ค่าครองชีพ กับโครงสร้างพื้นฐาน

คอลัมน์ รู้จักอาเซียน

หลังจากที่มีข่าวการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อปี 2018 ในประเทศไทย ไปเมื่อกลางเดือนมกราคม สิ่งหนึ่งที่จะเป็นคำถามต่อมาคือปัจจัยเรื่องค่าครองชีพ ไม่ว่าจะเป็นราคาค่าเช่าบ้าน อาหาร เสื้อผ้า อัตราเงินเฟ้อ ค่าขนส่ง ฯลฯ

ไม่ใช่เพียงแค่ค่าครองชีพอย่างเดียว แต่คำถามยังรวมไปถึงสัญญาต่าง ๆ ที่ผูกกับลูกจ้าง รายได้ เรื่องสภาพแวดล้อมอื่น ๆ อย่างขนส่งมวลชน หรือกระทั่งสวัสดิการจากรัฐที่ประชาชนควรได้อย่างถ้วนหน้า ไม่ใช่เพียงแค่คนที่รายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ เพราะนั่นไม่ใช่สวัสดิการ แต่เป็นเพียงอีกรูปแบบของการแบ่งปันทรัพยากรรัฐ

เมื่อดูจากค่าแรงขั้นต่ำ มี 3 ประเทศในอาเซียนที่เพิ่มขึ้น โดยฟอร์บสระบุว่า มีประเทศมาเลเซีย ไทย และเมียนมาที่เพิ่มขึ้น ส่วนเวียดนามจะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าปีที่ผ่านมาจากในปี 2560 ที่เพิ่มร้อยละ 7.3 จากฐานค่าแรง แต่ปีนี้จะคาดว่าจะเพิ่มจากฐานค่าแรงร้อยละ 6.5

ในเมืองที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในอินโดจีน ไม่ว่าจะเป็นพนมเปญ หรือนครโฮจิมินห์ มุมมองจากหลากเว็บไซต์ท่องเที่ยวต่างยกให้เมืองเหล่านั้นมีค่าครองชีพที่ถูก แต่นั่นเป็นมุมมองจากภายนอกของประเทศที่มีรายได้สูง

หากมองจากภายใน ค่าครองชีพที่ชาวเมืองต้องเผชิญมันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ราคาน้ำมันเป็นตัวอย่าง ในเวียดนามกับเบนซิน 95 ตกอยู่ที่ลิตรละประมาณ 28 บาท กับรายได้ขั้นต่ำราว 5,500 บาทต่อเดือน ส่วนมาเลเซียตกอยู่ลิตรละ 23 บาทกับรายได้ขั้นต่ำต่อเดือนประมาณ 9,000 บาท ขณะที่ราคาน้ำมันในกัมพูชา อยู่ที่ลิตรละราว ๆ 33 บาท ส่วนรายได้ขั้นต่ำประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน

หากใครเคยไปกัมพูชาหรือเวียดนาม คงคาดเดาได้ว่าขนส่งมวลชนที่ไร้ประสิทธิภาพบีบให้คนต้องใช้รถส่วนตัว หรือมอเตอร์ไซค์ ฉะนั้นค่าน้ำมันนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้

บางเมืองใหญ่ที่กำลังพัฒนาจึงพยายามรั้งค่าครองชีพไม่ให้พุ่งทะลุเกินกว่าที่ประชาชนรับไหว โดยใช้วิธีการพัฒนาขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ อย่างโครงรถไฟฟ้าในจาการ์ตา มะนิลา หรือฮานอย โฮจิมินห์ ก็พยายามลดค่าโดยสารประจำทางให้ต่ำ พร้อมกับมีแอปพลิเคชั่นชี้ตำแหน่งรถเมล์ กัวลาลัมเปอร์พยายามเชื่อมโยงระบบรางกับรถเมล์ที่ทำหน้าตัวเป็นฟีดเดอร์อย่างเป็นระบบ

รวมไปถึงการขยายเมือง สร้างเมืองใหม่ตามแนวทางรถไฟความเร็วสูง อย่างที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นการกระจายความมั่งคั่ง และชะลอราคาอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งสูงร้อนแรงเกินไปในเมืองใหญ่ ซึ่งคาดว่าการสร้างรถไฟฟ้าจากกัวลาลัมเปอร์ไปสิงคโปร์จะทำให้เกิดเมืองใหม่รายทางขึ้น และประชาชนมีทางเลือกกับที่อยู่อาศัยมากขึ้น

ดังนั้นการเพิ่มค่าแรงต้องอย่าลืมเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ต้องทำคู่ขนานกันไป ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจอาจจะรวนและพังพินาศแบบ “เวเนซุเอลา” ก็เป็นได้