เปิดแผนการบ้าคลั่งของอเมริกา ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์บนดวงจันทร์

Getty Images

ช่วงทศวรรษที่ 1950 ในห้วงเวลาที่สหภาพโซเวียตดูเหมือนจะล้ำหน้าในการแข่งขันอุตสาหกรรมอวกาศ นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ได้คิดแผนแปลกประหลาด เพื่อทิ้งระเบิดพื้นผิวดวงจันทร์ หวังทำให้โซเวียตต้องหวาดหวั่น

วินาทีที่นักบินอวกาศ นีล อาร์มสตรอง ก้าวลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ในปี 1969 ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดหน้าหนึ่งของโลก

แต่ลองจินตนาการดูว่าถ้าดวงจันทร์ที่อาร์มสตรอง ก้าวลงไป เป็นหลุมบ่อขนาดยักษ์ และเต็มไปด้วยพิษกัมมันตรังสี จากการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ หน้าประวัติศาสตร์นั้นจะเปลี่ยนไปแค่ไหน

ผลงานวิจัยฉบับหนึ่ง ชื่อว่า “การศึกษาถึงการบินวิจัยไปดวงจันทร์ ฉบับที่ 1” (A Study of Lunar Research Flights, Vol 1) หากอ่านชื่อแล้ว คงคิดว่าเป็นงานวิจัยวิชาการที่ดูไม่มีพิษมีภัยอะไร และง่ายต่อการถูกมองข้าม ซึ่งนั่นอาจเป็นเป้าประสงค์ของการตั้งชื่อเช่นนั้นก็ได้

แต่หากพลิกไปดูหน้าปกของงานวิจัย ภาพที่สื่อออกมาแทบจะตรงกันข้ามกับชื่อผลงานเลย

เลื่อนสายตาลงไปที่ผู้เชียนงานวิจัย คือ แอล ไรฟ์เฟล หรือ เลโอนาร์ด ไรฟ์เฟล หนึ่งในนักฟิสิกส์นิวเคลียร์คนสำคัญของสหรัฐฯ และเขาเคยทำงานร่วมกับ เอนริโก แฟร์มี ผู้สร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งแรกของโลก ผู้ได้รับสมญานามว่า “สถาปนิกแห่งระเบิดนิวเคลียร์”

งานวิจัยนี้ของไรฟ์เฟล อธิบายถึง “โปรเจ็กต์ เอ119” ซึ่งเป็นข้อเสนอลับสุดยอด เพื่อจุดระเบิดไฮโดรเจนบนดวงจันทร์ โดย ไรฟ์เฟล จัดทำรายงานให้กับเจ้าหน้าที่อาวุโสของกองทัพอากาศ ระหว่าง พ.ค. 1958 ถึง ม.ค. 1959 ถึงความเป็นไปได้ของแผนการนี้

*หมายเหตุ: ระเบิดไฮโดรเจนในแผนการนี้ มีพลานุภาพการทำลายล้างที่มากกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่ถูกทิ้งในฮิโรชิมา ของญี่ปุ่น เมื่อปี 1945 และเป็นอาวุธนิวเคลียร์ประเภทล่าสุดที่ถูกออกแบบในเวลานั้น

เวลานั้น สหรัฐฯ วิตกว่าเทคโนโลยีขีปนาวุธของโซเวียตจะล้ำหน้าเกินกว่าที่สหรัฐฯ จะตามทัน

Getty Images
เวลานั้น สหรัฐฯ วิตกว่าเทคโนโลยีขีปนาวุธของโซเวียตจะล้ำหน้าเกินกว่าที่สหรัฐฯ จะตามทัน

หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ผลักดันแผนการอันน่าสะพรึงกลัวนี้ คือ คาร์ล ซากัน นักดาราศาสตร์หัวก้าวหน้า และอันที่จริง โลกพึ่งค้นพบแผนการนี้ ในช่วงทศวรรษที่ 1990 เท่านั้น หลัง ซากัน กล่าวถึงโครงการทิ้งระเบิดดวงจันทร์ในใบสมัครเข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่ง

แล้วทำไมอเมริกาถึงพิจารณาทิ้งระเบิดนิวเคลียร์บนดวงจันทร์ เหตุผลก็เพื่อแสดงแสนยานุภาพทางทหาร โดยระเบิดจะถูกจุดชนวนขึ้นบนจุดที่เรียกว่า “เส้นเทอมิเนเตอร์” ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างด้านสว่างและด้านมืดของดวงจันทร์

เมื่อระเบิดถูกจุดขึ้น มันจะก่อให้เกิดแสงสว่างวาบที่ประชากรโลก โดยเฉพาะผู้คนในสหภาพโซเวียตจะเห็นได้ด้วยตาเปล่า อย่างไรก็ดี เนื่องจากดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศ ทำให้การระเบิดของระเบิดไฮโดรเจน จะไม่ก่อให้เกิดกลุ่มควันรูปดอกเห็ด

แรงจูงใจเบื้องหลังการเสนอแผนการน่าสะพรึงกลัวเช่นนี้ มาจากความรู้สึกไม่มั่นคง และการกระเสือกกระสนของอเมริกาในเวลานั้น

เพราะในช่วงทศวรรษที่ 1950 ไม่มีสัญญาณใดเลยที่บ่งชี้ว่า สหรัฐฯ จะชนะสงครามเย็น ไม่เพียงเท่านั้น ทัศนคติทางการเมืองและประชาชนในอเมริกาเอง เชื่อว่า สหภาพโซเวียตกำลังนำหน้าด้านคลังแสงนิวเคลียร์ โดยเฉพาะการพัฒนา ปริมาณเครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ และขีปนาวุธที่มีศักยภาพบรรจุหัวรบนิวเคลียร์

ในปี 1952 สหรัฐฯ จุดชนวนระเบิดไฮโดรเจนลูกแรก ต่อมา 3 ปี สหภาพโซเวียตสร้างความประหลาดใจต่อสหรัฐฯ ด้วยการจุดชนวนระเบิดไฮโดรเจนที่โซเวียตพัฒนาขึ้นเอง

ในปี 1957 โซเวียตแซงหน้าสหรัฐฯ ด้วยการส่งดาวเทียมสปุตนิค 1 ซึ่งถือเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลก ไปโคจรนอกชั้นบรรยากาศ ไม่เพียงเท่านั้น ความสำเร็จนี้สร้างความปั่นป่วนแก่สหรัฐฯ เพราะโซเวียตส่งดาวเทียมขึ้นไปด้วยขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นดัดแปลง ในขณะที่แผนส่ง “ดวงจันทร์เทียม” ของสหรัฐฯ จบด้วยการระเบิดครั้งใหญ่ ซึ่งถูกบันทึกภาพและเผยแพร่ไปทั่วโลก

.

Getty Images
ความสำเร็จในการส่งดาวเทียมสปุตนิก สร้างความกระวนกระวายต่อสหรัฐฯ

ช่วงเวลานั้น นักเรียนในอเมริกาถูกสอนให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ผ่านวิดีทัศน์ให้ความรู้ ชื่อ “Duck and Cover” ที่ใช้ตัวการ์ตูนรูปเต่า ช่วยสอนเด็ก ๆ ว่าต้องทำตัวอย่างไร หากสหรัฐฯ ถูกทิ้งระเบิดนิวเคลียร์

แล้วในปีเดียวกัน หนังสือพิมพ์สหรัฐฯ รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่อาวุโสหน่วยข่าวกลองว่า “โซเวียตเตรียมทิ้งระเบิดไฮโดรเจนดวงจันทร์ ในโอกาสครบรอบการปฏิวัติ 7 พ.ย.” (The Daily Times, New Philadelphia รัฐโอไฮโอ) ตามติดด้วยรายงานว่า สหภาพโซเวียตอาจกำลังวางแผนยิงจรวดติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ใส่ประเทศเพื่อนบ้านของสหรัฐฯ

แต่เช่นเดียวกับข่าวลือช่วงสงครามเย็นอื่น ๆ ที่มาของข่าวนั้น หายไปในกลีบเมฆจนยากจะสืบหา

ที่น่าแปลกใจคือ ความหวาดหวั่นจากข่าวเหล่านี้ กระตุ้นให้สหภาพโซเวียตพัฒนาแผนการระเบิดดวงจันทร์ด้วยระเบิดไฮโดรเจน คล้ายกับแผนการของสหรัฐฯ โดยตั้งชื่อแผนว่า โค้ดเนม อี4 ซึ่งต้องถือว่าแทบจะสำเนามาจากแผนของสหรัฐฯ ทั้งวิธีการและเป้าหมาย

แต่ท้ายสุด ทั้งแผนของสหรัฐฯ และโซเวียต ก็ต้องถูกพับไป ด้วยเหตุผลคล้ายกัน คือ การทิ้งระเบิดดวงจันทร์ที่ล้มเหลว อาจกลายเป็นดาบสองคม ทำให้สหรัฐฯ และโซเวียต ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ใส่ประเทศตัวเอง ซึ่งเป็น “เหตุการณ์ระดับนานาประเทศที่ไม่ประสงค์ให้เกิดขึ้น”

และท้ายสุด สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตอาจตระหนักว่า การส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ จะเป็นชัยชนะที่มากกว่า

แต่หากสหรัฐฯ เดินหน้าต่อ โปรเจ็กต์ เอ119 โอกาสที่แผนการจะสำเร็จนั้น สูงมาก

เพราะในปี 2000 ไรฟ์เฟล ยืนกรานถึง “ความเป็นไปได้ทางเทคนิก” ว่าแสงจากการระเบิดดวงจันทร์ จะเห็นได้จากตาเปล่าบนโลกมนุษย์ ซึ่งในเวลานั้น สภาพแวดล้อมบนดวงจันทร์เป็นสิ่งที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ ไม่ใส่ใจมากนัก แม้นักวิทยาศาสตร์จะกังวลก็ตาม

“โปรเจ็กต์ เอ119 เป็นหนึ่งในแนวคิดหลายอย่างที่ถูกพูดถึง เพื่อตอบโต้การส่งดาวเทียมสปุตนิกไปอวกาศ” อเล็กซ์ เวลเลอร์สไตน์ นักประวัติศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ กล่าว “นั่นรวมถึงการยิงดาวเทียมสปุตนิก ซึ่งดูไม่เหมาะสมไปหน่อย แต่ล้วนเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ อยากทำเพื่อทำให้ประชาชนประทับใจ”

“ท้ายสุด สิ่งที่สหรัฐฯ ทำคือการส่งดาวเทียมของตนเองขึ้นไปโคจรนอกชั้นบรรยากาศโลก แม้มันจะช้ากว่าโซเวียตเล็กน้อยก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน แผนการทิ้งระเบิดดวงจันทร์ ก็ยังเดินหน้าไปอยู่ระยะหนึ่ง อย่างน้อยก็จนถึงปลายทศวรรษที่ 1950”

สหรัฐฯ พยายามส่งดาวเทียมไปอวกาศในปี 1957 แต่จรวดระเบิดตอนปล่อยตัว

Getty Images
สหรัฐฯ พยายามส่งดาวเทียมไปอวกาศในปี 1957 แต่จรวดระเบิดตอนปล่อยตัว

“แผนการนี้สะท้อนถึงทัศนคติของคนอเมริกันในเวลานั้น ที่ต้องการแข่งขันเพื่อสร้างสิ่งที่น่าประทับใจ ผมคิดว่าในกรณีนี้ ความน่าประทับใจและสะพรึงกลัว มันใกล้เคียงกันมาก”

อย่างไรก็ดี เขาไม่แน่ใจว่า ความกลัวการล่าแม่มดของขบวนการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทำให้นักฟิสิกส์นิวเคลียร์ ตัดสินใจร่วมแผนการนี้หรือไม่ “คนที่มีบทบาทในแผนการนี้ น่าจะอาสามาเข้าร่วมในระดับหนึ่ง” เขากล่าว “พวกเขาไม่มีปัญหาที่จะทำงานนี้ เพราะถ้าพวกเขาหวาดกลัว ก็คงไปทำอะไรอย่างอื่นแล้ว อันที่จริง นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากทำอะไรลักษณะนี้ในช่วงสงครามเย็น พวกเขาถึงกับกล่าวว่า ฟิสิกส์กลายเป็นเรื่องการเมืองมากเกินไป”

สำหรับ เบลดดิน โบเวน ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านอวกาศ ระบุว่า ช่วงเวลานั้น “มันเหมือนคุณต้องทิ้งระเบิดนิวเคลียร์สักที่หนึ่ง”

“มันมีการศึกษาที่จริงจัง แต่ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจริงจัง หรือได้รับความสนใจมากนัก… มันเป็นหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของยุคบ้าคลั่งด้านอวกาศในช่วงปลายทศวรรษที่ 1950 ถึงต้น 1960 ก่อนที่จะมีใครรู้ว่ายุคสมัยแห่งอวกาศจะมีหน้าตาอย่างไร” เขากล่าว

ถามว่า แผนบ้าคลั่งเช่นนี้จะถูกนำมาพิจารณาอีกหรือไม่ แม้ฉันทามติของต่างชาติจะต่อต้าน “ผมได้ยินคนในบางองค์กรพูดถึง ขณะที่เพนตากอน ก็กำลังดูเรื่องภารกิจสำหรับกองกำลังอวกาศสหรัฐฯ เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมบนดวงจันทร์” โบเวน เสริม

หากแผนการแปลกประหลาดเช่นนี้ ไม่ได้มาจากสหรัฐฯ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่เกิดไอเดียเช่นนี้บนโลก เพราะประเทศอื่นก็มีสิทธิจะทำได้ ยกตัวอย่าง ประเทศจีน “ผมจะไม่แปลกใจเลยหากมีกลุ่มคนในจีน ต้องการผลักดันไอเดียลักษณะนี้ เพราะคิดว่าทิ้งระเบิดดวงจันทร์มันเท่ และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อกองทัพ”

อย่างไรก็ดี รายละเอียดเชิงลึกของ โปรเจ็กต์ เอ119 ยังเต็มไปด้วยปริศนา และเอกสารเกี่ยวกับแผนการนี้ก็ถูกทำลายไปเกือบหมด

บทเรียนสำหรับเรื่องนี้ คือ อย่าตัดสินว่าอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญ จากแค่ชื่องานวิจัยที่ดูเรียบง่าย จนกว่าคุณจะได้อ่านมัน

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว