ออมสิน ประกาศร่วมทุน BAM จัดตั้ง JV AMC ลุยแก้หนี้เสีย “หมักหมม”

วิทัย รัตนากร
วิทัย รัตนากร

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เผยเตรียมจับมือ BAM จัดตั้ง JV AMC ร่วมทุนฝ่ายละ 50% ลุยแก้หนี้เสียที่หมักหมมมานาน รอแค่ประกาศเกณฑ์จัดตั้ง

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ออมสินได้คุยกับบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ว่าจะร่วมทุนกันจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (JV AMC) ขึ้นมา ถือหุ้นฝ่ายละ 50% เนื่องจากเป็นหน่วยงานภายใต้กำกับของรัฐด้วยกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศเกณฑ์จัดตั้ง JV AMC มีผลบังคับใช้

“ที่เราไม่ได้จับกับบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) เนื่องจาก SAM ไม่ได้ทำรายย่อย ขณะที่ BAM กำลังจะทำ จะขยายมารายย่อย มีการวางระบบไว้หมดแล้ว”

อย่างไรก็ดี การที่ไม่ขายหนี้ดังกล่าวให้กับ AMC ที่มีอยู่แล้วแทนที่จะเป็น JV AMC ที่ตั้งขึ้นใหม่ เนื่องจากหนี้เสียที่ออมสินมีอยู่ เป็นคลีนโลน ซึ่งขายไม่ได้ราคา จะถูกดิสเคานต์มาก ทำให้คณะกรรมการธนาคารก็ไม่กล้าอนุมัติขาย แบงก์รัฐไม่มีใครกล้าขาย ดังนั้น แนวความคิดก็คือ เอาหนี้คลีนโลนขายเข้า JV AMC เป็นรัฐต่อรัฐ ขายในราคาประเมิน แล้วก็เก็บหนี้แค่พอประมาณ จะสามารถปิดบัญชีได้

“JV AMC นี้จะทำแบบกำไรน้อย ๆ ช่วยคนมาก ๆ ก็จะช่วยคนตัวเล็กตัวน้อยได้ รวม ๆ กันแล้ว ก็อีกหลายแสนคน” ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า JV AMC จะเป็นการร่วมทุนกันระหว่างธนาคารเฉพาะกิจของรัฐและบริษัทบริหารสินทรัพย์ในสัดส่วน 50 : 50 เพื่อแก้ปัญหาที่หมักหมมมานานในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน เพราะในอดีตธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมีข้อจำกัดเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ไม่สามารถตัดต้นเงินได้ ค่าติดตามไม่คุ้มกับมูลหนี้ หลักเกณฑ์ที่มาตรฐานบัญชีที่เป็นอุปสรรค จึงเป็นปัญหาเรื้อรัง ขาดความคล่องตัว ทำให้หนี้เสียไม่ได้ถูกแก้ไข เกิดหนี้เสียหมักหมม

“กระทรวงการคลังจึงก้าวสู่บริบทใหม่ ตั้งบริษัทร่วมทุน JV AMC รับโอนลูกหนี้ขนาดวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สู่บริษัทร่วมทุน JV AMC นำสู่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง อย่างคล่องตัว และไม่ติดอุปสรรคหลักเกณฑ์มาตรฐานบัญชี ปรับลดเงินงวดผ่อนชำระง่ายขึ้น ตัดต้นเงิน-ตัดจบหนี้ได้เร็วขึ้น เพื่อให้ประชาชนหลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย และกลับเข้าสู่ระบบสินเชื่อได้อีกครั้ง”

ในขณะเดียวกัน หนี้เสียของธนาคารรัฐจะถูกบริหารในมือของผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพโดยตรง นอกจากจะบริหารหนี้เสียได้คล่องตัวขึ้นแล้ว ยังทำให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมีเงินทุนขยายการช่วยเหลือประชาชนอย่างกว้างขวางมากขึ้น

“ตั้งเป้าช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียคงค้างอยู่กับ SFIs ได้ประมาณ 3 ล้านบัญชี มูลหนี้ 230,000 ล้านบาท” นายเผ่าภูมิกล่าว