WEF เปิดศักยภาพแข่งขัน “สิงคโปร์-เวียดนาม” พุ่งแรง

ภาวะเศรษฐกิจของโลกชะลอตัวในปัจจุบัน ทำให้หลายประเทศพยายามพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อรับมือกับความวิกฤตทางเศรษฐกิจ รวมถึงดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ “อาเซียน” เป็นอีกภูมิภาคหนึ่งที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “สิงคโปร์” และ “เวียดนาม” ที่สามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้อย่างก้าวกระโดด

“เวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม” (WEF) เปิดเผยรายงาน “ดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก” (GCI) ปี 2019 โดยพบว่า “สิงคโปร์” ได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันอันดับ 1 ของโลกในปีนี้ จากทั้งหมด 141 ประเทศ โดยมีค่าดัชนีอยู่ที่ 84.8 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2018 ที่ 83.5 คะแนน สามารถล้มแชมป์เก่าอย่างสหรัฐอเมริกาลงได้

ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้สิงคโปร์ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในปีนี้ เพราะสามารถรักษาศักยภาพด้านสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐานในระดับสูงเช่นเดิม และมีการพัฒนาด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดีขึ้นเป็น 90.0 คะแนนปีนี้ และยังพัฒนาด้านทักษะแรงงานอย่างรวดเร็วเป็น 78.7 คะแนนหรือเพิ่มขึ้น 11.46% จากปีที่ผ่านมา

“ทักษะแรงงานเป็นประเด็นที่น่าสนใจที่สุด เพราะคะแนนด้านนี้ของสิงคโปร์ขยับจากอันดับที่ 37 ขึ้นมาอยู่อันดับ 19 แปลว่า การพัฒนาทักษะของคนในประเทศเป็นปัจจัยที่ทำให้สิงคโปร์ก้าวขึ้นสู่อันดับ 1” ผศ.ดร.วิเลิศกล่าว

ขณะที่ “เวียดนาม” เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดสูงที่สุดในโลก เพิ่มขึ้น 10 อันดับ จากอันดับ 77 มาเป็นอันดับ 67 ของโลกในปีนี้ โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นจาก 58.0 คะแนน ในปี 2018 มาอยู่ที่ 61.5 คะแนนปีนี้ การพัฒนาที่เด่นชัดที่สุดของเวียดนาม คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นถึง 59.35% อยู่ที่ 69.0 คะแนนในปีนี้ ขณะที่ตลาดแรงงานของเวียดนามก็เพิ่มขึ้นเป็น 58.2 คะแนน รวมถึงความสามารถทางนวัตกรรมที่สูงขึ้นเป็น 36.8 คะแนน

“เธียร์รี ไกเกอร์” หัวหน้าฝ่ายวิจัยเชิงปริมาณด้านความสามารถการแข่งขันและความเสี่ยงของโลก ระบุในเว็บไซต์ของ WEF ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์และเวียดนามมีความสามารถในการแข่งขันแบบก้าวกระโดด มาจากความคล่องตัวและความยืดหยุ่นในการปรับตัวทางด้านทุนมนุษย์และนวัตกรรม

ไกเกอร์ชี้ว่า “ระบบนิเวศในการสร้างนวัตกรรม (innovation ecosystem) เป็นปัจจัยที่สร้างความแตกต่าง เพราะไม่ใช่แค่พัฒนานวัตกรรมอย่างเดียว แต่ต้องปรับตัว สอดรับกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วย หลายประเทศอย่าง เกาหลีใต้ อิตาลี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ต้องพัฒนาทักษะแรงงานให้ทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของพวกเขา”

ผศ.ดร.วิเลิศกล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย แม้ว่าอันดับความสามารถแข่งขันลดลงจากอันดับที่ 38 เป็นอันดับที่ 40 ของโลกในปีนี้ แต่ค่าดัชนีเพิ่มสูงขึ้นจาก 67.5 คะแนน เป็น 68.1 คะแนน โดยอยู่อันดับที่ 3 ของอาเซียน สะท้อนได้ว่าศักยภาพในการแข่งขันของไทยเพิ่มขึ้น เพียงแต่ในภาพรวมมีบางประเทศที่สามารถพัฒนาได้เร็วกว่า

ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเรียนรู้การพัฒนา ของเพื่อนบ้างอย่าง สิงคโปร์ และเวียดนาม เพื่อปิดจุดอ่อนและผลักดันความสามารถการแข่งขันให้สูงขึ้น จนสามารถก้าวสู่ความสำเร็จในปีต่อ ๆ ไป