ฟุตบอลโลก 2022 : กลุ่ม LGBT และผู้หญิงเรียกร้องให้ขจัดปัญหากีดกันทางเพศในกาตาร์

  • อาลีม มักบูล
  • บรรณาธิการข่าวศาสนา, บีบีซี นิวส์

ในขณะที่กาตาร์กำลังรับหน้าที่เจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่จะเปิดฉากขึ้นวันที่ 20 พ.ย.นี้ ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศก็กำลังได้รับความสนใจเช่นกัน ชาวกาตาร์ 2 คนเล่าให้บีบีซีฟังว่ากฎหมายศาสนาที่เข้มงวดของกาตาร์ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพวกเขาอย่างไรในฐานะบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) และผู้หญิง

อาซิสขยับตัวไปมาด้วยความประหม่าในขณะที่พูดคุยทางออนไลน์จากกรุงโดฮากับทีมข่าวบีบีซี เขาอยากออกมาพูดกับสื่อ แต่ก็ชัดเจนว่าเขาต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมาก และมีท่าทีเคร่งขรึมตลอดการสนทนา

“ผมอยากให้การมีชีวิตอย่างผมไม่เป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศของผม” อาซิสพูดด้วยน้ำเสียงทุ้มต่ำ “ผมอยากให้มีการปฏิรูปที่ระบุว่าผมสามารถเป็นเกย์ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกฆ่า”

อาซิสเล่าว่า ความวิตกกังวลที่เขาต้องเผชิญอยู่ทุกวันมาจากการถูกจับจ้องอยู่ตลอดเวลา และบางครั้งการเผลอพูดบางอย่างกับคนผิดคนก็อาจนำไปสู่การถูกจับกุม หรือถูกทำร้ายโทษฐานเป็นเกย์

A mural of children and a football in Qatar

ที่มาของภาพ, Getty Images

“ความแตกต่างระหว่างการอยู่ในกาตาร์กับนอกกาตาร์คือ ในเมืองนอกกฎหมายจะเข้าข้างคุณ” เขาเล่า

“ถ้าใครทำร้ายคุณ คุณสามารถไปที่สถานีตำรวจ และจะได้รับการคุ้มครอง แต่ที่ประเทศนี้ หากเกิดอะไรขึ้นกับผม ผมอาจตกอยู่ในอันตรายมากขึ้นหากไปหาตำรวจ”

ในรายงานที่ออกมาเมื่อเดือนก่อนขององค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า กลุ่ม LGBT ในกาตาร์ตกเป็นเป้าการคุมขังตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง รวมทั้งต้องเผชิญการคุกคามทั้งทางวาจาและทางกาย

ดังนั้น การเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมฟุตบอลโลกจึงทำให้กาตาร์ถูกสื่อตะวันตกตรวจสอบอย่างใกล้ชิดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม LGBT

แม้ฟุตบอลโลกจะช่วยให้ประเด็นนี้ได้รับความสนใจจากนานาชาติ แต่อาซิสชี้ว่ามันยังทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในกาตาร์มีความเสี่ยงมากขึ้น

เขาเล่าว่า “ตอนนี้ผมเห็นคนพูดต่อต้านชาว LGBT ทางออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยบอกว่าพวกเราน่ารังเกียจและขัดต่อหลักศาสนา”

นอกจากนี้เขายังรู้สึกว่า การพูดคุยเรื่องนี้ยังถูกกล่าวถึงในทางไม่ดีในต่างประเทศด้วย

“พวกเขาถามว่า ‘พวกเราจะปลอดภัยไหมถ้าไปกาตาร์แล้วเป็นตัวของตัวเองโดยที่ไม่ถูกจับ หรือดำเนินคดีตามกฎหมายกาตาร์’ แต่พวกเขาไม่ได้เป็นห่วงพวกเราเลย และกฎหมายพวกนี้จะอันตรายกับพวกเราแค่ไหน”

ทางการกาตาร์เน้นย้ำว่า เปิดรับแฟนบอลทุกคนในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก แต่พวกเขาก็จะต้องแสดงความเคารพและคำนึงถึงวัฒนธรรมของกาตาร์ด้วย

