TDRI ชี้ “คาร์บอนต่ำ-เอไอ-สังคมสูงวัย” เมกะเทรนด์มาแรง

ผู้ร่วมงานอินเทลเอไอ ในปี 2560 ที่ประเทศอินเดีย ยืนด้านหน้าโปสเตอร์จำลองภาพสมองกลดิจิทัล
(Photo by MANJUNATH KIRAN / AFP)

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชี้ “คาร์บอนต่ำ-เอไอ-สังคมสูงวัย” เป็น 3 เมกะเทรนด์มาแรง แนะต้องปรับตัว เพื่อรับมือกติกาโลกที่เปลี่ยนแปลง-คว้าโอกาสแข่งขันทางธุรกิจ

วันที่ 27 ตุลาคม 2566 ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เปิดเผยถึง 3 เมกะเทรนด์ที่มาแรงว่า โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าคนที่พร้อมรับมือและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงย่อมเข้าถึงโอกาสได้ไวกว่าคู่แข่ง

โดยมี 3 เทรนด์ ที่เป็นกระแสและเป็นโอกาสที่สำคัญ คือ หนึ่งกระแสการไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ หากไม่มีการดำเนินการหรือนโยบายใด ๆ เพื่อรับมือกับเทรนด์นี้ก็จะทำให้ภาคธุรกิจเกิดความยากลำบากในอนาคต เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหภาพยุโรป (EU) หรือสหรัฐมีการตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้าที่ก่อให้เกิดคาร์บอนสูง

นอกจากนี้ บริษัทใหญ่ ๆ ที่มาลงทุนในประเทศไทย ล้วนแล้วแต่ตั้งเป้าในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero เช่นกัน

“เพราะฉะนั้นไทยเองก็จะโดนแรงกดดันจากการค้าและธุรกิจเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่เป็นซัพพลายเชน เรื่องของการไปสู่คาร์บอนต่ำอันนี้เป็นเทรนด์สำคัญที่เราไม่ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องให้ความใส่ใจเรื่องนี้ เนื่องจากว่าเราพึ่งพาการส่งออกมากและพึ่งการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศด้วย” ดร.กิริฎาระบุ

ส่วนเทรนด์ที่สอง ดร.กิริฎาระบุว่า เป็นเรื่องของความก้าวหน้าเทคโนโลยีดิจิทัล และเอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ โดยความก้าวหน้าเหล่านี้ ส่วนหนึ่งถือว่ามีประโยชน์ ที่สามารถช่วยธุรกิจ ช่วยลดต้นทุน

แต่ในขณะเดียวกันยังมีคำถามว่าเอไอจะมาแย่งงานมนุษย์หรือไม่ เพราะเริ่มมีงานหลาย ๆ อย่างถูกดิสรัปชั่น ดังนั้น เทรนด์นี้จึงเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ต้องปรับตัวตามให้ทัน จะใช้เทคโนโลยีแบบไหนอย่างไร หรือต้องพัฒนาทักษะของคนไทยให้ใช้เอไอมาเป็นผู้ช่วยแทนที่จะให้เอไอมาทดแทนเรา

และเทรนด์ที่สาม คือ สังคมสูงวัย ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลาง แต่เป็นสังคมสูงวัย ที่มีประชากรอายุเกิน 60 ปี มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยในระยะเวลานับจากนี้อีกเพียง 10 ปี ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว คำถามสำคัญก็คือ ไทยจะพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปอย่างไร รัฐบาลจะเก็บภาษีเพียงพอหรือไม่ในอนาคต ในเมื่อคนที่อยู่ในวัยแรงงานลดน้อยลง แต่ผู้สูงวัยมากขึ้น

“วันนี้ต้องคิดกันอย่างเข้มข้น เพราะการเตรียมพร้อมสู่สังคมสูงวัยไม่ใช่แค่การไปสงเคราะห์ผู้สูงวัยเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่จะต้องทำให้ผู้สูงวัยและคนที่ยังอยู่ในวัยแรงงานมีประสิทธิภาพในการทำงานหลังอายุ 60 ปี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีต่อตัวเองและเศรษฐกิจไทยในอนาคต คือ ถ้ามีงานทำก็ยังสามารถจ่ายภาษีต่อไปได้ ขณะเดียวกันผู้สูงวัยก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ต้องรอให้รัฐบาลมาช่วย” ดร.กิริฎาระบุ

ดร.กิริฎาระบุด้วยว่า เมกะเทรนด์ทั้ง 3 นี้เชื่อมโยงกันทั้งหมด เช่น ในสังคมสูงวัย ถ้ามีการนำเทคโนโลยีมาใช้ พัฒนาทักษะของคน ก็สามารถให้ผู้สูงวัยทำงานได้นานขึ้น มีรายได้ดีขึ้น และยังโยงกับเทรนด์โลว์คาร์บอน เพราะเมื่อสังคมสูงวัยมากขึ้น ทุกคนอยากจะได้อาหารหรือสินค้าและบริการที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น

ในประเทศไทยเองสามารถผลิตอาหารได้ ซึ่งไบโอฟู้ด หรืออาหารชีวภาพ เช่น โปรตีนที่ทำจากพืช โปรตีนจากจิ้งหรีด แมลง เหล่านี้กำลังเป็นเทรนด์หลักของโลก ถ้าทั้ง 3 เทรนด์ผูกติดกันแล้วสามารถบริหารจัดการได้ ก็จะทำให้คนไทยกินดีอยู่ดีในโลกแห่งอนาคต ทั้งนี้ สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ ที่นี่