เลือกตั้ง 2566 : ใครเป็นใครในโผบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรค

ภายหลังแต่ละพรรคการเมืองทยอยเปิดเผยบัญชีรายชื่อว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พบว่า ว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอย่างน้อย 3 คน จากพรรคเพื่อไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ลงสมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้ง 14 พ.ค. นี้

แกนนำพรรคการเมืองต่าง ๆ เตรียมเดินทางไปยังอาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 4 เม.ย. นี้ ซึ่งเป็นวันแรกของการรับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) และจับฉลากหมายเลขผู้สมัคร

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนได้เห็นรายชื่อว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ของแต่ละพรรคการเมืองผ่านสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นการจัดโผแบบเรียงลำดับตามตัวอักษร ก.-ฮ. เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารี) ก่อนได้เห็นบัญชีจริงแบบเรียงลำดับ 1-100 ในวันที่พรรคยื่นบัญชีต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

รัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง กำหนดให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อ เพื่อส่งให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด โดยคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิง ทั้งนี้ในการประชุมสาขาพรรค ต้องมีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 100 คน หรือการประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ต้องมีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 50 คน จากนั้นนำรายชื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร และคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.)

บีบีซีไทยรวบรวมรายชื่อที่น่าสนใจ (เฉพาะที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว) และประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกตจากโผปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรคการเมือง

พรรคเพื่อไทย (พท.) : ส่งผู้สมัครครบ 100 คน

  • ไม่มีชื่อหัวหน้าพรรค นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ในบัญชี เนื่องจากเจ้าตัวยังขอลงสมัคร ส.ส.น่าน อีกสมัย ซึ่งถือเป็นการฉีกแนวปฏิบัติของหัวหน้าพรรคที่ไม่ค่อยลงสมัคร ส.ส.เขต
  • ไม่มีชื่อว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค 2 คนคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และนายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ในบัญชี ทั้งนี้นายเศรษฐาชี้แจงผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว ถึงสาเหตุที่ไม่ลงปาร์ตี้ลิสต์ โดยสรุปใจความสำคัญได้ว่า เขาตั้งใจจะเข้าไปทำหน้าที่บริหาร โดยนำนโยบายที่หาเสียงไว้ ร่วมกับการออกกฎหมายจากฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งประกอบไปด้วย ส.ส. พท.

“หากผมถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งผ่านขั้นตอนการสรรหาจากกรรมการบริหารพรรค นั่นคือ สิ่งแสดงว่าผมยึดโยงกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนร่วมกันตัดสินใจว่าหากต้องการให้นายกฯ มาจากพรรคเพื่อไทย จึงต้องเลือก ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยครับ ผมไม่ได้ลอยมาจากไหน และทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดขึ้นครับ” ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ในบัญชี พท. แจกแจงเมื่อ 30 มี.ค.

ส่วนว่าที่แคนดิเดตนายกฯ คนที่ 3 ซึ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 5 เม.ย. นี้ หลังก่อนหน้านี้ปรากฏชื่อของ 2 นักการเมืองตามโผสื่อหลายสำนัก รายแรก นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานกรรมการนโยบายพรรค ไม่มีชื่อในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ ส่วนอีกรายคือ นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ด้านประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรม และความเสมอภาคเท่าเทียม ซึ่งเคยเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของ พท. ในการเลือกตั้ง 2562 มีชื่อในบัญชีผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าใครคือปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ของพรรค

แคนดิเดตนายกฯ พท.

PR พรรคเพื่อไทย สองว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ของ พท. เศรษฐา ทวีสิน จับมือ แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งตั้งครรภ์ได้ 8 เดือน ระหว่างเดินขึ้นเวทีปราศรัยที่ จ.ชลบุรี เมื่อ 18 มี.ค.
  • มีชื่อเลขาธิการพรรค นายประเสริฐ จันทรรวงทอง อดีต ส.ส.นครราชสีมา หลายสมัย โยกมาลงสมัครปาร์ตี้ลิสต์ แล้วส่งบุตรชาย นายพชร จันทรรวงทอง ลงสมัครส.ส.เขตแทน
  • มีชื่ออดีตประธานวิปฝ่ายค้าน นายสุทิน คลังแสง อดีต ส.ส.มหาสารคาม หลายสมัย ย้ายมาลงปาร์ตี้ลิสต์ แล้วดันบุตรชาย นายแทนรัฐ คลังแสง ลงสมัคร ส.ส.เขตแทน
  • มีชื่ออดีตหัวหน้าพรรคในบัญชี ทั้ง พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ และนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตหัวหน้าพรรค พท. รวมถึงนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (ทรท.)
  • มีชื่อนักการเมืองระดับอดีตหัวหน้าพรรค-หัวหน้ามุ้งการเมือง-เจ้าของบ้านใหญ่ ที่เพิ่งย้ายมาสังกัด พท. ในบัญชี ได้แก่ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ, นายนิคม บุญวิเศษ อดีตหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว.ยุติธรรม แกนนำกลุ่มสามมิตร พปชร., นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.อุตสาหกรรม แกนนำกลุ่มสามมิตร พปชร., นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. และหลานชายนายสุริยะ, นายสุชาติ ตันเจริญ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร แกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำ พปชร., น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล บุตรสาวนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล อดีต รมช.คมนาคม ภท. เจ้าของสมญา “เสี่ยแป้งมัน” และนายสนธยา คุณปลื้ม บ้านใหญ่ชลบุรี
สามมิตร

