เลือกตั้ง 2566 : เปิดกลยุทธ์การสื่อสารของพรรคการเมือง เพื่อแก้เกม “บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ต่างเบอร์”

ในอดีต ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อาจลุ้นผลการจับสลากได้ตัวเลขหลักเดียวเป็นหมายเลขผู้สมัคร เพื่อให้ง่ายต่อการสร้างภาพจำและสื่อสารกับประชาชนผ่าน 10 นิ้วมือของตัวเอง

แต่ปัจจุบัน ด้วยจำนวนพรรคการเมืองที่มากขึ้น ทำให้หลายเขตเลือกตั้งมีผู้สมัครที่จับได้ตัวเลข 2 หลัก ทว่านั่นไม่ใช่อุปสรรคเดียวในการรณรงค์หาเสียงของพวกเขา ซึ่งนอกจากต้องเก็บคะแนนเสียงให้ตัวเองแล้ว ยังต้องช่วยเก็บคะแนนเข้าพรรค แต่เบอร์คนกับพรรคดันไม่ใช่หมายเลขเดียวกันด้วย

ในการเลือกตั้ง 2566 จะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบแรก เลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) จำนวน 100 คน และอีกใบ เลือก ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน แม้อยู่พรรคเดียวกัน แต่ผู้สมัครต่างคนก็ต่างหมายเลข

ทั้งหมดนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2566

ต่อมาเมื่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยตัวอย่างบัตรเลือกตั้ง ส.ส. ทั้ง 2 ระบบ โดยเฉพาะบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต ที่มีเพียงเบอร์ผู้สมัคร ไม่มีโลโก้พรรค และชื่อพรรค หรือที่เรียกว่า “บัตรโหล” ได้ก่อเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากบรรดานักเลือกตั้ง บ้างก็ว่า “สร้างความยุ่งยาก ซับซ้อน ทำให้เกิดบัตรเสียง่าย” บ้างก็ว่า “เป็นเงื่อนไขทำให้มีการสลับสับเปลี่ยน เปิดช่องทุจริตได้”

อย่างไรก็ตาม นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ยืนยันว่า เป็นรูปแบบบัตรมาตรฐานที่ใช้จัดการเลือกตั้งในไทยทุกครั้งที่ผ่านมา ยกเว้นในปี 2562 และเชื่อว่าการนำบัตรโหลมาใช้เลือก ส.ส.เขต ช่วย “ประหยัดงบประมาณ” และ “เป็นการป้องกันบัตรเสียอันเกิดจากความสับสน”

ภายใต้กติกาใหม่ และบัตรเลือกตั้งรูปแบบเก่าที่นำกลับมาใช้ใหม่ แต่ละพรรควางกลยุทธ์การสื่อสารเบอร์ผู้สมัครกับประชาชนเอาไว้อย่างไร

ก้าวไกล : ไม่ติดเบอร์ปาร์ตี้ลิสต์ที่ป้ายหาเสียง

คำสำคัญที่ทั้งแกนนำพรรค ผู้สมัคร ส.ส. ทั้ง 2 ระบบ และผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ต้องนำไปสื่อสารกับประชาชนคือ “กาก้าวไกลทั้ง 2 บัตร”

พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค ก.ก. กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ในระหว่างรณรงค์หาเสียงในพื้นที่ต่าง ๆ จะให้ผู้สมัคร ส.ส.เขตเน้นย้ำเบอร์ของตัวเองเท่านั้น เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน และเน้นสร้างการจดจำหมายเบอร์ผู้สมัคร ส.ส.เขต เป็นหลัก เนื่องจากในบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต มีเฉพาะหมายเลขผู้สมัคร ไม่มีโลโก้และชื่อพรรค

โตโต้

Thai News Pix
ปิยรัฐ จงเทพ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล โชว์เอกสารประกอบการสมัครรับเลือกตั้ง โดยภาพถ่ายที่มีพื้นหลังสีส้มนี้ จะถูกนำไปติดอยู่ที่บอร์ดหน้าหน่วยเลือกตั้ง 14 พ.ค.

เมื่อถึงวันเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง 14 พ.ค. หากใครไม่แน่ใจว่าต้องกาเบอร์อะไรกันแน่ ก็ให้ไปดูหมายเลขผู้สมัครได้ที่กระดานหน้าหน่วยเลือกตั้ง จะเห็นว่าภาพผู้สมัคร ส.ส.เขตของก้าวไกลทุกคนใช้ฉากหลังเป็นสีส้มเหมือนกัน พอเห็นสีส้ม ดูเบอร์ เข้าไปกาก้าวไกล นี่เป็นสิ่งที่เราคิดและเตรียมเอาไว้

“ก้าวไกลจะไม่เน้นประชาสัมพันธ์เบอร์พรรคเลย นี่เป็น strategy (ยุทธศาสตร์) เราจะไม่ติดเบอร์ปาร์ตี้ลิสต์ที่ป้ายหาเสียง จะมีแต่ป้ายหาเสียงของ ส.ส.เขตเท่านั้นที่ติดเบอร์ลงไป เพราะถึงเวลาเข้าคูหา ในบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มันมีชื่อพรรคและโลโก้อยู่แล้ว ถ้าคนจำได้ว่า ‘กาก้าวไกลทั้ง 2 บัตร’ เขาเห็นโลโก้ในบัตรเลือกตั้ง เขาก็รู้ได้ทันทีว่าต้องกาเบอร์อะไร” พิจารณ์กล่าว

รถแห่หาเสียงของพรรคก้าวไกลมีภาพหัวหน้าพรรค ซึ่งในช่องหมายเลขผู้สมัคร มีการถมกากบาทเต็มช่อง

Thai News Pix
รถแห่หาเสียงของพรรคก้าวไกลมีภาพหัวหน้าพรรค ซึ่งในช่องหมายเลขผู้สมัคร มีเครื่องหมายกากบาทเต็มช่อง

เพื่อไทย : “สร้างความแตกต่างในแบบฉบับเดียวกัน”

พรรคเพื่อไทย (พท.) นำกลยุทธ์ “สร้างความแตกต่างใน pattern (แบบฉบับ) เดียวกัน” มาใช้ในการสื่อสารกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ

ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกับบีบีซีไทยว่า การกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส. แต่ละระบบ แต่ละเขตเลือกตั้ง มีหมายเลขแตกต่างกัน “เป็นอุปสรรค ถ้าเราไม่ละเอียด ก็อาจเพลี่ยงพล้ำได้ ดังนั้นโจทย์ของเราคือต้องสื่อสารแล้ว ทำให้ง่ายต่อการปฏิบัติของประชาชน”

ป้ายรณรงค์หาเสียงของ พท. ที่ออกมาในล็อตแรก ก่อนจับสลากได้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 เม.ย. และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 4 เม.ย. เป็นการสื่อสารให้ประชาชนรับรู้นโยบายของพรรค และตัวบุคคล แม้มีการคุมโทนตามสีประจำพรรค แต่ก็ยังมีความหลากหลาย

แต่หลังได้หมายผู้สมัครครบทุกคน-ทุกเขต พท. ภูมิธรรมบอกว่า จะมีการเปลี่ยนแบบป้ายเพื่อสร้างภาพจำให้รู้ถึงเบอร์ที่ต่างกัน

เขายกตัวอย่างว่า หากเป็นผู้สมัคร ส.ส.เขต อาจสวมเสื้อสีขาว/เสื้อแจ็กเก็ตสีขาวของพรรค แต่ถ้าเป็นผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หรือแคนดิเดตนายกฯ อาจสวมสูท หรือถ้าเป็นป้ายปาร์ตี้ลิสต์ อาจมีเฉพาะรูปแคนดิเดตนายกฯ และนำเสนอนโยบายของพรรค

“เราต้องสร้างความแตกต่างในแบบฉบับเดียวกัน ไม่อย่างนั้น จะเกิดความสับสนมาก” รองหัวหน้าพรรค พท. กล่าวและเสริมว่า พท. มีทีมครีเอทีฟมาช่วยคิดเรื่องการใช้สี รูปแบบการวางภาพ และตัวหนังสือ ไว้หมดแล้ว

พท.

Thai News Pix
รถแห่หาเสียงของพรรคเพื่อไทย มีภาพว่าที่แคนดิดเดตนายกฯ ของพรรคสวมเสื้อสูท ถ่ายคู่กับผู้สมัคร ส.ส.กทม. ซึ่งในป้ายหลัก ไม่มีช่องติดหมายเลขผู้สมัครแต่อย่างใด

รทสช.-ชพก. แบ่งป้าย “คนละครึ่ง” เขต-ปาร์ตี้ลิสต์

บีบีซีไทยสำรวจป้ายรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่ติดอยู่ด้านข้างรถแห่ของผู้สมัคร ส.ส.กทม. จากพรรคการเมืองต่าง ๆ โดยถือเป็น “สาร” ตัวแรก ๆ ที่พวกเขาจะสื่อถึงประชาชน ภายหลังเสร็จสิ้นการจับสลากหมายเลขผู้สมัคร ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (3 เม.ย.)

รถแห่ของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) จัดวางรูปแบบป้ายหาเสียงใกล้เคียงกัน โดยด้านซ้าย มีภาพผู้สมัคร ส.ส.เขต และทีมงานกำลังเตรียมติดเบอร์ผู้สมัครที่เพิ่งจับสลากได้แบบสด ๆ ร้อน ๆ ก่อนแห่ไปรอบกรุง ส่วนด้านขวา กันไว้เป็นพื้นที่หัวหน้าพรรค/แคนดิเดตนายฯ ในบัญชีของพรรค พร้อมเบอร์ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งยังเว้นว่างไว้ รอการสมัครและจับหมายเลขผู้สมัครในวันที่ 4 เม.ย.

ส่วนรถแห่ของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีภาพหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีม กทม. ปรากฏในป้ายหาเสียงผู้สมัคร ส.ส.เขต พร้อมใบหน้าผู้สมัคร ทว่า ภท. เลือกแสดงเฉพาะเบอร์ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เท่านั้น

รถแห่

Hataikarn Treesuwan/BBC Thai
ป้ายที่ติดไว้ประจำรถแห่หาเสียงของพรรครวมไทยสร้างชาติ
รถแห่

Hataikarn Treesuwan/BBC Thai
ป้ายที่ติดไว้ประจำรถแห่หาเสียงของพรรคชาติพัฒนากล้า

กกต. ยืนยันใช้บัตรมาตรฐาน ป้องกันบัตรเสีย

ในขณะที่พรรคการเมืองในฐานะ “ผู้เล่น” ต้องวางกลยุทธ์การสื่อสารกับประชาชน เพื่อแก้เกม “บัตร 2 ใบ ต่างเบอร์” กกต. ในฐานะ “ผู้คุมกฎ” ได้ออกมายืนยันว่า เป็นรูปแบบบัตรมาตรฐานที่ใช้จัดการเลือกตั้งในไทยทุกครั้งที่ผ่านมา

นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาเมื่อ 1 เม.ย. สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

บัตรมาตรฐานแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง : ไม่มีรายชื่อผู้สมัคร มีเฉพาะหมายเลขผู้สมัคร หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “บัตรโหล” ซึ่งเลขาธิการ กกต. ระบุว่า “ทุกการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในประเทศไทย ใช้บัตรเลือกตั้งแบบนี้มาโดยตลอด”

บัตรมาตรฐานแบบบัญชีรายชื่อ : มีเฉพาะหมายเลขผู้สมัคร, สัญลักษณ์/เครื่องหมายพรรค และชื่อพรรคการเมือง เริ่มใช้บัตรเลือกตั้งรูปแบบนี้ในการเลือกตั้งปี 2544 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้แต่รัฐธรรมนูญ 2540 (กำหนดให้มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เป็นครั้งแรก) ซึ่งเลขาธิการ กกต. ระบุว่า “ทุกการเลือกตั้งใช้บัตรนี้มาตลอด”

บัตรเลือกตั้ง

Facebook/Sawaeng Boonmee
บัตรเลือกตั้ง

Facebook/Sawaeng Boonmee

อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งหนล่าสุดเมื่อปี 2562 ที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม กกต. ได้นำ “บัตรเลือกตั้งแบบเฉพาะ” มาใช้ โดยผสมระหว่างบัตรแบบแบ่งเขตกับแบบบัญชีรายชื่อไว้ด้วยกันในใบเดียว และมี 350 แบบ ตามจำนวนเขตเลือกตั้ง ในบัตรมีข้อมูล 3 ส่วน ได้แก่ หมายเลขผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง, สัญลักษณ์/เครื่องหมายพรรค และชื่อพรรคการเมือง และไม่มีชื่อของผู้สมัคร ส.ส.เขต ในบัตรแต่อย่างใด

เลขาธิการ กกต. ยังชี้ให้เห็น 3 ข้อดีของบัตรมาตรฐานแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

  • มีความชัดเจนแตกต่างจากบัตรแบบบัญชีรายชื่อ ทั้งสี และองค์ประกอบภายในบัตร ทำให้ประชาชนสังเกตเห็นได้ชัดเจน ไม่สับสน เพราะบัตรประเภทหนึ่งมีเพียงหมายเลข ไม่มีตัวหนังสือ และสัญลักษณ์ ต่างจากบัตรอีกประเภทหนึ่งที่มีครบทั้ง 3 อย่าง “เป็นการป้องกันบัตรเสียอันเกิดจากความสับสนลักษณะนี้อีกทางหนึ่งด้วย”
  • ประหยัดงบประมาณเป็นจำนวนมาก เพราะบัตรมาตรฐานพิมพ์พร้อมกันในครั้งเดียว แต่บัตรแบบเฉพาะเขต ต้องสั่งพิมพ์ 400 ครั้ง ตามจำนวนเขต
  • สะดวกในการบริหารจัดการ และใช้เวลาอันมีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากที่ต้องมาทำงานธุรการ อาทิ การส่งให้ตรงกับเขต กรณีเป็นแบบเฉพาะ ถ้าส่งผิดเขตจะใช้แทนกันไม่ได้ การพิมพ์บัตรสำรองในแต่ละเขต ก็ต้องมีสำรองครบตามจำนวนเขต เพราะใช้แทนกันไม่ได้ หรือปัญหาทางเทคนิคอื่น ๆหมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว