ค่าเงินบาทอ่อนค่า หลังตัวเลขส่งออกไทยเดือนล่าสุดต่ำกว่าคาด

เงินบาท ค่าเงินบาท สถานการณ์ อัตราแลกเปลี่ยน

ค่าเงินบาทอ่อนค่า หลังตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนล่าสุดต่ำกว่าคาดการณ์

วันที่ 29 มีนาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 25-29 มีนาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (25/3) ที่ระดับ 36.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/3) ที่ระดับ 36.38/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังเคลื่อนไหวในเชิงแข็งค่า

โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวเหนือระดับ 104.00 ได้อย่างแข็งแกร่ง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่นักลงทุนคาดหมายว่าธนาคารกลางสหรัฐมีโอกาสเลื่อนการปรับลดดอกเบี้ยออกไปจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้น่าจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน

แม้ว่าในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า คณะกรรมการในการประชุมเฟดได้ส่งสัญญาณผ่านการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2567 โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 0.75% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเดือน ธ.ค. 2566

อย่างไรก็ตามจากแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาที่ยังอยู่เหนือระดับเป้าหมายของเฟด รวมถึงราคาน้ำมันที่ทยอยปรับตัวขึ้นภายใต้ความไม่แน่นอนในด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ดำเนินอยู่ในหลาย ๆ แห่งทั่วโลก

ซึ่งในวันพฤหัสบดี (28/3) นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในสมาชิกคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมาเน้นย้ำว่า เฟดจำเป็นต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อไปอีกเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพื่อรักษาทิศทางของเงินเฟ้อให้ปรับตัวสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้แรงหนุนจากการทยอยประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่ล้วนออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ อาทิ ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2566 ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 3.4% ในไตรมาสดังกล่าว สูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 ที่ระดับ 3.3% และ 3.2% ตามลำดับ และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.2%

นอกจากนี้ ตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัวอยู่ที่ 1.4% เมื่อเทียบรายเดือน มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.2% และมากกว่าในเดือนมกราคมที่หดตัวอยู่ที่ 6.2% โดยจากปัจจัยเบื้องต้นทำให้ล่าสุด เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 63.6% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งแรกในการประชุมเดือนมิถุนายน

ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ในคืนวันศุกร์ (29/3) ซึ่งเป็นข้อมูลเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 2.4% ในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อเทียบรายปี ลดลงจาก 2.5% ในเดือนมกราคมและคาดว่าดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อเทียบรายปี ทรงตัวจาก 2.8% ในเดือนมกราคม

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มไม่สู้ดี โดยในวันอังคาร (26/3) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน ก.พ. 67 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 23,384 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน จากตลาดคาดขยายตัว 3.9-4.3% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,938 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.2% ส่งผลให้ในเดือน ก.พ. ไทยขาดดุลการค้า 554 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้หากพิจารณาในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ไทยขาดดุลการค้า 3,311 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจากการประกาศตัวเลขดังกล่าว ทำให้มีนักวิเคราะห์หลายสำนักได้ปรับประมาณการยอดส่งออกของไทยลง

โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับประมาณการการส่งออกไทยในปี 2567 มาอยู่ที่ 3.1% จากที่เคยคาดการณ์ที่ระดับ 3.7% ซึ่งมีปัจจัยกดดันจากปัญหาการโจมตีของกบฏฮูตี และความแห้งแล้งของคลองปานามา ปัญหาการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ และมาตรการกีดกันทางการค้าที่ถูกนำมาใช้เพิ่มเติม

นอกจากนี้ SCB EIC มองว่ารูปแบบความต้องการในตลาดโลกที่เปลี่ยนไป เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศักยภาพการส่งออกไทยอยู่ในระดับเทียบกับศักยภาพของประเทศในภูมิภาค นอกจากนี้นักลงทุนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบาย Digital Wallet ของรัฐบาล

โดยล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (บอร์ดดิจิทัลวอลเลต) ยืนยันว่า ในวันที่ 10 เม.ย. จะได้ความชัดเจนทั้งหมด และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือนเมษายนเช่นกัน พร้อมยืนยันว่า กรอบไทม์ไลน์เป็นไปตามที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง แถลงไว้

โดยจะมีการลงทะเบียนร้านค้าและประชาชนในไตรมาสที่ 3 และเงินจะถึงประชาชนในไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้ นักลงทุนได้จับตาว่าแหล่งที่มาของเงินดังกล่าวจะมาจากที่ใด ซึ่งต้องรอคำแถลงจากคณะกรรมการในวันที่ 10 เมษายน ที่จะถึงอีกครั้ง

ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.25-36.53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (20/3) ที่ระดับ 36.38/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (25/3) ที่ระดับ 1.0802/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/3) ที่ระดับ 1.0814/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรทยอยปรับตัวอ่อนค่าลง จากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาระหว่างสัปดาห์ ยังค่อนข้างแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ โดยสำนักงานสถิติแห่งเยอรมนี (FSO) เปิดเผยในวันพฤหัสบดี (28/3) ว่า ยอดค้าปลีกของเยอรมนีปรับตัวลดลง 1.9% ในเดือน ก.พ. 2567 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์ในโพลของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3%

นอกจากนี้ ค่าเงินยูโรยังถูกกดดันเพิ่มเติมหลังมีการคาดการณ์ว่า ทางธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน สอดคล้องกับที่ นางคริสติน ลาการ์ด ประธานกรรมการของธนาคารกลางยุโรป บอกเป็นนัยมาก่อนหน้านี้ โดยล่าสุด นายฟาบิโอ พาเนตตา (Fabio Panetta) สมาชิกคณะกรรมการของธนาคารกลางยุโรป ได้กล่าวยืนยันว่า ความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อของภูมิภาคว่ากำลังปรับตัวลดลง ซึ่งจะเป็นเหตุผลสำคัญให้ทาง ECB สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้ในเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ เนื่องด้วยเข้าใกล้เทศกาลอีสเตอร์ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ โดยมีกรอบระหว่าง 1.0769-1.0865 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (29/3) ที่ระดับ 1.0782/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (25/3) ที่ระดับ 151.30/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/3) ที่ระดับ 151.60/62

ในสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนยังมีแนวโน้มอ่อนค่าตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันพุธ (27/3) ค่าเงินเยนได้อ่อนค่าแตะระดับ 151.97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 34 ปี ภายหลังจากที่นายนาโอกิ ทามูระ หนึ่งในกรรมการของ BOJ ได้กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะยังคงอยู่ที่ระดับใกล้ 0% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

โดยถึงแม้ว่าทาง BOJ จะมีการปรับมาใช้นโยบายการเงินแบบปกติแล้ว หลังจากที่คงอัตราดอกเบี้ยติดลบมาเป็นระยะเวลานาน แต่ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นและสหรัฐยังคงกว้าง ทำให้นักลงทุนเทขายเงินเยนเพื่อเข้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินเยนมีจำกัดเนื่องจากมีการคาดการณ์จากนักลงทุนว่า ทางรัฐบาลญี่ปุ่นมีโอกาสจะเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนอีกครั้ง หลังในเดือนตุลาคม 2565 ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดเงิน เมื่อเยนอ่อนค่าใกล้ระดับ 152 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนายมาซาโตะ คันตะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของญี่ปุ่น กล่าวว่า ค่าเงินมีการผันผวนมากถึง 4% ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการเก็งกำไรไม่ได้สะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งการอ่อนค่าของเยนมีผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนผ่านต้นทุนสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น

ดังนั้นทางการญี่ปุ่นจะจับตาดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนอย่างใกล้ชิด รวมถึงอาจมีการดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องค่าเงิน ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 151.00-151.97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (22/3) ที่ระดับ 151.33/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