อาซิสเกรงว่าความสำเร็จของมหกรรมฟุตบอลโลกครั้งนี้จะนำเสนอภาพของประเทศที่รักความสนุก และทำให้ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในกาตาร์

The silhouetted figure of Zainab wearing a headscarf

ในสหราชอาณาจักร บีบีซีได้พูดคุยกับ เซนับ (นามสมมุติ) ซึ่งแม้จะอาศัยอยู่ที่นี่แล้ว แต่เธอก็กังวลว่าการเปิดเผยตัวตนในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อครอบครัวของเธอที่อยู่ในกาตาร์

เธอบอกว่าแนวคิดอนุรักษนิยมทางศาสนาที่อยู่ในกฎหมายกาตาร์ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเธอ ถึงขั้นที่ทำให้เธอเคยพยายามฆ่าตัวตาย

เซนับอธิบายว่า ระบบที่ผู้หญิงต้องมีผู้ปกครองชายนั้น ทำให้ผู้หญิงเป็นผู้เยาว์ไปตลอดชีวิต

“การจะตัดสินเรื่องสำคัญในชีวิต คุณจะต้องได้รับหนังสืออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ปกครองชาย ซึ่งปกติมักเป็นพ่อ แต่หากพ่อเสียชีวิตไปแล้ว ก็จะเป็นลุง พี่ชายน้องชาย และปู่หรือตา”

“ถ้าคุณไม่ได้รับอนุญาตก็จะไม่สามารถตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ไปศึกษาในต่างแดน เดินทาง แต่งงาน หรือหย่าร้าง”

The Corniche in World Cup host Qatar's capital Doha

ที่มาของภาพ, Getty Images

เธอเล่าว่าการมีพ่อหัวอนุรักษนิยมทำให้เธอไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างที่ต้องการได้ เธอไม่ต้องการให้บีบีซีเปิดเผยรายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่ได้ประสบมา เพราะไม่อยากให้ใครรู้ว่าเธอเป็นใคร ซึ่งจะสร้างปัญหาให้ครอบครัวของเธอ

เซนับบอกว่า ระบบนี้ทำให้ผู้หญิงต้องทนทุกข์จากการควบคุมบังคับของคนในครอบครัว และกฎหมายที่เข้มงวดของกาตาร์ก็ทำให้กลุ่มผู้มีแนวคิดอนุรักษนิยมพอใจ

“พวกเขาเชื่อว่าแนวคิดเรื่องสิทธิสตรีเป็นแนวคิดตะวันตก และขัดต่อค่านิยม วัฒนธรรม และธรรมเนียมของอิสลาม”

Moselle, a Qatari student in Doha

เจ้าหน้าที่กาตาร์ผู้ทำงานในมหกรรมฟุตบอลโลกครั้งนี้บอกว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อกาตาร์เกิดจากการได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและเพียงพอ

แนวคิดดังกล่าวสะท้อนจากปากของนักศึกษาหญิงคนหนึ่งที่ชื่อ โมเซลลา ซึ่งกล่าวว่า “เราไม่จำเป็นต้องให้องค์กรตะวันตกมาที่นี่เพื่อบอกว่าเราควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไรบ้าง”

“นี่คือประเทศของเรา เราต้องได้รับโอกาสในการพัฒนาตามแนวทางที่เราเห็นว่าเหมาะสม ไม่ใช่แนวทางที่ผู้อื่นสั่งมา”

อย่างไรก็ตาม เสียงคนกาตาร์ที่วิจารณ์ประเทศตนเองนั้นถูกเซ็นเซอร์อย่างหนัก และอย่างที่เราเห็นในบทสัมภาษณ์นี้ว่าผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กาตาร์ต่างหวาดกลัวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตน แม้ว่าจะเป็นการพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่พวกเขาพึงมีก็ตาม

รายงานเพิ่มเติมโดย แฮร์รี ฟาร์ลีย์

…….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว