รัฐบาลทหารเมียนมาประหารชีวิต 4 นักเคลื่อนไหว

รัฐบาลทหารเมียนมาประหารชีวิต 4 นักเคลื่อนไหว
REUTERS/Stringer/File Photo

รัฐบาลทหารเมียนมาประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ยืนยันเป็นทางการครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ หนึ่งในนั้นคืออดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคของ “อองซาน ซูจี” 

วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 เดอะการ์เดียนรายงานอ้างข้อมูลจากสื่อรัฐบาลเมียนมาที่ระบุว่า รัฐบาลทหารของเมียนมาได้ประหารชีวิตนักโทษ 4 คน ซึ่งรวมถึงอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคของ “อองซาน ซูจี” โดยการประหารชีวิตครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ

“เพียว เซยา ตอร์” อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจี ซึ่งถูกจับกุมเมื่อเดือนพฤศจิกายน ถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อเดือนมกราคม จากความผิดภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย ขณะที่ “จ่อ มิน ยู” นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยผู้มีชื่อเสียง หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “จิมมี่” ได้รับโทษจากศาลทหารเช่นเดียวกัน

ส่วนนักโทษอีกสองคนถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหาสังหารผู้หญิงรายหนึ่ง ที่พวกเขากล่าวหาว่าเป็นผู้แจ้งข่าวให้รัฐบาลเผด็จการในนครย่างกุ้ง

หนังสือโกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมา พาดหัวข่าวว่า การประหารชีวิตดำเนินการภายใต้ขั้นตอนของทางเรือนจำ แต่ไม่ได้ระบุว่าชายทั้งสี่ถูกประหารชีวิตเมื่อใด และด้วยวิธีใด

รัฐบาลทหารเมียนมาตัดสินประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารหลายสิบคน อันเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามผู้เห็นต่างหลังยึดอำนาจเมื่อปีที่แล้ว

รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากมหาอำนาจ หลังจากเมื่อเดือนที่แล้วได้ประกาศความตั้งใจว่าจะดำเนินการประหารชีวิต

“อันโตนิโอ กูเตอร์เรส” เลขาธิการสหประชาชาติ ประณามการตัดสินใจของรัฐบาลทหารเมียนมา โดยระบุว่าเป็นการละเมิดสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงของบุคคลอย่างโจ่งแจ้ง

เพียว เซยา ตอร์ ถูกกล่าวหาว่าเตรียมการโจมตีกองกำลังของรัฐบาลหลายครั้ง รวมทั้งการโจมตีด้วยปืนบนรถไฟโดยสารในนครย่างกุ้งเมื่อเดือนสิงหาคม ซึ่งทำให้ตำรวจเสียชีวิต 5 นาย นอกจากนี้เขายังเป็นผู้บุกเบิกเพลงฮิปฮอปที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโค่นล้มรัฐบาลทหารก่อนหน้านี้ เขาเคยถูกตัดสินจำคุกเมื่อปี 2551 เนื่องจากเป็นสมาชิกองค์กรที่ผิดกฎหมายและครอบครองเงินตราต่างประเทศ

ต่อมาเขาได้รับเลือกเข้าสู่สภา โดยเป็นตัวแทนของพรรคเอ็นแอลดีของซูจี ในการเลือกตั้งปี 2558 ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองแบบพลเรือน

กองทัพเมียนมากล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งในปี 2563 ซึ่งพรรคเอ็นแอลดีคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย เพื่อเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี ถูกควบคุมตัวตั้งแต่นั้นมา และถูกตั้งข้อหามากมายในศาลรัฐบาลเผด็จการ ที่อาจทำให้เธอต้องโทษจำคุกมากกว่า 150 ปี

จ่อ มิน ยู ซึ่งโด่งดังในช่วงปี 2531 ที่นักศึกษาของเมียนมาลุกฮือต่อต้านระบอบการปกครองของทหาร ถูกจับกุมในช่วงเดือนตุลาคม