หนี้ท่วม ! แต่ทำไมเศรษฐกิจญี่ปุ่น ยังแข็งแกร่ง

ญี่ปุ่น
อัพเดต 30 ธ.ค.2564
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ย้อนกลับไปในยุคทศวรรษ 1980 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นรุ่งเรืองสุดขีด ถึงขนาดทำให้เกิดความกังวลกันว่าจะครอบงำเศรษฐกิจของทั้งโลกไว้ในกำมือ

ญี่ปุ่นเริ่มมีปัญหาในทศวรรษ 1990 เมื่อฟองสบู่เศรษฐกิจแตกดังโพละ หนี้ภาครัฐพุ่ง ภาวะเงินฝืดก่อตัวแล้วครอบงำไปทั่วทั้งประเทศ

หลายคน โดยเฉพาะนักวิชาการในซีกโลกตะวันตกเชื่อว่า “ภาวะหนี้” ที่ญี่ปุ่นมีอยู่ไม่สามารถยั่งยืนได้ สิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันก็คือ ธนาคารกลางของญี่ปุ่น (บีโอเจ) ควรมุ่งมั่นมากขึ้นเพื่อกระตุกภาวะเงินเฟ้อในประเทศให้ถีบตัวสูงขึ้นให้ได้ อันเป็นที่มาของการออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินครั้งใหญ่ในปี 2013 ของบีโอเจ ภายใต้การนำของผู้ว่าการ “ฮารุฮิโกะ คุโรดะ”

ผลก็คือ ภาระหนี้ของญี่ปุ่นพุ่งพรวดขึ้นไปอยู่ในระดับ 230% ของจีดีพี

ที่น่าสนใจก็คือ วิกฤตที่ทุกคนคาดว่าจะเกิดขึ้นกลับไม่ปรากฏให้เห็น แต่ในเวลาเดียวกัน “ภาวะเงินเฟ้อ” ก็ยังห่างไกลเป้าหมาย ซึ่งวางไว้ที่ 2% อยู่อีกมากเช่นกัน

ยิ่งเน้นให้เห็นชัดเจนถึงสภาวะที่นักวิชาการเรียกว่า “secular stagnation” หรือสภาพเศรษฐกิจเสื่อมถอยเรื้อรังของญี่ปุ่น

อดัม โพเซน นักวิชาการของสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (พีไอไออี) ให้ความเห็นไว้ใน ดิ อีโคโนมิสต์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า กลับกลายเป็นว่าหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหา แม้ว่าจะแกว่งตัวอยู่เหนือระดับ 100% ของจีดีพีมาต่อเนื่องกันเกือบ 25 ปีก็ตาม

“ญี่ปุ่นบังคับให้ทุกคนเผชิญกับความเป็นจริงที่ว่า อัตราดอกเบี้ยสามารถอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เป็นเวลานาน ๆ ได้” โพเซนบอก

ข้อเท็จจริงที่ว่า หนี้แทบทั้งหมดของญี่ปุ่นเป็นเงินสกุลเยนภายในประเทศ ช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ทั้งหมด ข้อสังเกตของเดวิด ไวน์สไตน์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ก็คือ ญี่ปุ่นยังควบคุมรายจ่ายได้ดีอีกด้วย แถมอัตราภาษียังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีช่องให้สามารถเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นได้ในอนาคต

แต่ภาวะเงินฝืดก็ยังเป็นปัญหาอยู่ดี บีโอเจภายใต้การกำกับของคุโรดะ ทำทุกอย่าง ตั้งแต่การผ่อนคลายเชิงปริมาณ, การตั้งเป้าเงินเฟ้อ เรื่อยไปจนถึงการระดมซื้อสินทรัพย์ ก็เพียงแค่ดึงญี่ปุ่นออกจากภาวะเงินฝืดได้เล็กน้อยเท่านั้น

การยกระดับภาวะเงินเฟ้อให้สูงขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ทุกคนคาดหวังว่าเงินเฟ้อจะยังต่ำเตี้ยอยู่ที่ใกล้กับศูนย์ต่อไป เป็นเรื่องยากมาก ๆ สภาพสังคมสูงอายุ, การหดตัวของประชากร ยิ่งถ่วงให้อุปสงค์ลดลง ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อตามไปด้วย

แม้แต่อัตราค่าจ้างก็ไม่ได้ถีบตัวสูงขึ้นมากมายนัก ทั้ง ๆ ที่ตลาดแรงงานตึงตัวอย่างยิ่ง เนื่องจากบริษัทธุรกิจหันไปว่าจ้างพนักงานแบบ “ไม่ประจำ” ด้วยสัญญาพาร์ตไทม์แทน จนมีสัดส่วนสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงานทั้งหมดไปแล้ว

แรงงานสตรีหลายคนจำกัดเวลาทำงานของตัวเองเพื่อจำกัดรายได้ให้อยู่ในระดับที่สามารถลดภาษีสำหรับคู่แต่งงานที่รายได้รวมไม่ถึงระดับที่กำหนดอีกด้วย

ประเด็นน่าสนใจที่ “ดิ อีโคโนมิสต์” ชี้ให้เห็นไว้ก็คือ ในขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของญี่ปุ่นยังต่ำเตี้ย แต่การขยายตัวเมื่อคิดเป็นอัตราต่อหัวประชากรญี่ปุ่นก็ขยับขึ้นมาอยู่ในระนาบเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มจี 7 ด้วยกันแล้ว อัตราว่างงานยังเล็กน้อยมาก, ช่วงอายุของประชากรขยับเพิ่มสูงขึ้น และความเหลื่อมล้ำในประเทศยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

นั่นคือความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ที่ดูเหมือนเกินคาดหมายของหลายคนนัก

แน่นอนเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีปัญหา แต่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นเองก็ยืนยันว่า ยังคงมีทางออก ทางแก้ปัญหาอีกหลายอย่างที่รัฐบาลสามารถนำมาใช้ได้ เริ่มตั้งแต่การใช้งบประมาณภาครัฐ รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดให้พุ่งเป้าไปที่การเติบโตในระยะยาวให้มากขึ้น, การเพิ่มพูนผลิตภาพ หรือการแก้ปัญหาภาวะประชากรหดตัวด้วยนวัตกรรม เป็นต้น แม้กระทั่งการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจก็สามารถช่วยได้หากสนใจจะทำกันจริงจัง

ข้อคิดอีกประการก็คือ ภาวะเศรษฐกิจเสื่อมถอยเรื้อรัง ที่หมายถึงภาวะเงินเฟ้อต่ำ ภาวะดอกเบี้ยต่ำ และการเติบโตต่ำ กำลังส่อเค้าว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่นเดียวกับการเผชิญกับสังคมสูงอายุที่ญี่ปุ่นพานพบมาก่อนหน้า

ถึงตอนนั้น บทเรียนของญี่ปุ่นอาจกลายเป็นบทเรียนล้ำค่าก็เป็นได้