ฟิลิปส์ หนุนโครงการหัวใจสัญจร จัดหน่วยออกตรวจโดยแพทย์ที่สระแก้ว

ปี 2563 คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจกว่า 2 หมื่นราย ขณะที่ค่ารักษาผู้ป่วยเฉลี่ยที่ 6.9 ล้านบาทต่อปี ฟิลิปส์ ร่วมกับสมาคมแพทย์โรคหัวใจ และศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ลุยโครงการหัวใจสัญจร นำร่องจัดหน่วยออกตรวจโรคหัวใจโดยแพทย์เฉพาะทาง ที่ จ.สระแก้ว 

วันที่ 28 ตุลาคม 2565 สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ (Noninvasive Cardiovascular Lab) ศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพดำเนิน “โครงการหัวใจสัญจร” ด้วยการจัดหน่วยออกตรวจโรคหัวใจโดยแพทย์เฉพาะทาง และเครื่องตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง (Echocardiography) ที่มาพร้อมระบบการจัดการข้อมูลภาพและรายงานผลสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจ ให้แก่ผู้ป่วยกว่า 100 ราย ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว อ.เมือง จ.สระแก้ว

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ สุพจน์ ศรีมหาโชตะ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย นอกจากการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคหัวใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์แล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคหัวใจอย่างถูกต้อง สมาคมฯ ร่วมมือกับมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในการจัดโครงการหัวใจสัญจรนี้ขึ้นโดยเป็นตัวกลางในการนำทีมแพทย์และบุคลากรมาร่วมในโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจให้รับรู้ในวงกว้าง 

“ต้องบอกว่าโรคหัวใจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเกิดจากพันธุกรรม ความเครียด ไม่ออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ หรืออาจเกิดจากผลของโรคอื่น เช่น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง และการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น ในแต่ละปี ภาครัฐและประชาชนสูญเสียต้นทุนมากมายด้านโรคหัวใจสูงมาก”

ฟิลิปส์_โครงการหัวใจสัญจร_(6)

รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ 6.9 ล้านบาท/ปี

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ สุพจน์กล่าวต่อว่า จากข้อมูลกรมการแพทย์ ระบุว่าประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคหัวใจถึง 6,906 ล้านบาทต่อปี ตอกย้ำว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นภาระด้านสุขภาพที่ต้องการความจำเป็นเร่งด่วนในการได้รับความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางสถานการณ์ที่โควิด-19 ยังคงระบาดอยู่ ทำให้มีผู้ป่วยรอคอยการตรวจเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผู้ป่วยโรคหัวใจมีความเสี่ยงต่ออาการหนักหากติด

โควิด-19 โดยอาจมีอาการหัวใจวายหรือภาวะหัวใจล้มเหลว เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ดังนั้น ทางสมาคมฯ มุ่งมั่นในการช่วยเผยแพร่ความรู้เชิงป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจในคนไทย รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยในระยะแรกๆ อย่างถูกวิธี เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการรักษาทั้งด้านค่าใช้จ่ายและเวลาด้วยเช่นกัน

รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ และ ผศ.พญ.สมนพร บุณยะรัตเวช สองเมือง
รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ และ ผศ.พญ.สมนพร บุณยะรัตเวช สองเมือง

ใช้เทคโนโลยีเข้ารักษา

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิง สมนพร บุณยะรัตเวช สองเมือง หัวหน้าห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ (Noninvasive Cardiovascular Lab) ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่าโรคหัวใจมีความรุนแรงและความซับซ้อน จึงต้องอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจวินิจฉัย เนื่องจากโรคหัวใจมีหลายประเภท อาทิ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งการรักษาโรคหัวใจก็จะมีแนวทางที่แตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนต้น คือ การตรวจที่มีประสิทธิภาพ

แพทย์สามารถแยกประเภทและความรุนแรงของโรคหัวใจ นำไปสู่การวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม การตรวจที่จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในการตรวจที่สำคัญ คือ การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiography) หรือเรียกย่อๆว่า Echo โดยใช้หลักการของคลื่นอัลตราซาวน์ผ่านหน้าอกผู้ป่วยไปยังหัวใจ สามารถตรวจการทำงานและโครงสร้างของหัวใจ ได้แก่ การบีบและการคลายตัวของหัวใจ การปิดเปิดของลิ้นหัวใจ การตรวจลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ การตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น 

“เครื่อง Echo สามารถเคลื่อนย้ายได้และเป็นการตรวจที่มีความปลอดภัย ไม่มีรังสีที่เป็นอันตราย ผู้ป่วยตั้งครรภ์ก็สามารถตรวจได้โดยไม่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์ ดังนั้น จึงได้เลือกวิธีการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจมาใช้ในการออกหน่วยในครั้งนี้ นอกจากนี้ ทางบริษัทฟิลิปส์ยังได้นำระบบจัดการข้อมูลภาพและรายงานผล มาช่วยการตรวจและเมื่อได้รับผลการตรวจแล้ว แพทย์สามารถพิจารณาข้อมูลเพื่อให้ได้แนวทางการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย”

ฟิลิปส์สนับสนุนเครื่องตรวจ

นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าฟิลิปส์ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพ เรามุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น การช่วยเหลือสังคมและสนับสนุนการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของเรา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้ร่วมสนับสนุนหน่วยงานและองค์กรต่างๆ มากมาย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะเราเล็งเห็นถึงความสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีในประเทศไทย 

และครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่เราได้มีโอกาสทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ด้านโรคหัวใจจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ และจากห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ในการนำเครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง (Echocardiography) และระบบการจัดการข้อมูลภาพและรายงานผลสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจ (ISCV) จากฟิลิปส์มาให้บริการผู้ป่วยที่จังหวัดสระแก้วแห่งนี้ เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น

นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์
นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์

17.9 ล้านคนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ

ทั้งนี้ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Diseases: CVDs) เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตทั่วโลก โดยคร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 17.9 ล้านคนในแต่ละปี (ประมาณ 32% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลก) นอกจากนั้น 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตจากโรคนี้เกิดขึ้นก่อนวัยอันควร (อายุต่ำกว่า 70 ปี) 

สำหรับในประเทศไทย อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดในช่วงปี 2563 อยู่ที่ 21,309 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ในขณะที่จำนวนแพทย์ก็ยังไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วย ซึ่งจากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ในปีพ.ศ. 2564 มีสัดส่วนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1,680 คน อีกทั้ง จำนวนแพทย์ต่อประชากรไม่ได้กระจายเท่ากันทุกพื้นที่ อย่างในกรุงเทพมหานคร อัตราแพทย์ 1 คนต่อประชากรเฉลี่ย 515 คน ในขณะที่จังหวัดเชียงใหม่อัตราแพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,144 คนจังหวัดกระบี่อัตราแพทย์ 1 คนต่อประชากร 2,977 คน จังหวัดสระแก้ว อัตราแพทย์ 1 คนต่อประชากรเฉลี่ย 3,483 คน เป็นต้น