้นเศรษฐกิจโลก

วัคซีนโควิด-19 เป็นความหวังของผู้คนที่จะสามารถเดินทางข้ามพรมแดนได้ แต่ความไม่มั่นใจในวัคซีนของผู้ผลิตบางราย โดยเฉพาะวัคซีนจีน ส่งผลให้ชาติตะวันตกบางประเทศยังไม่ยอมรับ “วัคซีนจีน” และเป็นข้อจำกัดด้านการเดินทางที่ตอกย้ำการแบ่งขั้วอำนาจระหว่างจีนกับชาติตะวันตก

บลูมเบิร์กรายงานว่า แม้ว่าหลายประเทศทยอยฉีดวัคซีนโควิดแล้ว แต่บางประเทศยังมีท่าทีไม่ยอมรับวัคซีนจีน เช่น “ซิโนแวค ไบโอเทค” โดยเฉพาะสหรัฐและประเทศในยุโรปตะวันตก

“ยุโรป” กำลังพิจารณาอนุมัติให้เฉพาะชาวอเมริกันที่ได้วัคซีนที่ผ่านการรับรองของ “องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป” สามารถเดินทางเข้ามาในสหภาพยุโรปได้ในช่วงฤดูร้อนของยุโรปที่จะถึงนี้

ขณะที่จีนผ่อนปรนข้อจำกัดการเดินทาง อนุญาตให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนจีนสามารถเดินทางเข้าจีนแผ่นดินใหญ่ได้ตั้งแต่ มี.ค.ที่ผ่านมา โดยไม่ต้องหาเชื้อและไม่ต้องแจ้งไทม์ไลน์ ส่วนผู้ที่รับวัคซีนรายอื่นยังคงตามระเบียบเดิม

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้วัคซีนเป็นตัวกำหนดว่า ผู้คนจะสามารถเดินทางไปยังประเทศใดได้บ้าง ทำให้หลายคนต้องเลือกว่าจะฉีดวัคซีนของผู้ผลิตรายใดให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเดินทาง สร้างความยากลำบากให้กับชาวตะวันตกที่ต้องการเดินทางไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงชาวจีนที่ต้องการเดินทางไปยังสหรัฐและยุโรป และอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในระยะยาว

“นิโคลัส โทมัส” ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ มหาวิทยาลัยเมืองฮ่องกง ระบุว่า การแบ่งกลุ่มผู้คนทั่วโลกตามการได้รับวัคซีนจะส่งผลให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเมืองทวีความรุนแรงขึ้น เพราะเสี่ยงที่โลกจะถูกแบ่งแยกด้วยวัคซีนตามกระแสชาตินิยม มากกว่าอิงจากทางการแพทย์

แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามในระดับนานาชาติในการใช้ “วัคซีนพาสปอร์ต” เพื่อยืนยันการได้รับวัคซีนสำหรับผู้เดินทาง แต่ยังไม่มีผลเป็นรูปธรรม เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่าประเทศต่าง ๆ จะรับรองวัคซีนอย่างเป็นสากลอย่างไร จากขณะนี้ที่มีผู้ผลิตวัคซีนโควิดอย่างน้อย 11 รายทั่วโลก ขณะที่เชื้อไวรัสที่ยังคงกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องก็ยังสร้างคำถามตามมาว่า วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถรับมือได้หรือไม่

“เกอร์ กิบส์” ประธานหอการค้าอเมริกันเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า การที่ชุมชนได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่สูงเพียงพอเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการยอมรับวัคซีนทางเลือก เพื่อนำไปสู่การลดข้อจำกัดด้านพรมแดนที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจในขณะนี้

ขณะที่ “อีเทอร์ หยิน” ผู้เชี่ยวชาญนโยบายบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนทริเวียม ไชน่า ระบุ “หากมองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ยังคงไม่เห็นว่าชาติตะวันตกจะยอมรับวัคซีนจีนเร็ว ๆ นี้ ขณะเดียวกันจะไม่เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเดินทางทั่วโลกอย่างแท้จริง หากไม่รับรองวัคซีนจีนและอีกหลายสิบประเทศที่ใช้วัคซีนของผู้ผลิตจีน”