หมดหวังหรือยัง “เหมืองแร่โพแทช” 3 แหล่งใหญ่ของไทย

potash
potash

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดสถานะล่าสุดของเหมืองแร่โพแทช 3 แหล่งของไทย “ไทยคาลิ ยังขอปรับรูปแบบใหม่ อาเซียนโปแตชชัยภูมิ เร่งเคลียร์หนี้เอเชีย แปซิฟิค ลุ้นผู้ถือหุ้นจากอิตาเลียนไทยที่ขาดสภาพคล่อง” ยังไม่หมดหวัง ไทยต้องผลิตปุ๋ยใช้เองได้

วันที่ 19 มีนาคม 2567 ความหวังของภาคการเกษตร ที่ประเทศไทยจะผลิตปุ๋ยใช้เองในประเทศ เกิดขึ้นแน่นอนแต่จะปีไหนนั้นเป็นเรื่องที่คนไทยก็ยังคาดหวังอยู่ เพียงเพราะต้องการลดการพึ่งพาและนำเข้าจากต่างประเทศให้เหลือน้อยที่สุด หรือเป็นศูนย์ได้ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ความพยายามที่จะฟื้นโครงการปุ๋ยแห่งชาติ ถูกนำมาพิจารณาและพูดถึงมากขึ้น

หลังจากที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ด้วยเป็นแหล่งที่ไทยนำเข้าวัตถุดิบ จึงส่งผลให้ราคาปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหนึ่ง เป็นต้นทุนที่เกษตรกรต้องแบกรับ ซึ่งยังไม่รวมปัจจัยลบจากภัยธรรมชาติ นี่จึงกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้ราคาพืชผลปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน

อดิทัต วะสีนนท์
อดิทัต วะสีนนท์

นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการเหมืองแร่โพแทชในประเทศไทย ขณะนี้มี 3 แห่งที่มีสถานะชัดเจน โดย บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ซึ่งได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 ในพื้นที่ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา

ขณะนี้ได้มีการขอปรับรูปแบบการทำเหมืองให้เป็นลักษณะแนวดิ่ง เพื่อลดและหลีกเลี่ยงกับอุปสรรคปัยหาที่เจออยู่ในขณะนี้ และหากโครงการสามารถดำเนินได้ตามที่ขอรับการอนุญาตทางบริษัทไทยคาลิ จะสามารถผลิตโพแทชได้ปริมาณ 1 แสนตัน/ปี ซึ่งตลอดอายุโครงการที่ได้รับประทานบัตร 25 ปี สามารถผลิตโพแทชได้ 2.15 ล้านตัน

“ไทยคาลิต้องส่งการเปลี่ยนแปลงให้ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (คชก.สผ.) พิจารณาก่อน เพราะกระทบกับแผนฟื้นฟู”

ส่วนบริษัท อาเซียนโปแตช ชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 มีอายุประทานบัตร 25 ปี สถานะขณะนี้ยังคงขอปรับโครงสร้างหนี้ โดยได้ทำการส่งเรื่องให้กรมบัญชีกลางพิจารณาอยู่ คาดว่ายังต้องรอการพิจารณาระยะหนึ่ง ซึ่งหากผ่านพ้นและสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ จะสามารถผลิตโพแทชได้ 1.1 ล้านตัน/ปี หรือ 17.33 ล้านตัน ตลอดอายุโครงการ

และสุดท้ายคือ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 มีอายุโครงการ 25 ปีเช่นเดียวกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเคลียร์พื้นที่เพื่อทำเหมือง โดยหากเริ่มดำเนินการได้ จะสามารถผลิตโพแทชได้ 2 ล้านตัน/ปี หรือสูงถึง 33.67 ล้านตันตลอดโครงการ

ซึ่งจากกรณีที่ทางผู้ถือหุ้นหรืออิตาเลียนไทยขาดสภาพคล่อง เชื่อว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากังวล และมั่นใจว่าโครงการยังสามารถเดินหน้าได้ต่อ “จากที่ได้รับแจ้งจากบริษัท APPC ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าจะได้ผู้ร่วมลงทุน และดำเนินโครงการได้ตามแผน”