“จีน” ออกกฎใหม่คุมไซเบอร์สเปซ คุมเข้ม “ข้อมูลข้ามพรมแดน”

‘จีน’ คุมไซเบอร์สเปซ

ความพยายามควบคุมข้อมูลดิจิทัลของรัฐบาล “จีน” ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลัง ความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา ทางการจีนก็ได้ออกกฎระเบียบในการกำกับดูแลไซเบอร์สเปซเข้มงวดมากขึ้น โดยล่าสุดทางการจีนเตรียมออกกฎระเบียบใหม่ เพื่อควบคุมการถ่ายโอนข้อมูลข้ามพรมแดน ซึ่งจะมีผลต่อภาคธุรกิจจำนวนมาก โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติที่จำเป็นต้องส่งออกข้อมูลลูกค้าจีนไปยังต่างประเทศ

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า สำนักงานบริหารไซเบอร์สเปซจีน (CAC) ประกาศเตรียมบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ในวันที่ 1 ก.ย.ที่จะถึงนี้ กำหนดให้การถ่ายโอนข้อมูลที่มีความสำคัญและมีปริมาณมากจากจีนไปยังพื้นที่นอกพรมแดนจะต้องผ่านการตรวจสอบและได้รับอนุญาตจากซีเอซี

กฎระเบียบใหม่นี้จะครอบคลุมบริษัทที่ต้องการถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคลมากกว่า 1 แสนคน จะต้องยื่นขออนุญาตการถ่ายโอนข้อมูลข้ามพรมแดน โดยแสดงวัตถุประสงค์การถ่ายโอนข้อมูล มาตรการรักษาความปลอดภัยข้อมูล รวมถึงกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของประเทศปลายทาง

สำหรับข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความสำคัญตามกฎระเบียบใหม่นี้ หมายถึงข้อมูลที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ การดำเนินการทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางสังคม สาธารณสุข หรือความปลอดภัยอื่น ๆ ซึ่งคำนิยามดังกล่าวอาจครอบคลุมถึงข้อมูลด้านการเงิน การดูแลสุขภาพ หรือกระทั่งข้อมูลการใช้จ่ายของผู้บริโภค

กฎนี้ยังจะมีผลย้อนหลังถึงบริษัทที่มีการถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคลสะสมมาตั้งแต่ปี 2021 รวมมากกว่า 100,000 คน และบริษัทที่มีการจัดเก็บบริหารข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคชาวจีนมากกว่า 1 ล้านคนขึ้นไป รวมทั้งบริษัทที่ต้องการถ่ายโอนข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนสูง เช่น ลายนิ้วมือหรือข้อมูลชีวมาตร 10,000 คนขึ้นไป ก็ต้องขออนุญาต

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานแถลงการณ์ของซีเอซีระบุว่า “กฎระเบียบใหม่นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจดิจิทัลกำลังเติบโต และธุรกรรมข้อมูลข้ามพรมแดนขยายตัวอย่างมาก โดยมีเป้าหมายในการรักษาสิทธิและผลประโยชน์ส่วนบุคคล รวมถึงปกป้องความมั่นคงของชาติและผลประโยชน์สาธารณะของสังคม”

โดยคาดว่ากฎระเบียบใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม การเงิน และการขนส่ง รวมถึงบริษัทข้ามชาติในจีนที่ต้องการส่งข้อมูลของลูกค้าชาวจีนไปยังสำนักงานในต่างประเทศ เพื่อการวิเคราะห์และการใช้งานทางธุรกิจ

“นาธาเนียล รัชฟอร์ธ” ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานกฎหมาย ฮอลแมน เฟนวิค วิลเลียน ในเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า “ผลกระทบเบื้องต้นคือการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามกฎเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามมาด้วยกระบวนการตรวจสอบที่อาจวุ่นวายจากการยื่นขออนุญาตในปริมาณมหาศาล”

ก่อนหน้านี้ในปี 2021 รัฐบาลจีนยังได้ออกกฎหมายความปลอดภัยของข้อมูลและกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกำหนดความผิดเกี่ยวกับการรวบรวม ประมวลผล จัดเก็บ และใช้ข้อมูลที่สร้างขึ้นในประเทศจีนโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจหลายราย อย่าง “ตีตี โกลบอล” ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเรียกรถรายใหญ่ ที่ต้องถอนตัวออกจากตลาดหุ้นสหรัฐ หลังจากทางการจีนแสดงความกังวลเกี่ยวกับการรั่วไหลของข้อมูล

ขณะที่ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของสหรัฐอย่าง “เทสลา” ก็ถูกกล่าวหาเรื่องการสอดแนมข้อมูลและถูกแบนการใช้งานในบางพื้นที่ของจีน

นอกจากนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ากฎระเบียบใหม่ดังกล่าวจะมีผลต่อภาคธุรกิจในฮ่องกงและมาเก๊าอย่างไร เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วตามนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของจีน มักจะถือว่าฮ่องกงและมาเก๊าอยู่นอกพรมแดนจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งอาจทำให้การถ่ายโอนข้อมูลจากจีนไปยังฮ่องกง และมาเก๊า มีความซับซ้อนและยากลำบากมากขึ้นตามกฎระเบียบใหม่นี้