เลขากฤษฎีกา ปัดลักไก่ตัดเงินเบี้ยผู้สูงอายุ โวยการเมืองปั่น

เลขากฤษฎีกา

ปกรณ์-เลขากฤษฎีกา แจงความเห็นที่ 611/2564 แนะกำหนดเกณฑ์รับเบี้ยผู้สูงอายุ ไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนรัฐบาลทำก็ได้-ไม่ทำก็ได้ แต่สุดท้ายถ้ามีปัญหาต้องไปศาลอยู่ดี โอด ไม่มีใครลักไก่ โวยการเมืองปั่นกระแส

วันที่ 15 สิงหาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้สัมภาษณ์ถึงระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566 ข้อ 6 ผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ (4) เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด

ซึ่งหลักเกณฑ์ใหม่ ออกตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 เรื่องเสร็จที่ 611/2564 ว่า เพื่อไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 48 วรรคสอง ที่ระบุว่า…

“บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปี และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ” ซึ่งโดยธรรมชาติของรัฐธรรมนูญไม่ใช่รัฐสวัสดิการ แต่เป็นการดูแล ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ้ารัฐบาลจะไปกำหนดให้มากขึ้นก็เป็นนโยบายของรัฐบาล เช่น กำหนดให้เป็นสวัสดิการและจ่ายใครบ้าง

นายปกรณ์กล่าวว่า ปัญหาของการหารือ เนื่องจากระเบียบเดิมที่จ่ายไปเขียนเพิ่มว่า ใครที่ได้รับเงินจากรัฐไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบำเหน็จ บำนาญ ห้ามมารับเบี้ยผู้สูงอายุอีก กฤษฎีกาบอกว่าไม่ได้ ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 บัญญัติไว้ว่าอายุ 60 ปีขึ้นไปและเป็นผู้ยากไร้ เพราะฉะนั้นกฤษฎีกาจึงมีความเห็นไปว่า เป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 48 วรรคสอง จึงต้องไปออกเกณฑ์ว่า หนึ่ง ต้องอายุ 60 ปี และสองเป็นผู้ยากไร้ ไม่มีรายได้พอแก่การดำรงชีพ โดยให้ไปอ้างอิงระดับเส้นความยากจน คือ มีเกณฑ์อ้างอิงที่ชัดเจน

นายปกรณ์กล่าววา ในบทเฉพาะกาลของระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับใหม่ ใครก็ตามที่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุอยู่ในปัจจุบันก็ยังได้รับอยู่ ส่วนจำนวนเงินเบี้ยผู้สูงอายุยังรับได้เท่าเดิม ไม่น้อยกว่าเดิม ส่วนจะให้มากกว่าเดิมหรือไม่เป็นเรื่องของรัฐบาลถัดไป โดยผ่านคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ว่าจะใช้เกณฑ์อะไร เช่น คำวินิจฉัยของกฤษฎีกาที่ 611/2564 ให้ไปอิงกับเส้นความยากจน

เมื่อถามว่า การกำหนดคำว่า ผู้ยากไร้ก็เพื่อเป็นการแก้ไขในแง่ของเทคนิคทางกฎหมายเพื่อไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ นายปกรณ์กล่าวว่า ถูก และมีบทเฉพาะกาลรองรับไว้ให้ผู้มีสิทธิ์รับเบี้ยผู้สูงอายุเดิมยังรับเงินได้อยู่และจำนวนได้รับเท่าเดิม จนกว่าคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งขาติ จะออกระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่ขึ้นมา ระหว่างที่หลักเกณฑ์ใหม่ยังไม่ออกมาให้ใช้หลักเกณฑ์เดิมไปก่อน

“ไม่มีใครลักไก่ใครได้หรอก คนจ้องดูจะตาย อย่าให้เป็นประเด็นการเมืองมากนักเลย ประเทศวุ่นวายพอแล้ว กฤษฎีกาทำเป็นข้อสังเกต แนะนำว่าต้องมีเกณฑ์ เช่น จำนวนรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีตามฐานข้อมูลของกรมสรรพากร หรือ จำนวนรายได้ตามเส้นแบ่งความยากจนจากฐานข้อมูลสภาพัฒน์ หรือจำนวนเงินตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างประกาศกำหนดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน รัฐบาลจะทำหรือไม่ทำก็ได้ เป็นเพียงความเห็นกฤษฎีกา เพราะสุดท้ายถ้ามีปัญหาก็ต้องไปศาลอยู่ดี” นายปกรณ์กล่าว

ทั้งนี้ เว็บไซต์สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กำหนดเส้นความยากจนไว้ที่ 2,802 บาทต่อเดือน

ด้านนางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เปิดเผยว่า นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ชี้แจงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า คนที่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุอยู่ก็ได้ต่อไป

เพียงแต่ว่า คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ภายใต้รัฐบาลใหม่จะต้องมาดูนิยามของคำว่าผู้สูงอายุที่จะได้รับเบี้ยยังชีพ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผู้สูงอายุ ซึ่งกำหนดลักษณะผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพในเรื่องรายได้เป็นเกณฑ์ที่ชัดเจน แต่เกณฑ์ควรจะเป็นรัฐบาลใหม่ทำขึ้น ซึ่งถ้าคณะกรรมการผู้สูงอายุหารือกันแล้วคิดว่าต้องการให้ผู้มีอายุหกสิบปีขึ้นไปได้ทั้งหมดก็สามารถทำได้

“รมว.พม.รายงานให้ ครม.ทราบว่า ถ้าเราใช้การจ่ายแบบเดิมอยู่ ในปี 2568 ภาระงบประมาณเฉพาะเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นถึงแสนล้านบาทต่อปี เนื่องจากเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งท่านายกฯ ก็ปรารภว่า ก็ต้องเป็นเรื่องของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ที่น่าจะมาพิจารณาภายใต้รัฐบาลใหม่ รัฐบาลนี้พิจารณาไม่ทันแล้ว” นางณัฐฏ์จารี กล่าว