PR พรรคเพื่อไทย หัวหน้าพรรคเพื่อไทยสวมเสื้อพรรคให้ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ โดยมี สมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งกลับมาสมัครเป็นสมาชิกพรรค พท. พร้อมกันเมื่อ 23 มี.ค. ร่วมด้วย ทั้งคู่ถือเป็นศิษย์เก่ายุคไทยรักไทย ก่อนออกไปอยู่หลายพรรคการเมือง
  • มีชื่อนายรุ่งเรือง พิทยศิริ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ผู้บริหารพรรคเพียงหนึ่งเดียวที่รอดจากการถูกเพิกถอนสิทธิการเมือง 10 ปี ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค ทษช. กรณีเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคในการเลือกตั้ง 2562 ทว่านายรุ่งเรืองชิงนำหลักฐานไปแสดงต่อ กกต. ว่าไม่ได้อยู่ร่วมประชุมขณะที่พรรคมีมติดังกล่าว จึงรอดมาเป็นผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ได้อีกคราว
  • มีชื่ออดีตแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในบัญชี ทั้งนายก่อแก้ว พิกุลทอง อดีตแกนนำ นปช. , นพ.เชิดชาย ตันติศิรินทร์ อดีตประธานเสื้อแดง 17 จังหวัดภาคอีสาน และอดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พท., นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล อดีตแกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 และ น.ส.อุบลกาญจน์ อมรสิน แกนนำเสื้อแดงอุบลราชธานี
  • มีชื่อสมาชิกในครอบครัวของนักการเมือง/นักธุรกิจ เข้ามาทำงานการเมืองเป็นครั้งแรก อาทิ นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ น้องชายนายณัฐพงษ์ คุณากรวงศ์ สามีของ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร หรือ เอม บุตรสาวนายทักษิณ, นายสุรเกียรติ เทียนทอง บุตรชายนายเสนาะ เทียนทอง, นายธนวรรษ เพ็งดิษฐ์ บุตรชายนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, นางประวีณ์นุช อินทปัญญา ภรรยา พล.อ.นพดล อินทปัญญา สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

พรรคก้าวไกล (ก.ก.) : ส่งผู้สมัครครบ 100 คน

  • มีชื่อหัวหน้าพรรค และว่าที่แคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียวของพรรค นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในลำดับ 1 ของบัญชี โดยโฆษกพรรคออกมาย้ำหลักการเรื่องนายกฯ ต้องเป็น ส.ส. หรือต้องแต่งตั้งจากสภาผู้แทนฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญทั้ง 2540 และ 2550 ภายหลังผ่านเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535
  • มีชื่อเลขาธิการพรรค นายชัยธวัช ตุลาธน ซึ่งยังไม่เคยเป็น ส.ส. มาก่อน ในบัญชี คาดว่าอยู่ในลำดับที่ 2
  • มีชื่ออดีต ส.ส. อนาคตใหม่/ก้าวไกล 19 คน ในบัญชี แบ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 18 คน และ ส.ส.กทม. 1 คนคือ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ที่ขอโยกมาลงปาร์ตี้ลิสต์
  • ชื่ออดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งมีบทบาทอภิปรายในสภาหลายคนหายไปจากบัญชี ได้แก่ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์, พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ, นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล และนายธีรัจชัย พันธุมาศ โดยนายธีรัจชัยจำต้องโยกไปลงสมัคร ส.ส.กทม. แทน ส่วน 3 คนแรก แจ้งว่าไม่ประสงค์ลงสมัคร ส.ส. แต่ยังช่วยงานอยู่เบื้องหลัง
ทิม

PR พรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของก้าวไกล และว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ทำหน้าที่ผู้นำพรรคมานาน 3 ปี

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) : ส่งผู้สมัคร 92 คน

  • มีชื่อหัวหน้าพรรค และว่าที่แคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียวของพรรค พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี อยู่ในลำดับที่ 1 ของบัญชี โดยถือเป็นครั้งแรกที่นายพลเกษียณอายุราชการรายนี้ลงสมัครรับเลือกตั้งในรอบ 17 ปี หลังเข้ามามีตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรกเมื่อปี 2549
  • หัวหน้าพรรค พปชร. ให้เหตุผลว่า “ต้องการเป็นนายกฯ ที่ประชาชนเลือก” และ “ตั้งใจเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตย”

“ไม่ใช่กาบัตรเลือกคนอื่น แล้วผมเป็นแค่ผลพลอยได้ ไม่มีส่วนร่วมอะไรกับการเลือกของประชาชนเลย” และ “ผมตั้งใจเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตย หากไม่มั่นใจว่าคะแนนที่ได้เป็นคะแนนที่เลือกผม ผมจะรู้สึกถึงความเป็นผู้นำที่ ‘สง่างามอย่างมั่นใจ’ ได้อย่างไร” พล.อ. ประวิตรโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อ 1 เม.ย.

  • มีชื่อเลขาธิการพรรค นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง อยู่ในลำดับที่ 2 ของบัญชี
  • มีชื่อ รมต./อดีต รมต. ในรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ในบัญชีรวม 6 คน นอกจาก พล.อ. ประวิตร และนายสันติ ยังมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส, นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม, นายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.อุตสาหกรรม กลุ่มสี่กุมาร และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน กลุ่มสี่กุมาร อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏชื่อนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีต รมช.แรงงาน ในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์แต่อย่างใด โดยเจ้าตัวได้ชิงเปิดแถลงข่าวอ้างว่าขอสละสิทธิลงสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ก่อนที่โผผู้สมัครของ พปชร. จะหลุดถึงมือสื่อ
  • มีชื่ออดีต ส.ส. ต่างพรรคที่ย้ายมาสังกัด พปชร. อยู่ในบัญชีหลายคน อาทิ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และนายอภิชัย เตชะอุบล หรือ “เสี่ยโต” อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป.
  • มีชื่อ น.ส.ธนพร ศรีวิราช หรือ “จุ๊บจิ๊บ” ภรรยา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในลำดับที่ 15 ของบัญชีด้วย
พปชร.

PR พรรคพลังประชารัฐ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ นำทีมแกนนำและว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พปชร. ทำท่า “ลุงป้อม 700” ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของ พปชร. ด้วยการเพิ่มเงินสวัสดิการในบัตรประชารัฐ จำนวน 700 บาท/เดือน

พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) : ส่งผู้สมัครครบ 100 คน

  • มีชื่อหัวหน้าพรรค และว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ลำดับที่ 2 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อยู่ในลำดับที่ 1 ของบัญชี
  • ไม่มีชื่อว่าที่แคนดิเดตนายกฯ เบอร์ 1 ของพรรคคือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในบัญชี ทั้งนี้เจ้าตัวไม่ขอตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงสาเหตุที่ตัดสินใจไม่ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยบอกเพียงว่า “เป็นเหตุผลส่วนตัวของผม ซึ่งไม่มีข้อกำหนด จะลงก็ได้หรือไม่ลงก็ได้ รัฐธรรมนูญกำหนดว่าอย่างไรก็เป็นเช่นนั้น”
  • มีชื่อเลขาธิการพรรค นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ คาดว่าอยู่ในลำดับที่ 2 ของบัญชี
  • มีชื่อ รมต./อดีต รมต. ในรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ในบัญชีรวม 4 คน (ไม่นับนายกฯ) ได้แก่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน (โควต้ากลางของนายกฯ ก่อนลงสมัคร ส.ส. เป็นครั้งแรก) , นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (โควต้ากลางของนายกฯ), นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน (โควต้า พปชร. ก่อนย้ายพรรคตามนายกฯ มาก), และนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (โควต้า ปชป. ซึ่งย้ายพรรคมาอยู่ รทสช.)
  • มีชื่ออดีต ส.ส. ที่เพิ่งย้ายมาสังกัด รทสช. ในบัญชี อาทิ นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา พปชร., นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร., นายภาคิน สมมิตรธนกุล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร., นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป.
  • มีชื่อข้าราชการการเมืองอื่นในบัญชี อาทิ นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี, น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการ กทม. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.
ลุงตู่

PR พรรครวมไทยสร้างชาติ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่วมงานเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 400เขต เมื่อ 25 มี.ค. ทว่านายกฯ ไม่ขอลงสมัคร ส.ส. โดยอ้างเหตุผลส่วนตัว

พรรคภูมิใจไทย (ภท.) : ส่งผู้สมัครครบ 100 คน

  • มีชื่อหัวหน้าพรรค และว่าที่แคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียวของพรรค นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข อยู่ในลำดับที่ 1 ของบัญชี
  • มีชื่อเลขาธิการพรรค นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม อยู่ในลำดับที่ 2 ของบัญชี
  • มีชื่ออดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อของ ภท. 5 คน ในบัญชี
  • มีชื่ออดีตผู้แทนฯ ที่เพิ่งย้ายมาสังกัด ภท. ในบัญชี อาทิ นายสุพล ฟองงาม อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร., นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร., น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลัง, นายอารี ไกรนรา อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ, นางนันทนา สงฆ์ประชา อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาภิวัฒน์, นายเกษมสันต์ มีทิพย์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก.ก. และนายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ
  • มีชื่อลูกนักการเมืองอยู่ในบัญชี เช่น น.ส.ชนม์ทิดา อัศวเหม หรือเพลง บุตรสาวของนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม กับ นันทิดา แก้วบัวสาย นายก อบจ.สมุทรปราการ, นายชลัฐ รัชกิจประการ บุตรชายนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กับนางนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภท. ที่ลงสมัครแทนมารดา หลังถูกตัดสิทธิการเมืองจากกรณียื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ
อนุทิน

PR พรรคภูมิใจไทย นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่ อนุทิน ชาญวีรกูล ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชี ภท. เพียงหนึ่งเดียว

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) : ส่งผู้สมัครครบ 100 คน

  • มีชื่อหัวหน้าพรรค และว่าที่แคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียวของพรรค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ อยู่ในลำดับที่ 1 ของบัญชี
  • ไม่มีชื่อเลขาธิการพรรค นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงสมัครแต่อย่างใด โดยเจ้าตัวแจ้งความประสงค์ขอช่วยพรรคอยู่ข้างนอก
  • มีชื่ออดีตหัวหน้าพรรคในบัญชี ทั้งนายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภา หัวหน้าพรรคคนที่ 5 และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน หัวหน้าพรรคคนที่ 6

อย่างไรก็ตามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคคนที่ 7 ได้ขอเว้นวรรค-ไม่ลงสมัคร ส.ส. ในรอบ 30 ปี โดยให้เหตุผลว่า แนวคิดของเขาในหลาย ๆ เรื่อง ไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานของพรรคมากนัก ตั้งแต่การเข้าไปร่วมกับรัฐบาล แต่ยังช่วยพรรครณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

  • มีชื่อ รมต./อดีต รมต. ในรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ในบัญชีรวม 4 คน นอกจากนายจุรินทร์ มีอีก 3 คน ได้แก่ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ, นายนริศ ขำนุรักษ์ รมช.มหาดไทย และนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย
  • มีชื่อบุคคลที่เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคไม่นาน และถูกเรียกขานว่า “เลือดใหม่” ได้แก่ น.ส.วทันยา บุนนาค หรือ “มาดามเดียร์” อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร., นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ “ดร.เอ้” อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการ กทม. ในนาม ปชป. รวมถึง พล.อ. บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ “เสธ.อ้าย”
มาร์ค

PR พรรคประชาธิปัตย์ แม้ตัดสินใจเว้นวรรคการลงสมัคร ส.ส. แต่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้า ปชป. ยังเดินสายช่วยผู้สมัคร ปชป. หาเสียง

พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) : ส่งผู้สมัคร 89 คน

  • มีชื่อหัวหน้าพรรค และว่าที่แคนดิเดตนายกฯ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ในลำดับที่ 1 ของบัญชี
  • ไม่มีชื่อเลขาธิการพรรค นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในบัญชี เนื่องจากเจ้าตัวยังขอลงรักษาแชมป์เก่าในฐานะ ส.ส.สุพรรณบุรี
  • มีชื่อ “มือเศรษฐกิจ” ที่ย้ายจากพรรคอื่นเข้ามาสังกัด ชทพ. ใน 10 ลำดับแรกของบัญชี ทั้งนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ซึ่งมาจาก พปชร., นายกนก วงษ์ตระหง่าน อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. และนายสันติ กีระนันทน์ ซึ่งมาจากพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.)
ท็อป

PR พรรคชาติไทยพัฒนา วราวุธ ศิลปอาชา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของ ชทพ. และว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ในระหว่างหาเสียงที่ จ.สุพรรณบุรี

พรรคเสรีรวมไทย (สร.) : ส่งผู้สมัครครบ 100 คน

  • มีชื่อหัวหน้าพรรค และว่าที่แคนดิเดตนายกฯ พรรค พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรค อยู่ในลำดับที่ 1
  • มีชื่อเลขาธิการพรรค นายวิรัตน์ วรศสิริน อยู่ในลำดับที่ 2 ของบัญชี

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว