ดินสอพอง ของใช้ยอดฮิตช่วงสงกรานต์ ประโยชน์มากกว่าที่คิด

ดินสอพอง สงกรานต์ เทศกาลสงกรานต์

รู้จักดินสอพอง ของยอดฮิตประจำเทศกาลสงกรานต์ ที่มีประโยชน์มากกว่าแค่ใช้ปะพรมใบหน้าและผิว

ดินสอพอง หนึ่งในของใช้ไทย ที่อยู่กับคนไทยมาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลแห่งการคลายร้อนแบบไทย ที่มีน้ำ ความสนุก และดินสอพอง เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการคลายร้อน และสร้างความสนุกสนานในหน้าร้อน

แต่เรื่องราวที่ลึกลงไปกว่าการเป็นอุปกรณ์ประจำหน้าร้อน ยังมีมากกว่านั้น เพราะเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาของคนไทย ที่นำมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ ทั้งการดูแลสุขภาพร่างกาย และการต่อยอดในหลาย ๆ อุตสาหกรรม

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนรู้จัก ดินสอพอง ของใช้คู่คนไทยประจำเทศกาลสงกรานต์ให้มากขึ้นไปด้วยกัน

ดินสอพอง คืออะไร?

ดินสอพอง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากดินมาร์ล (marl) หรือหินปูนผุ ข้อมูลในทางธรณีวิทยาระบุว่า หินปูนผุ หรือ ดินมาร์ล มีแคลเซียมคาร์บอนเนต (CaCo3) อยู่ร้อยละ 50-80 ส่วนประกอบอื่น ๆ คือแร่ซิลิกา (SiO2) และอื่น ๆ มีเนื้อละเอียดมาก

เมื่อนำดินมาร์ลมาบด ร่อน ผสมน้ำ แล้วกรองจนสะอาด ปล่อยเนื้อดินให้ตกตะกอนนอนนิ่งอยู่ก้นบ่อและดูดน้ำใสออกจากบ่อให้เหลือแต่แป้งเหลวนำมาหยอดใส่แม่พิมพ์ ซึ่งเมื่อตากแห้งแล้วจะได้ดินสอพองรูปแบบต่าง ๆ ตามต้องการ

แหล่งผลิตแป้งดินสอพองที่สำคัญ มาจากแหล่งดินสอพองที่ ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.ลพบุรี และแหล่ง อ.บ้านหมอ อ.ท่าหลวง และ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ซึ่งบริเวณเหล่านี้มีวัตถุดิบสำคัญในการทำดินสอพอง และมีการทำดินสอพองกันแทบทุกบ้าน ถึงขั้นมีการถูกเรียกว่าเป็น “หมู่บ้านดินสอพอง”

นอกจากนี้ ยังพบแหล่งทำดินสอพองอีกหลายแห่ง เช่น อ.เมือง,อ.ท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี, อ.ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์, อ.แม่ทะและแม่เมาะ จ.ลำปาง, จ.เพชรบูรณ์ และอีกหลายแห่งที่มีภูเขาหินปูน

ดินสอพอง ทำอย่างไร?

กระบวนการทำดินสอพอง จะเริ่มจากการขนดินมาร์ลใส่บ่อกาก แล้วปล่อยน้ำลงไปผสมให้ดินละลาย เมื่อดินละลายน้ำดีแล้ว ตักน้ำในบ่อกากเทใส่ตะแกรงลงในบ่อกรองหรือบ่อเนื้อเพื่อแยกหินกรวด และเศษหญ้า โดยกากที่เหลือ สามารถใช้ถมที่ได้

จากนั้นตักน้ำดินจากบ่อกรอง เทผ่านผ้ากรองลงในบ่อทำแผ่น ทิ้งไว้ 1 คืน ดินขาวจะตกตะกอน นอนก้นบ่อตอนบนจะเป็นน้ำใส ค่อยๆ ช้อนหรือดูดเอาน้ำใสนี้ออกจากบ่อ จนเหลือแต่แป้งดินขาวข้น เหมือนดินโคลน

เมื่อตกตะกอนจนได้แป้งดินแล้ว ให้ตักโคลนดินสอพอง หยอดใส่แม่พิมพ์กลมที่ทำด้วยเหล็กไม่ขึ้นสนิม หรือไม้ไผ่นำมาขดเป็นวงกลม ก่อนหยอดโลนดินสอพองลงแห้งพิมพ์ จะต้องใช้ผ้าใบหรือผ้าชนิดอื่นๆ ปูรองพื้นก่อน เพื่อให้ผ้าดูดซับน้ำจากโคลน ดินสอพองด้วย

หลังจากหยอดโคลนดินสอพองลงบนพิมพ์แล้ว ปล่อยทิ้งไว้กลางแจ้งสักครู่ แผ่นดินสอพอง จะหมาดเกาะติดกันเป็นก้อนแข็งพอที่จะใช้มือหยิบได้ จึงนำแผ่นดินสอพองไปวางบนตะแกรงไม้ไผ่ ผึ่งแดดให้แห้งสนิท เมื่อแห้งดีแล้วจึงเก็บไว้เพื่อจำหน่ายต่อไป โดยจุดสังเกตหลักว่าดินสอพองแห้ง พร้อมใช่งานแล้ว คือ แผ่นดินสอพองที่แห้งสนิทจะมีสีขาวกว่าแผ่นที่ยังไม่แห้ง

ดินสอพอง มีตำราปรุงสูตรตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ฯ

ดินสอพอง หรือดินมาร์ลที่ว่านี้ มีประโยชน์มหาศาล ทั้งในเชิงการดูแลตัวเอง และประโยชน์เกี่ยวกับอุตสาหกรรม เกษตรกรรม

ตำราโอสถพระนารายณ์ ตำรายาและการรักษาโรค สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการระบุการใช้ดินสอพองเพื่อการรักษาโรคไว้ว่า “ให้เอาชานอ้อย กำยาน แก่นคูน กรักขีถาก รมหม้อใหม่ใส่น้ำไว้ จึงเอาดินสอพองเผาให้สุก ใส่ลงในหม้อน้ำนั้นให้คนไข้กินเนืองๆ แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ หยุดแล” ซึ่งการใช้ดินสอพองเพื่อการรับประทานรักษาโรคนั้น จะต้องผ่านการสะตุ ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งแพทย์แผนไทย

สำหรับ การสะตุ คือ การนำดินสองพองไปเผาไฟซึ่งเป็นการทำให้ดินสอพองปราศจากสิ่งปนเปื้อน โดยใช้กรรมวิธีนำ ดินสอพองใส่หม้อดิน ปิดฝาหม้อตั้งไว้จนดินสอพองร้อนระอุทั่วหม้อแล้ว จึงปิดไฟและทิ้งไว้ให้เย็น จะพบว่า ดินสอพองที่ผ่านการสะตุต้องมีกลิ่นที่ดีตามธรรมชาติ มีลักษณะเป็นผงหรือก้อน มีสีนวล

นอกจากการใช้ดินสอพองเป็นยาเพื่อการแก้ร้อนในแล้ว ยังมีการนำดินสอพองสะตุแล้วผสมขมิ้นชัน ไพล ว่านนางคำ ฝักส้มป่อย พญายา ฯลฯ หรือปรุงสมุนไพรผง ผสมเนื้อมะขามเปียก เป็นผงขัดตัวสมุนไพร ที่ช่วยให้ผิวสะอาด ถนอมผิวพรรณ โดยดินสอพองเป็นยาเย็น ช่วยลดความระคายเคืองผิว ลดการอักเสบได้ดี รวมถึงใช้ดินสอพองผสมน้ำอบแป้งร่ำ ทาผิวเพื่อให้เย็นสบายคลายร้อน ระงับเหงื่อเนื้อตัวไม่เหนอะหนะ

นอกจากการรักษาโรค การดูแลผิวตามที่กล่าวมานี้ ดินสอพองยังถูกใช้ในอีกหลายกระบวนการ เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์รักษาสิว การผลิตธูป ตกแต่งเครื่องเรือน การทำไข่เค็มดินสอพอง การทำสีฝุ่น

ในด้านอุตสาหกรรม-เกษตรกรรม มีการใช้ดินสอพอง เป็นวัตถุดิบในการผลิตปูนซีเมนต์โดยวิธีเปียก (Wet Process) โดยนำมาเผาไล่น้ำหรือความชื้นออกก่อนโดยใช้ฟืน ก่อนที่ในเวลาต่อมา จะเปลี่ยนมาใช้หินปูนแทนดินสอพอง

รวมถึงใช้เพื่อการแก้ดินเปรี้ยวหรือดินที่มีฤทธิ์เป็นกรดในนาข้าว ไร่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง หรือสวนผลไม้ เนื่องจากเป็นดินที่มีซัลเฟตสูง โดยใช้ดินสอพองไปโรยเพื่อปรับค่าความเป็นกรดของดิน ให้เป็นกลางเนื่องจากดินสอพองมีฤทธิ์เป็นด่าง ช่วยเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร

อย่างไรก็ดี การใช้ดินสอพอง ต้องระมัดระวังไม่ใช้ในบริเวณที่มีบาดแผล บริเวณดวงตา เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบได้ ต้องรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที หรือลืมตาในน้ำสะอาด เพือลดการระคายเคืองที่เกิดขึ้น

ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์, มติชนสุดสัปดาห์, รักบ้านเกิด, ลพบุรี.org