จีนผุดแพลตฟอร์ม NFT ควบคุมได้-ตัดขาดคริปโท

จีน

เทคโนโลยี “บล็อกเชน” เปิดโอกาสให้สินทรัพย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในโลกดิจิทัล ผ่านการซื้อขายเก็งกำไรในรูปแบบของโทเค็นที่ไม่สามารถทดแทนกันได้ (nonfungible token) หรือ “เอ็นเอฟที” ซึ่งแม้แต่ประเทศที่ปฏิเสธคริปโทเคอร์เรนซีโดยเด็ดขาดอย่าง “จีน” ก็ไม่พลาดที่จะเปิดช่องทางสำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเอ็นเอฟทีภายในประเทศ แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า “บล็อกเชน-เบสด์ เซอร์วิส เน็ตเวิร์ก” (Blockchain-Based Service Network) บริษัทผู้พัฒนาและให้บริการเครือข่ายบล็อกเชนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ประกาศเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อทดลองเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานรองรับอุตสาหกรรมเอ็นเอฟทีทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565

โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวเรียกว่า BSN-distributed digital certificate หรือ BSN-DDC โดยเป็นระบบที่รองรับการจัดการเอ็นเอฟทีครบวงจร ตั้งแต่การแปลง (mint) สินทรัพย์ให้กลายเป็นเอ็นเอฟที ไปจนถึงการซื้อขายแลกเปลี่ยน

ทั้งนี้ เอ็นเอฟที หมายถึง สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่ไม่สามารถทดแทนกันได้หรือมีเพียงชิ้นเดียวในโลก ดังนั้นผลงานศิลปะหรือดิจิทัลอาร์ต จึงได้รับความนิยมแปลงให้อยู่ในรูปของเอ็นเอฟที เพื่อแสดงสิทธิของผู้ครอบครองและสามารถซื้อขายเก็งกำไรได้ ซึ่งปัจจุบันเอ็นเอฟทีส่วนใหญ่ในระบบบล็อกเชนของ “อีเทอเรียม” ที่ซื้อขายกันได้ทั่วโลกด้วยคริปโทเคอร์เรนซี

อย่างไรก็ตาม ระบบของอีเทอเรียม รวมถึงบล็อกเชนสาธารณะอื่น ๆ เป็นสิ่งผิดกฎหมายในจีน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีการเงินแบบไม่รวมศูนย์ (decentralized finance : DeFi) ที่ทางการไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งขัดต่อกฎหมายของจีนที่กำหนดให้ผู้ใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตต้องแสดงตัวตน และหน่วยงานกำกับดูแลสามารถแทรกแซงระบบได้ กรณีที่พบการกระทำผิดกฎหมาย

สำหรับแพลตฟอร์ม BSN-DDC ถูกพัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยี “บล็อกเชนที่ได้รับอนุญาตแบบเปิด” ซึ่งเป็นการดัดแปลงระบบบล็อกเชนจากที่ไม่มีการรวมศูนย์ ให้กลายเป็นเครือข่ายบล็อกเชน
ที่มีศูนย์กลางและมีผู้ควบคุมดูแล แต่ยังคงเปิดกว้างต่อสาธารณะ เพียงแต่ผู้ใช้งานจะต้องแสดงตัวตนและได้รับอนุญาตจากผู้ดูแลจึงจะสามารถเข้าถึงระบบได้

นอกจากนี้ ระบบ BSN-DDC ยังตัดขาดจากโลกคริปโทเคอร์เรนซี โดยจะรองรับเฉพาะสกุลเงินที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายโดยรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งหมายถึง “เงินหยวน” เป็นหลัก โดยค่าธรรมเนียมในการแปลงสินทรัพย์เป็นเอ็นเอฟทีจะอยู่ที่ราว 0.05 หยวน/รายการ

BSN-DDC มีแผนจะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการและเปิดเผยรายละเอียดการกำกับดูแลในช่วงปลายเดือน มี.ค. 2022 โดยคาดว่าจะมีเอ็นเอฟทีในระบบกว่า 10 ล้านรายการหลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ บีเอสเอ็นได้รับการสนับสนุนจากรัฐวิสาหกิจจีนหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น “ไชน่า โมบาย” ผู้ให้บริการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ “ไชน่า ยูเนียนเพย์” ผู้ให้บริการทางการเงิน รวมถึงศูนย์กลางข้อมูลแห่งรัฐจีนและผู้ร่วมก่อตั้งอีก 26 ราย

การเปิดตัวบีเอสเอ็น-ดีดีซีเป็นส่วนหนึ่งในการขยายตัวของอุตสาหกรรมเอ็นเอฟทีในประเทศจีน ซึ่งที่ผ่านมามีหลายบริษัทเปิดตัวเอ็นเอฟทีในฐานะ “ของสะสมดิจิทัล” ไม่ว่าจะเป็นแอนต์กรุ๊ป, เทนเซ็นต์, เจดีดอตคอม และไป่ตู้ แม้แต่สำนักข่าวของรัฐอย่าง “ซินหัว” ก็มีเอ็นเอฟทีเป็นของตนเอง

แม้ว่ารัฐบาลจีนจะปิดกั้นอุตสาหกรรม คริปโทเคอร์เรนซี แต่เอ็นเอฟทีไม่ได้เป็นสิ่งต้องห้าม และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างมากในจีน ภายใต้ระบบบล็อกเชนที่ได้รับการควบคุมดูแล