ราชวงศ์อังกฤษจะลดขนาดตามราชวงศ์เดนมาร์กหรือไม่

 

Denmark's Queen Margrethe waves on board the Royal Yacht Dannebrog in Copenhagen, Denmark September 11, 2022

ที่มาของภาพ, Reuters

การที่สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์กตัดสินพระราชหฤทัยถอดพระยศพระราชนัดดา 4 พระองค์เพื่อลดขนาดของราชวงศ์นั้น จะเป็นการกำหนดตัวอย่างให้ราชวงศ์อื่น ๆ ดำเนินรอยตามหรือไม่ 

ความเปราะบางของการกระทำดังกล่าวได้ปรากฏให้เห็นจากการที่ควีนเดนมาร์กได้ตรัสขออภัยที่การถอดพระยศพระราชนัดดาครั้งนี้ได้สร้างความไม่พอใจ และ “ปฏิกิริยารุนแรง” จากคนในราชวงศ์

อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระราชินีนาถพระชนมพรรษา 82 พรรษา ซึ่งถือเป็นกษัตริย์ผู้ครองราชย์ยาวนานที่สุดในยุโรปขณะนี้ ทรงยืนยันการตัดสินพระราชหฤทัยของพระองค์ต่อไป โดยชี้ว่านี่คือการกระทำที่จำเป็นเพื่อรับประกันอนาคตของสถาบันกษัตริย์

“นี่หมายความว่าจะต้องมีการตัดสินใจที่ยากลำบาก” พระองค์ตรัส

แม้การตัดสินใจดังกล่าวจะเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะสำหรับสมาชิกราชวงศ์ผู้ได้รับผลกระทบ แต่ก็เป็นการกระทำที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับราชวงศ์อื่นในแถบสแกนดิเนเวีย

ในปี 2019 สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน มีพระราชโองการให้ถอดพระราชนัดดา 5 พระองค์จากการเป็นพระบรมวงศ์ ซึ่งหมายความว่าพระราชนัดดาทั้งห้าจะไม่ได้ดำรงพระยศเป็นสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูงที่จะต้องออกปฏิบัติพระกรณียกิจต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ รวมทั้งจะไม่ได้รับเงินรายปีที่รัฐบาลจัดถวายจากเงินภาษีของประชาชน

นี่ถือเป็นการตัดสินใจที่สอดคล้องกับกระแสเรียกร้องของคนสวีเดนบางส่วนที่ฝักใฝ่การปกครองแบบสาธารณรัฐ และไม่ต้องการให้รางชวงศ์มีสมาชิกจำนวนมากที่ได้รับเงินจากภาษีประชาชน

ราชวงศ์นั้นไม่ต่างจากครอบครัวทั่วไปที่มีขนาดใหญ่ขึ้นไปตามกาลเวลา ครอบครัวเปรียบเสมือนต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านสาขาออกมาเมื่อเติบใหญ่ขึ้น

ดังนั้นการดูแลรักษาราชวงศ์จึงอาจเป็นเหมือนการตัดแต่งกิ่งต้นไม้ในสวน และในหลายครั้งก็จะต้องใช้ความระมัดระวังในการเลือกที่จะกำหนดว่าผู้ใดควรมีพระยศในราชวงศ์บ้าง

Sweden's King Carl Gustav XVI and Queen Silvia arrive to the command performance at the Royal Danish Theatre to mark Denmark's Queen Margrethe's 50th anniversary of her accession to the throne, in Copenhagen, Denmark September 10, 2022

ที่มาของภาพ, Reuters

การลดขนาดราชวงศ์เดนมาร์กครั้งนี้อาจดำเนินไปตามความคิดเห็นของสาธารณชน โดยที่กว่า 3 ใน 4 ของประชาชนบอกว่าให้การสนับสนุนราชวงศ์

