กรมควบคุมโรค เผยมี 2 กลุ่มเป้าหมาย รับวัคซีนฝีดาษลิง ส.ค. นี้

โสภณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค
โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค

กรมควบคุมโรค เผยแนวทางใช้วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง 2 กลุ่มเป้าหมาย ย้ำวัคซีนเป็นเครื่องมือป้องกันโรค ลดอาการรุนแรง ลดป่วยหนัก ลดเสียชีวิต แต่ไม่ได้ป้องกันโรคได้ 100%

วันที่ 7 สิงหาคม 2565 นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายของวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงที่คาดว่าจะนำเข้ามาใช้ในไทยประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2565 นั้นจะต้องพิจารณาหลายด้าน เช่น ประสิทธิภาพในการป้องกัน ผลข้างเคียงต่าง ๆ และสถานการณ์การระบาด

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะรับวัคซีนเบื้องต้นแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

1.กลุ่มก่อนการสัมผัสเชื้อ (Pre-exposure) ได้แก่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ เช่น ดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด หรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ

2.กลุ่ม Post-exposure คือฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงหลังสัมผัสโรคไม่เกิน 14 วัน ซึ่งหากฉีดเร็วจะมีโอกาสป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น

พร้อมย้ำว่าวัคซีนเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือป้องกันโรค ไม่มีวัคซีนใดที่จะสามารถป้องกันโรคได้ 100% วัคซีนมีหน้าที่ช่วยลดอาการรุนแรงของโรค ลดป่วยหนัก ลดเสียชีวิต

สิ่งสำคัญที่สุดคือ การมีพฤติกรรมการป้องกันโรคที่เคร่งครัด ซึ่งจะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทั้งโรคฝีดาษวานร และโควิด-19 เน้นย้ำการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด และงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้ประวัติหรืออาการป่วยมาก่อน โดยเฉพาะผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หนอง และไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น

“แม้ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ ๆ แล้วิแต่ยังต้องติดตามข้อมูลผลข้างเคียงและประสิทธิภาพของวัคซีนเมื่อใช้จริงในประชากร”

รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวต่อไปว่า เวลานี้พบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานรจำนวน 4 ราย เป็นชาวต่างชาติ 2 ราย และสัญชาติไทย 2 ราย จากการเฝ้าระวังติดตามอาการผู้ป่วยพบอาการป่วยไม่รุนแรง แม้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ โรคนี้สามารถหายได้เองในระยะ 2-4 สัปดาห์ โดยให้ยารักษาตามอาการ และไม่ได้ติดต่อกันได้ง่าย ๆ

ความเสี่ยงที่จะติดโรคนั้น ส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสรอยโรคผิวหนัง เช่น ผื่น ตุ่มหนอง สารคัดหลั่ง หรือสัมผัสใกล้ชิดมาก ๆ กับผู้ป่วย หรือบาดแผลของผู้ป่วย รวมทั้งการติดต่อผ่านทางละอองทางเดินหายใจจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น หน้าแนบหน้า

สอดคล้องกับคำแนะนำของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ให้ใช้วัคซีนป้องกันโรคในกลุ่มที่จำเป็น เช่น บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ซึ่งสิ่งที่สำคัญอันดับแรกคือ การป้องกันโรคโดยไม่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย งดเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น และล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันติดเชื้อจะเป็นการดีที่สุด