โควิดตอกย้ำบทเรียนการลงทุน

ดร. สมชัย อมรธรรม
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์
บลจ. กรุงไทย

         แม้ว่าเราจะยังไม่ได้ผ่านพ้น “วิกฤติโควิด-19” ไปเสียเดียว แต่ปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เราเห็นตลาดหุ้นตกลงไปแล้ว และเห็นตลาดหุ้นขึ้นมา (บ้าง) แล้ว ช่วงนี้ก็อาจจะเป็นโอกาสดีที่จะมาทบทวนกันถึงบทเรียนในการลงทุนที่ได้รับจากวิกฤติครั้งนี้

         เรื่องที่หนึ่ง คือ เงินสำรองฉุกเฉิน ซึ่งหมายถึงเม็ดเงินที่จะสามารถนำมาจับจ่ายใช้สอยได้ในยามที่กระแสเงินสดของเราสะดุด โดยส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องวางแผนทางการเงิน แต่ก็มีความสำคัญต่อการจัดพอร์ตการลงทุนด้วย ตรงที่ถ้าเรามีเม็ดเงินสำรองเพียงพอ เราจะไม่ต้องไปรบกวนเม็ดเงินจากพอร์ตการลงทุนในยามสถานการณ์คับขัน ซึ่งโดยปรกติ ในยามคับขันก็มักจะเป็นเวลาที่พอร์ตการลงทุนบอบช้ำ หากจำเป็นต้องดึงเม็ดเงินนี้ออกไป ก็จะเป็นการคว้านเนื้อพอร์ตการลงทุนให้ลึกขึ้นไปอีก การฟื้นตัวของพอร์ตก็จะลำบากยิ่งขึ้นแทนที่จะรอให้บาดแผลของพอร์ตกลับมาสมานกันดีก่อน

         เรื่องที่สอง คือ ระดับความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง วิกฤติที่เกิดขึ้นอาจเป็นตัวเช็คได้ว่า พอร์ตการลงทุนของเรานั้นสอดคล้องกับความเสี่ยงที่รับได้หรือไม่ หากรู้สึกว่าพอร์ตการลงทุนนั้นเสี่ยงมากเกินไป (หรือน้อยเกินไป) ก็ควรหาโอกาสปรับพอร์ตให้เหมาะสมในอนาคตเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปรกติ ทั้งนี้ แบบประเมินความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องให้ตอบก่อนการลงทุนกองทุนรวมก็น่าจะเป็นตัวช่วยหนึ่งในการประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสม และช่วยชี้ให้เห็นถึงลักษระการจัดพอร์ตแบบไหนถึงจะมีความเหมาะสม (แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงเป้าหมายการลงทุนควบคู่ไปด้วยนะครับ)

         การวัดความเสี่ยงโดยทั่วไปเรามักจะมองในเชิงของความผันผวนด้านราคาเป็นหลัก ซึ่งวิกฤติที่ผ่านมาถือว่าความผันผวนอยู่ในระดับสูงมาก ดัชนี VIX ของสหรัฐฯ สูงขึ้นไปในระดับเดียวกับในช่วงวิกฤติปี 2551 (จริงๆ แล้วจุดสูงสุดของ VIX ครั้งนี้สูงกว่าในครั้งปี 2551 อยู่เล็กน้อยเสียด้วยซ้ำ) ขณะที่ความผันผวนของตลาดหุ้นไทยก็ใกล้เคียงกับในปี 2551 เมื่อความผันผวนสูงขึ้น การคาดเดาผลตอบแทนในอนาคตก็ลำบากขึ้น และโอกาสที่จะขาดทุนก็สูงขึ้นด้วย แต่ในปัจจุบัน หากมองด้วยความเสี่ยงด้านนี้ก็บอกว่าสถานการณ์ดีขึ้นมากแล้ว 

         หรืออย่าง Drawdown ก็อาจเป็นวิธีวัดความเสี่ยงอีกมุมหนึ่ง ที่เข้ามาช่วยในการจัดพอร์ตได้ โดย Drawdown เป็นการวัดการขาดทุนสูงสุด (วัดจากจุดสูงสุดถึงจุดต่ำสุด) เพื่อให้มองว่าเรารับการขาดทุนได้มากเพียงใด และตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา พอร์ตการลงทุนที่ลงทุนหุ้นไทยล้วนจะมี Drawdown ประมาณ 35% คือถ้ามีพอร์ตการลงทุนอยู่แสนบาท เราจะเห็นเม็ดเงินลงทุนหายไป 3.5 หมื่นบาท แต่ถ้าพอร์ตการลงทุนลงหุ้นไทยอยู่ครึ่งหนึ่ง และลงทุนในบอนด์ (พันธบัตรรรัฐบาลไทย อายุ 1-3 ปี) อีกครึ่งหนึ่ง ตัวเลข Drawdown จะเหลือ 17%  ส่วนพอร์ตที่มีหุ้นเพียง 25% และบอนด์อีก 75% จะมี Drawdown อยู่ที่ 8% หรือ กล่าวคือ พอร์ตหนึ่งแสนหายไปมากสุด 8 พันบาท (แต่ตอนนี้ก็ได้คืนมามากแล้ว)

         นอกจากนี้ ความเสี่ยงยังมีมุมอื่นๆ ด้วย เช่น ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (Credit Risk) ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ที่นักลงทุนจะไม่สามารถเปลี่ยนสินทรัพย์เป็น “เงินสด” ได้ในเวลาที่ต้องการและในราคาที่ต้องการ (Liquidity Risk) ความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของการลงทุน (Concentration Risk) และความเสี่ยงที่ดอกเบี้ยจะลดลงและทำให้การลงทุนใหม่ได้รับผลตอบแทนที่ต่ำลง (Reinvestment Risk) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเราเห็นตัวอย่างของความเสี่ยงเหล่านี้แทบทั้งหมด จึงควรนำมาพิจารณาในการปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมด้วย 

         เรื่องที่สาม  คือ การติดตามและปรับพอร์ตการลงทุน เราคงได้ยินกันบ่อยแล้วว่า “ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส” ซึ่งวิกฤติครั้งนี้ก็เช่นกัน มีทั้ง “ผู้ชนะ” และ “ผู้แพ้” ในสังเวียนนี้ ธีมการลงทุนระยะยาว อย่าง การก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี หรือความต้องการด้านการดูแลสุขภาพ ก็ได้รับการตอกย้ำจากวิกฤติครั้งนี้อย่างชัดเจน ทำให้ผลตอบแทนของดัชนี NASDAQ ในปีนี้พลิกกลับเป็นบวกได้ที่ 2.9% (ณ วันที่ 18 พ.ค.) หรืออย่างหุ้นกลุ่มเฮสท์แคร์ก็ให้ผลตอบแทนที่ดีเช่นกัน (ดัชนี MSCI World Healthcare -0.02%YTD) แต่ในทางตรงกันข้ามธุรกิจการท่องเที่ยวก็ลำบาก (MSCI Hotel, Restaurant & Leisure -23%YTD) และธุรกิจน้ำมันก็ย่ำแย่จากราคาน้ำมันในปัจจุบัน (MSCI World Energy -37%YTD) ดังนั้น การติดตามข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้ในการปรับพอร์ตจึงมีความสำคัญ ซึ่งในปัจจุบัน นักลงทุนมีช่องทางในการติดตามข้อมูลข่าวสารค่อนข้างมาก และการเข้าถึงข้อมูลก็เป็นเรื่องง่ายขึ้น 

         เรื่องที่สี่ คือ การกระจายความเสี่ยง จริงอยู่ว่าภายหลังจากการเกิดเหตุการณ์ (After the fact) เราบอกได้ว่าใครเป็นผู้แพ้-ผู้ชนะ แต่หากมองย้อนกลับไปเมื่อปลายปีก่อนช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด เราคงไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างในปีนี้ ใครจะแพ้ ใครจะชนะ ลองคิดดูเล่นๆ ว่าถ้าเกิดการระบาดของ “ไวรัสคอมพิวเตอร์มหากาฬ” ขึ้นมาแทน คนท่องเนตไม่ได้ สันทนาการเดียวที่ทำได้คือการท่องเที่ยว ผลตอบแทนการลงทุนก็คงจะต่างจากที่กล่าวข้างต้นจากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดยว พอร์ตการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดีพอก็จะช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนได้ 

         วิกฤติครั้งนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น การแพร่ระบาดน่าจะบรรเทาลงเรื่อยๆ ข่าวดีเกี่ยวกับวัคซีนก็ได้ยินบ่อยขึ้น แต่บาดแผลต่อเศรษฐกิจก็มีไม่น้อย และยังมีอีกหลายเรื่องให้ต้องติดตาม แต่ที่สำคัญเรายังต้องช่วยกันคือ การป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส ต้องเน้นย้ำว่า “การ์ดอย่าตก” อย่าลืม #ใส่หน้ากาก และ #รักษาระยะห่างทางสังคม ด้วยนะครับ