เดนมาร์กยังเป็นประเทศที่มีการจัดสรรงบประมาณจากภาษีประชาชน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ปีละประมาณ 11 ล้านปอนด์ (ราว 462 ล้านบาท) ไปเป็นค่าใช้จ่ายของสมเด็จพระราชินีนาถ ค่าดูแลพระราชวัง และข้าราชบริพารของพระองค์ โดยให้สัมพันธ์กับดัชนีรายได้ของลูกจ้างภาครัฐ

นี่อาจเป็นตัวอย่างให้แก่ราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ทรงคุ้นเคยกับข้อเรียกร้องให้ลดขนาดราชวงศ์มายาวนาน

แม้จะไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ก็มีการตีความว่าจะเป็นแผนที่จำกัดวงเฉพาะพระบรมวงศ์กลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณถึงเป้าหมายในการประหยัดงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายกับราชวงศ์

อันที่จริง แผนลดขนาดราชวงศ์อังกฤษอาจเกิดขึ้นไปโดยปริยายแล้วจากกรณีอื้อฉาวที่ทำให้เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ก ทรงต้องยุติบทบาทการทรงงานในฐานะสมาชิกราชวงศ์ รวมถึงการที่เจ้าชายแฮร์รี ดยุคแห่งซัสเซกซ์ และพระชายา ประกาศถอนตัวจากการเป็นพระบรมวงศ์ เนื่องจากมีพระประสงค์ที่จะ “ทำงานเลี้ยงชีพตัวเองเพื่อให้มีอิสระทางการเงิน”

Camilla, Duchess of Cornwall, Prince Charles, Queen Elizabeth, Prince George, Prince William, Princess Charlotte, Prince Louis and Catherine, Duchess of Cambridge

ที่มาของภาพ, Reuters

ปัจจุบันสำนักพระราชวังบักกิงแฮมใช้คำว่า “สมาชิกราชวงศ์ที่ทรงงาน” เพื่อเรียกพระบรมวงศ์กลุ่มเล็ก ๆ ที่ออกปฏิบัติราชกิจอย่างเป็นทางการ เช่น การเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎร การร่วมพิธีการต่าง ๆ ตลอดจนภารกิจตามรัฐธรรมนูญ

สมาชิกกลุ่มนี้มีอาทิ กษัตริย์ชาร์ลส์, สมเด็จพระราชินี, วิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ และแคทเธอรีน พระชายา, เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี, เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งเวสเซกซ์ และโซฟี พระชายา, เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนต์, รวมทั้งดยุคและดัชเชสแห่งกลอสเตอร์

เมื่อปีที่แล้ว สมาชิกราชวงศ์ทรงปฏิบัติภารกิจอย่างเป็นทางการ 2,300  งาน โดยที่เจ้าหญิงแอนน์คือผู้ทรงงานมากที่สุด คือเกือบ 400 งานในห้วงเวลา 365 วัน

ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อช่วงต้นปีนี้ก็จะสังเกตเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างสมาชิกราชวงศ์ที่ทรงงานกับผู้ที่ไม่ได้มีหน้าที่ปฏิบัติราชกิจจากการเสด็จออกสีหบัญชรพระราชวังบักกิงแฮม

ในตอนนั้น เจ้าชายแฮร์รีและพระชายา ตลอดจนเจ้าชายแอนดรูว์ไม่ได้ทรงเข้าร่วมด้วย มีสมาชิกคนสำคัญเพียง 18 พระองค์ที่เสด็จออกสีหบัญชร ซึ่งถือว่าน้อยกว่าในอดีตที่เคยมีสมาชิกราชวงศ์เข้าร่วมกว่า 40 พระองค์

(left to right) The Duke of Gloucester, Duchess of Gloucester, Princess Alexandra, Duke of Kent, Vice Admiral Sir Tim Laurence, the Princess Royal, the Duchess of Cornwall, the Prince of Wales, Queen Elizabeth II, Prince Louis, the Duchess of Cambridge, Princess Charlotte, Prince George, the Duke of Cambridge, the Countess of Wessex, James Viscount Severn, Lady Louise Windsor, and the Earl of Wessex on the balcony of Buckingham Palace

ที่มาของภาพ, PA Media

ในขณะที่รัชสมัยของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น แต่ก็น่าจะมีคำถามว่าพระองค์จะปรับโฉมสถาบันกษัตริย์ และการดำเนินงานของราชสำนักอย่างไรบ้าง

เรื่องสำคัญคือขนาดของราชวงศ์จะมีผลต่อค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เงินภาษีประชาชน

ราชวงศ์อังกฤษได้รับการถวายเงินปีละครั้งจากรัฐบาล ซึ่งเรียกว่า เงินปีส่วนพระมหากษัตริย์ (Sovereign Grant) โดยการถวายเงินปีขึ้นอยู่กับผลกำไรของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (Crown Estate) ซึ่งเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่พระมหากษัตริย์อังกฤษทรงเป็นเจ้าของ แต่มีคณะผู้บริหารที่แยกเป็นอิสระ

เมื่อปีที่แล้ว เงินปีที่ราชวงศ์ได้รับอยู่ที่ 86 ล้านปอนด์ (ราว 3,612 ล้านบาท) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายให้สมาชิกราชวงศ์ปฏิบัติราชกาจอย่างเป็นทางการ ตลอดจนเป็นค่าจ้างเหล่าข้าราชบริพาร และค่าดูแลพระราชวังที่ประทับต่าง ๆ นอกจากนี้เมื่อปีที่แล้วยังมีค่าใช้จ่ายพิเศษในการบูรณะพระราชวังบักกิงแฮม ทำให้มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 102 ล้านปอนด์ (ราว 4,284 ล้านบาท)

เจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งปัจจุบันคือเจ้าชายวิลเลียมทรงมีรายได้จากสำนักงานจัดการลงทุนทรัพย์สินส่วนพระองค์แห่งคอร์นวอลล์ (Duchy of Cornwall) และจากสำนักงานจัดการลงทุนทรัพย์สินส่วนพระองค์แห่งแลงคาสเตอร์ (Duchy of Lancaster)

นอกจากเรื่องการลดขนาดราชวงศ์แล้ว อีกประเด็นที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือการลดจำนวนพระราชวังและอาคารสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ของราชวงศ์ ที่ต้องใช้เงินมหาศาลในการดูแลรักษา ยกตัวอย่างพระราชวังบักกิงแฮมที่ใช้เงินในการบูรณะและตกแต่งใหม่เมื่อปีที่แล้วปีเดียวไปถึง 54 ล้านปอนด์ (ราว 2,268 ล้านบาท) ซึ่งเกินครึ่งของงบประมาณทั้งหมดที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ชาร์ลส์ทรงอาจประเมินอนาคตของราชวงศ์อังกฤษได้จากกระแสความนิยมของพระองค์ที่เพิ่มขึ้น โดยผลสำรวจของสำนักจัดทำโพล YouGov เมื่อเดือนก่อนพบว่า 70% ของประชาชนในสหราชอาณาจักรมีมุมมองที่ดีต่อพระองค์ เพิ่มขึ้น 54% จากช่วงต้นปีนี้ก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชย์

แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีคนบางส่วนที่มีความคิดเห็นแตกต่างออกไป โดยแม้ว่าการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวจะบ่งชี้ว่าราว 2 ใน 3 ของประชาชนทุกวัยจะสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ แต่ก็พบว่ามีคนวัย 18-24 ปีไม่ถึงครึ่งที่ให้การสนับสนุนแบบเดียวกัน

ที่ผ่านมาสถาบันกษัตริย์ทั่วโลกต่างพยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดเสมอมา ดังเช่นที่สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 ทรงชี้แจงถึงแผนการลดขนาดราชวงศ์ครั้งนี้ว่า พระองค์ “ทรงต้องทำให้แน่ใจว่า สถาบันกษัตริย์จะปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยอยู่เสมอ”

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว