ต้องแจกเงิน 10,000 บาท คนไทยแบกหนี้ครัวเรือน 91 % รวบตึง 30 วันรัฐบาล

น.พ.พรหมินทร์

น.พ.พรหมินทร์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รวบตึงมาตรการเศรษฐกิจ 30 วันรัฐบาลเศรษฐา ทุกเหตุผลในการเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แผนการสร้างรายได้ และการเคลื่อนตัวเพื่อดึงนักลงทุนจากเวทีระหว่างประเทศ

หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จนถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2566 นับได้ว่า รัฐบาลเศรษฐา ทำงานมาแล้ว 29 วันถ้วน

ท่ามกลางเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศไม่เว้นแต่ละสัปดาห์ ภาวะสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ปะทุขึ้น ในช่วงเดียวกันที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง มีกำหนดการเยือนกลุ่มประเทศอาเซียน ต่อเนื่อง 5 วันรวด

หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 5 ครั้ง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง และคณะกรรมการระดับชาติ 2 คณะ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่หาเสียงไว้อย่างเข้มข้น คือ การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่ง แกนนำรัฐบาบเพื่อไทย คาดหวังว่า จะสามารถสร้างรายได้ ขยายโอกาส ให้กับเศรษฐกิจไทย

ก่อนอายุรัฐบาลล่วงเข้าสู่ 30 วัน นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี แจ้งว่าเป็นหน้าที่ที่เขาต้องสรุปให้เห็นภาพรวมการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ ที่กระจัดกระจาย ให้เห็นเป็นภาพเดียวกัน

Advertisment

ห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า-มุมด้านซ้ายสุด ที่เปิดม่านหน้าต่างมองเห็นห้องนักข่าว-รังนกกระจอกชัดเจนทั้ง 2 ห้อง ของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฉายานายกฯน้อย จึงเปิดวงสนทนาพิเศษ กับนักข่าวสายเศรษฐกิจประจำทำเนียบรัฐบาล

นพ.พรหมินทร์ เริ่มต้นด้วยการอัพเดตจังหวะขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการของพรรคเพื่อไทย (พท.) ในรอบ 29 วัน ของการบริหารประเทศว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยทรุดหนัก ตั้งแต่ก่อนช่วงโควิด เติบโตช้า จนถึงขณะนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ยังไต่ไม่ถึง 7 %

เลขาธิการนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ตั้งคำถามว่า “เศรษฐกิจที่ว่าดี ใครได้ดี ? ขณะที่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงถึง 91.6% ของ GPD สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ขณะที่รายได้ของประชาชนก็เพิ่มขึ้นไม่ทันกับภาวะหนี้สินที่เพิ่มขึ้น”

“ตัวเลขเหล่านี้ ชี้ชัดว่า เศรษฐกิจเราไม่ได้ดีจริง” นพ.พรหมินทร์สรุป

Advertisment

การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet ที่ถูกคัดค้านจากนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์แนวหน้าของประเทศ และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กว่า 100 คน จึงยิ่งทำให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า “รัฐบาลต้องเดินหน้าโครงการนี้เพื่อนำมาชดเชยรายได้ที่หายไปของประชาชน”

เลขาธิการนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า “ประชาชนที่ได้รับเงิน 10,000 บาท จะได้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และบางครอบครัวใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน ใช้เป็นต้นทุนในการทำการผลิตได้ เช่น ครอบครัวไหนที่มี 4-5 คน ก็ได้เงินรวมกัน 40,000-50,000 บาท หรือคนรุ่นใหม่ที่เป็นสตาร์ตอัพก็เอาเงินนี้ไปซื้ออุปกรณ์มาประกอบอาชีพได้ และสามารถรวมกลุ่มกันไปตั้งร้านค้าชุมชน ตั้งวิสาหกิจชุมชน หรือซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร”

ในฐานะเคยเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ยุคนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่เคยขับเคลื่อนโครงการเศรษฐกิจในตำนาน ทั้ง การพักหนี้ กองทุนหมู่บ้าน 7.7 หมื่นล้าน และโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค OTOP เขายกตัวอย่างมาเชื่อมต่อกับโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ครั้งนี้ว่า

“การแจกเงินหมื่นบาท จึงไม่ใช่แค่การแจกเงินให้ไปซื้อของ แต่มีกลไกที่รัฐบาลมองว่าจะทำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในระดับชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยได้ประโยชน์ โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท เปรียบเหมือนโครงการกองทุนหมู่บ้าน แต่เป็นรายบุคคล”

เหตุผลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาสนับสนุน การเดินหน้าโครงการที่ฮอตที่สุดของรัฐบาล ไหลลื่นราวกับแม่น้ำทั้ง 5 สายไหลมารวมกัน

นพ.พรหมินทร์ ชี้แจงพร้อมดูเอกสารประกอบว่า เมื่อมีการใช้จ่ายบริโภคเพิ่มขึ้นจากเงินดิจิทัล ทำให้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันอยู่ที่ 60% ต่ำกว่าหลายประเทศมีโอกาสเพิ่มขึ้น  และเมื่อมีการบริโภคมากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มการผลิต การจ้างงาน ทำให้รัฐจัดเก็บรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นการสร้างแรงส่งทางเศรษฐกิจให้เกิด Multiplier effect ส่งผลให้จีดีพีขยายตัว ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของประชาชนต่อจีดีพีลดลงด้วย

“เป็นการเติมเงินครั้งเดียว ใช้ในเวลาจำกัดกระตุ้นเศรษฐกิจนชุมชน การเติมเงิน 1 หมื่นบาท จะเดินหน้าไปพร้อมกับชุดนโยบายสร้างรายได้ และนโยบายลดรายจ่าย และไม่ผิดวินัยการเงินการคลัง รักษาเสถียรภาพสถาบันการเงิน มุ่งเน้นสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ”

อีกหลักการที่แบ็กอัพโครงการนี้คือ การแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินยุคใหม่ ระบบการเงินยุคใหม่ สนับสนุนด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน

คำถามที่ทุกหย่อมหญ้า ถามหนัก ๆ กันว่า โครงการที่แจกเงินครั้งใหญ่ที่สุดครั้งนี้ รัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน “นายกฯน้อย” มีคำตอบ

“แหล่งเงินที่จะทำมาใช้ในโครงการนี้  560,000 ล้านบาท ยืนยันว่ารัฐบาลเน้นการรักษาวินัยการเงิน การคลัง  มีทางเลือก 3 ทาง ซึ่งอาจใช้หลายแนวทางผสมกัน โดยให้คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการแจกเงินดิจิทัล พิจารณาในรายละเอียด บนพื้นฐานว่าการทำโครงการนี้จะไม่กระทบกับเครดิตเรทติ้งของประเทศ”

ทางเลือกที่ 1 คือการบริหารจัดการงบประมาณปี 2567 ด้วยการลดคำของบประมาณจากหน่วยงานบางแห่ง และเลื่อนการจัดซื้อรายการใหญ่ ๆ ออกไป รวมทั้งชะลอการสร้างอาคารใหม่ ของส่วนราชการ

ทางเลือกที่ 2 คือการใช้เงินนอกงบประมาณ โดยให้หน่วยงานของรัฐออกเงินให้ก่อน ซึ่งรัฐบาลอาจใช้ช่องทางนี้ในการจัดหาแหล่งเงินทุน  200,000-300,000 ล้านบาท  หากเลือกวิธีนี้ก็ต้องขยายเพดานหนี้ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 จะขยายเท่าใด จะขึ้นอยู่กับว่าใช้เงินจากช่องทางนี้แค่ไหน

“รัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมาคืนให้ชัดเจน ซึ่งโดยหลักการแล้วหน่วยงานของรัฐเหล่านี้รัฐบาลถือหุ้นเต็ม 100% เท่ากับว่าหนี้ที่รัฐบาลกู้ยืมมาเป็นหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันทั้ง 100% ที่สำคัญรัฐบาลได้เตรียมแผนรองรับในการใช้หนี้ทุกปีงบประมาณ ปีละ 100,000 ล้านบาท และจะใช้หมดภายใน 3 ปี”

นพ.พรหมินทร์ เปรียบเทียบว่า “หากดูจากขนาดของงบประมาณแผ่นดินปีละกว่า 3.3 ล้านล้านบาท มั่นใจว่าสามารถบริหารและใช้คืนเงินกู้ในส่วนนี้ได้อยู่แล้ว เหมือนในอดีตที่รัฐใช้เงินทำกองทุนหมู่บ้านก็เอาไปเงินของธนาคารออมสินมา 77,000 ล้านบาท และตั้งงบประมาณใช้หนี้คืนปีละ 10,000 กว่าล้านบาทเป็นเวลา 7 ปี”

ทางเลือกที่ 3  คือการกู้เงินโดยตรง ขณะนี้ยังไม่ได้ดูช่องทางนี้ ซึ่งจริง ๆ สามารถกู้ได้เพราะขณะนี้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 60% ขณะที่เพดานอยู่ที่ 70% ขณะที่ขนาดของจีดีพีอยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่ามีช่องที่จะกู้เงินตรงนี้อยู่ 1.7 ล้านล้านบาท และถ้าจีดีพีโตก็ยิ่งมีพื้นที่หายใจมากขึ้นอีก

ทั้ง 3 ทาง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี อาจไม่ได้จงใจตอบคำถาม-โต้แย้งกลุ่มผู้คัดค้าน แต่อธิบายหลักการว่า “”ใช้วิธีใดก็แล้วแต่ ถ้ามีแผนใช้คืนหนี้ที่ชัดเจน ก็จะไม่กระทบกับเครดิต เรตติ้งของประเทศ  จะเห็นว่ารัฐบาลมีทางที่จะหาเงินมาคืนได้แน่นอนเพราะรัฐบาลบริหารเงินเป็น และไม่ได้ทำให้การคลังของประเทศเสียหาย”

“ข้อคิดเห็นที่มีในตอนนี้ ในระบอบประชาธิปไตยสามารถตรวจสอบตัวเลขต่าง ๆ ได้ และต้องดูด้วยความเป็นธรรม ไม่อคติ หรือหวังผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่จ้องทำลายความเชื่อถือ ถ้ามีข้อวิจารณ์ ขอให้วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ทางรัฐบาลรับข้อกังวลทั้งหมดและจะพิจารณาอย่างรอบคอบ”

นพ.พรหมินทร์ ซึ่งเคยใช้ชีวิตเป็นคนใกล้ชิด ได้รับการไว้วางใจจากทั้งประมุขบ้านจันทร์ส่องหล้า และประมุขตึกไทยคู่ฟ้า ยุคทักษิณ ชินวัตร ตลอดทั้ง 2 สมัยต่อเนื่อง เคยดำรง 3 ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ทั้งในยุครัฐบาลทักษิณ 1 และทักษิณ 2 ทั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

เมื่ออยู่ในตึกไทยคู่ฟ้า เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เขาสวมบทบาทคนจ่ายตลาดความคิด-โครงการ-แผนงานและคำสั่ง อย่างแม่นยำ ส่งให้ นายกฯทักษิณ ที่เป็นคนคิดไวทำไว

เมื่อขึ้นสู่ตำแหน่งเก่า-ในรัฐบาลใหม่ 29 วัน นพ.พรหมินทร์ ยอมรับว่า “การทำงานของรัฐบาลนั้นเร็วเกินไป และอาจไม่สามารถอธิบายในรายละเอียดต่าง ๆ ได้หมด ซึ่งในเรื่องเศรษฐกิจจำเป็นที่จะต้องอธิบายเชื่อมโยงให้เห็นการทำงานของรัฐบาลในหลาย ๆ ส่วนที่ออกมาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งภาพรวมคือการพยายามลดค่าครองชีพประชาชน และเพิ่มรายได้ให้ประเทศ”

ทันทีที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี จึงมีการอนุมัติเรื่องของการลดค่าครองชีพที่ทำไปแล้วคือการลดค่าไฟฟ้าจาก 4.45 บาทต่อหน่วย เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย และการลดราคาน้ำมันดีเซลให้ราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งในส่วนนี้ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าไม่เพิ่มสูงขึ้น

ขณะเดียวกันได้มีมาตรการพักหนี้เกษตรกรซึ่งมาตรการได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 1 แสนราย จากเป้าหมาย 2.7 ล้านราย ซึ่งคาดว่าเกษตรกรจะทยอยเข้าโครงการเพิ่มหลังจากนี้

สำหรับการสร้างรายได้ให้กับประเทศ รัฐบาลได้เร่งรัดฟื้นฟูการท่องเที่ยว โดยเร่งออกมาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการวีซ่าฟรีให้กับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน สร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจท่องเที่ยว โดยนายกรัฐมนตรี เดินทางไปสั่งการปรับปรุงและพัฒนาสนามบินอันดามันในพื้นที่ภาคใต้เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวในอนาคต

“การทำงานของนายกรัฐมนตรี ยังเน้นออกไปเยือนต่างประเทศเพื่อพบกับผู้นำนานาชาติ และดึงการลงทุนของนักธุรกิจระดับโลกเข้าในไทย โดยนายกรัฐมนตรีจะไปเยือนจีนในระหว่างวันที่ 16-19 ตุลาคมนี้ มีกำหนดการที่จะหารือกับนักธุรกิจรายใหญ่ของจีนหลายรายที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทยด้วย”

จากนั้นจะเดินทางไปประชุมกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ Gulf Cooperation Council หรือกลุ่มประเทศ GCC ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน รวมทั้งประเทศอาหรับอื่น ๆ  5 ประเทศ ได้แก่ เลบานอน จอร์แดน ซีเรีย อิรัก และเยเมน

เพียง 30 วันของรัฐบาล ท่ามกลางการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทั้งจากคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน