อดีตนายแบงก์รัสเซีย ขั้วตรงข้ามรัฐบาลปูติน รับอานิสงส์โลกคว่ำบาตร

ธนาคารกลางรัสเซีย
หน้าที่ทำการธนาคารกลางรัสเซีย ในกรุงมอสโก REUTERS//File Photo

แม้การคว่ำบาตรรัสเซียจะส่งผลให้ทรัพย์สินของเศรษฐีรัสเซียหลายรายถูกอายัติไว้ แต่สำหรับอดีตเศรษฐีและนายแบงก์บางคนที่ถูกระบุว่า ทำผิดกฎหมายในรัสเซีย และถูกผลักให้อยู่นอกประเทศ กลับได้รับประโยชน์จากการคว่ำบาตรครั้งนี้และทำให้ทรัพย์สินพวกเขาได้รับการกอบกู้คืนมา 

วันที่ 13 มิถุนายน 2565 เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล เผยแพร่รายงานพิเศษเรื่อง แซงก์ชั่นช่วยนายแบงก์รัสเซียบางคนรอด จากการถูกรัฐบาลติดตามยึดทรัพย์

โดยระบุว่า แม้รัฐบาลรัสเซียพยายามอย่างมากเพื่อติดตามทรัพย์สินและยืดทรัพย์เหล่านี้ ซึ่งรัฐบาลอ้างว่า เกิดจากการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมาย และจะนำทรัพย์สินนี้มาไว้เป็นของรัฐ แต่มาตรการคว่ำบาตร หรือ แซงก์ชั่นที่เกิดขึ้น เพื่อกดดันรัฐบาลมอสโกจากการรุกรานยูเครน กลับเป็นการช่วยนักธุรกิจเหล่านี้ในอีกด้านหนึ่ง

“การรุกรานยูเครนของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินเป็นจุดเปลี่ยนให้เกิดการจัดระเบียบความมั่งคั่งของเศรษฐีรัสเซียในระดับโลก การคว่ำบาตรโดยชาติตะวันตกมุ่งเป้าหมายไปที่มหาเศรษฐีรัสเซียในประเทศ ผ่านการอายัติทรัพย์สินของพวกเขาในต่างประเทศ เช่น เรือยอชต์ อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงงานศิลปะต่าง ๆ”

“แต่ในอีกด้านหนึ่ง เศรษฐีรัสเซียที่อยู่นอกวงจรนี้ โดยเฉพาะอดีตนายแบงก์เกือบ 12 คนที่อาศัยอยู่นอกรัสเซีย และถูกรัฐบาลรัสเซียติดตามดำเนินคดียึดทรัพย์ กลับได้รับอานิสงส์จากการคว่ำบาตร ทำให้บ้าน รถ และชื่อเสียงของพวกเขาที่ถูกรัฐบาลมอสโกยึดและทำลาย ได้รับการกอบกู้กลับมาอีกครั้ง”

เป็นเวลาหลายปีที่รัฐบาลรัสเซียติดตามมหาเศรษฐี ซึ่งถูกระบุว่า ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ผ่านการดำเนินการในศาลของประเทศตะวันตก เพื่อนำทรัพย์สินและความมั่งคั่งของคนเหล่านี้กลับมาสู่เคลมลิน เนื่องจากรัฐบาลระบุว่า เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย

แต่สถานการณ์ปัจจุบัน กลับทำให้อดีตนายแบงก์เหล่านี้ซึ่งรัฐบาลเคลมลินระบุว่าเป็นผู้ให้กู้ที่ทุจริต ทำผิดกฎหมาย กลับได้ประโยชน์จากการคว่ำบาตรที่พุ่งเป้ากดดันรัฐบาลรัสเซีย

เมื่อพบว่า ทนายที่ทำหน้าที่ตัวแทนของรัฐบาลรัสเซียในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับนายแบงก์เหล่านี้ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และยุโปร กำลังลาออก ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติในสหรัฐ และสหราชอาณาจักรให้ความเห็นใจอดีตนายแบงก์เหล่านี้ ได้ทำให้การคว่ำบาตรเป็นประโยชน์กับพวกเขาเพิ่มขึ้น

ตัวอย่างคดีเซอร์เกย์ เบลยาฟ อดีตนายแบงก์ เจ้าของ NBT

เซอร์เกย์ เบลยาฟ อดีตเจ้าของธนาคาร National Bank Trust หรือ NBT ในรัสเซีย คือตัวอย่างคดีหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์จากรัฐบาลรัสเซียถูกคว่ำบาตร

เนื่องจากเมื่อปี 2557 ธนาคาร NBT ของเขาถูกธนาคารกลางรัสเซียยึดกิจการ พร้อมถูกฟ้องร้องยึดทรัพย์สิน ต่อมานายเบลยาฟร้องต่อศาลเซาท์แคโรไลนา ในสหรัฐอเมริกา เพื่อเรียกร้องให้ศาลแพ่งลอนดอนคืนเงิน 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่เขาและผู้ร่วมก่อตั้ง NBT 2 ราย โดยอ้างว่า เพราะชนะคดี

พร้อมกับอ้างว่า การกระทำยึดทรัพย์สินของนักธุรกิจแบบนี้โดยรัฐบาลรัสเซีย ยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟของสงคราม

ทั้งนี้ นายเบลยาฟ เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ถูกรัฐบาลรัสเซียใช้อำนาจเข้ายึดกิจการ ด้วยเหตุผลที่เขาบอกว่าเป็นเหตุผลที่เปราะบางและใช้ประโยชน์จากศาลตะวันตกเพื่อยึดทรัพย์สินของพวกเขา

ขณะที่รัฐบาลรัสเซีย ระบุว่า นายเบลยาฟและเจ้าของร่วมธนาคาร NBT ร่วมกันปิดบังธุรกรรมการกู้ยืมเงินที่ธนาคารให้กับบริษัทในเครือของพวกเขา และดำเนินการผิดไปจากมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการธนาคารที่ดี

ส่วนนายเบลยาฟ ปฏิเสธ และบอกว่าไม่รู้เรื่องการที่ธนาคารให้บริษัทของเขากู้ยืมเงิน หรือการปิดบังความจริงต่าง ๆ ส่วนผู้ร่วมก่อตั้ง ก็โต้แย้งยืนยันกับศาลว่า พวกเขาดำเนินธุรกิจภายใต้มาตรฐานการธนาคารของรัสเซีย โดยนายเบลยาฟ ระบุด้วยว่า การกระทำของรัฐบาลรัสเซียขัดต่อผลประโยชน์ของสหรัฐ ในแง่การยอมรับการตัดสินที่อนุญาตให้ธนาคารกลางจัดหาเงินทุนได้

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา นายเบลยาฟถูกเนรเทศไปอยู่ที่ร้ฐคอนเนคติคัต ในสหรัฐ พร้อมกับรับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจและเข้าสู่อาชีพช่างภาพ

ขณะที่ อิลยา ยูรอฟ เจ้าของร่วมธนาคาร NBT ใช้ชีวิตและตั้งรกรากอยู่ในอังกฤษ แต่คฤหาสน์สไตล์โกธิค มูลค่า 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐของเขากำลังถูกประกาศขายให้กับเจ้าหนี้ โดยผู้ดูแลทรัพย์สินจากการล้มละลาย ซึ่งเขาและภรรยามองว่า เงินขายบ้านที่ถูกยืดไปนี้จะนำเข้าสู่เงินทุนสำหรับทำสงคราม

ก่อนหน้านี้ นาตาลิยา ยูโนวา ภรรยาของเขาเขียนจดหมายถึง Mazars บริษัทที่ทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า การดำเนินการดังกล่าวเหมือนจะฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรของสหราชอาณาจักรเพื่อกอบกู้สถานการณ์ในกรณีรัสเซีย ยูเครน และสิ่งที่บริษัททำไม่มีศีลธรรม

ส่วนโฆษกของ Mazars กล่าวว่า บริษัทได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ร่วมสำหรับเจ้าหนี้ของอดีตเจ้าของร่วม NBT สองคนผ่านทางศาลสหราชอาณาจักร และการทำธุรกรรมใด ๆ กับหน่วยงานที่ถูกคว่ำบาตรต้องได้รับอนุญาตจากศาล

เรื่องนี้ คริสติน จาร์ดีน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งสหราชอาณาจักร ได้ผลักดันให้รัฐบาลพิจารณาขยายการคว่ำบาตรต่อ NBT ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้คำพิพากษากับคนเหล่านี้ยากขึ้น

ขณะที่ ธนาคารกลางของรัสเซียถูกคว่ำบาตรในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ NBT และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานประกันเงินฝาก หรือ DIA (Deposit Insurance Agency) กลับสามารถดำเนินการกิจการต่าง ๆ ต่อไปได้

ส่วนโฆษกหญิงของธนาคารกลางของรัสเซีย กล่าวว่าการคว่ำบาตรของประเทศต่าง ๆ จะยิ่งทำให้การเรียกคืนทรัพย์สินเหล่านี้ทำได้ยากมากขึ้น แต่ธนาคารกลางรัสเซียก็จะดำเนินการตามต่อไป และการใช้เงื่อนไขนี้จะยิ่งทำให้อดีตเจ้าของธนาคาร NBT ไม่ต้องรับผิดชอบในคดียักยอกทรัพย์ธนาคารด้วย

“ดังนั้น ศาลและฝ่ายนิติบัญญัติของสหราชอาณาจักรจึงต้องยังคงรักษาหลักการพื้นฐานของการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรมต่อไป เพื่อให้ผู้ฉ้อโกงสามารถถูกดำเนินคดีได้” โฆษก ธนาคารกลางรัสเซีย กล่าว

ธนาคารกลางรัสเซียปัดกวาดธุรกิจแบงก์ขนานใหญ่

ย้อนไประหว่างปี 2557-2561 ธนาคารกลางรัสเซียได้เข้ายึดและปิดกิจการธนาคารในรัสเซียหลายร้อยแห่ง ซึ่งมีผลให้นักลงทุนต่างชาติมองว่า เป็นการยกเครื่องกิจการธนาคารครั้งใหญ่ของรัสเซีย

ขณะที่ มีเสียงวิจารณ์บางส่วนบอกว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการยึดทรัพย์สินที่รัฐบาลต้องการและมอบกิจการธนาคารให้กับธนาคารคู่แข่งผู้ถูกยึดนั้น และกิจการเหล่านี้เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้กับรัฐบาล เป็นเกราะกำบังอันแน่นหนาของเศรษฐกิจรัสเซีย และมีธนาคารในเครือข่ายนี้กว่า 70% ของกิจการธนาคารทั้งหมด

ส่วนสมาชิกสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา สตีฟ โคเฮน (ดี., Tenn.) และจอห์น อาร์. เคอร์ติส (อาร์. ยูทาห์) เขียนจดหมายเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เรียกร้องให้ประธานาธิบดีไบเดน ประกาศการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม เพื่อหยุดการยึดธุรกิจทางการเงินเอกชนของรัสเซีย ด้วยการระบุว่า เป็นการช่วยปกป้องผู้กล้าชาวรัสเซีย ผู้ที่อยู่ตรงข้ามกับปูตินในต่างประเทศ