เดอะวันประกันภัย ยัน “บิวตี้เจมส์” ผู้ถือหุ้นพร้อมใส่เงินเพิ่มทุน

ซีอีโอ เดอะวันประกันภัย เผยยอดกรมธรรม์โควิด 8 แสนฉบับ จ่ายเคลมไปแล้ว 2,000 ล้านบาท รอตรวจสอบข้อมูลอีก 700 ล้านบาท ยัน “บิวตี้เจมส์” กลุ่มผู้ถือหุ้นพร้อมใส่เงินเพิ่มทุน

วันที่ 17 ตุลาคม 2564 นายอรัญ ศรีว่องไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เดอะวันประกันภัย (ชื่อเดิมสินทรัพย์ประกันภัย) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันบริษัทมียอดกรมธรรม์ประกันภัยโควิด เจอ จ่าย จบ ทั้งสิ้นกว่า 8 แสนฉบับ หยุดขายกรมธรรม์ใหม่ตั้งแต่เดือน มิ.ย.64 ฉะนั้นจะยังมีความคุ้มครองลูกค้าต่อเนื่องไปถึงเดือน มิ.ย.65

ซึ่งปัจจุบันมียอดเคลมสินไหมเข้ามาแล้ว ประมาณ 30,000-40,000 กรมธรรม์ จ่ายเงินไปแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท จากเบี้ยรับแค่ 500 ล้านบาท โดยคิดเป็นทุนประกันภัยเฉลี่ย 8 หมื่นบาทต่อฉบับ ทั้งนี้ยังมียอดเคลมเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลเพื่อจ่ายเคลมอีกกว่า 600-700 ล้านบาท

“ยอดเคลมที่เข้ามามากผิดปกติจากเดือนละ 10 เคลม เป็นวันละ 1,000 เคลม จึงส่งผลต่อการพิจารณาจ่ายเงินของบริษัท โดยเฉพาะช่วงที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิดหลัก 20,000 รายต่อวันในเดือน ก.ค. และหลังจากนั้นราว 40 วัน ทยอยเข้ามายื่นแจ้งเคลมสินไหมในเดือน ส.ค.-ก.ย. จนเจ้าหน้าที่รองรับไม่ไหว ต้องระดมพนักงานมาช่วยทั้งบริษัทฯ” ซีอีโอ เดอะวันประกันภัย กล่าว

โดยตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย.64 ที่ผ่านมา บริษัทได้ยื่นแผนกู้ยืมเงินจากผู้ถือหุ้น ตามมาตรการ คปภ. เรื่องเสริมสร้างสภาพคล่องให้กับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทนโควิด-19 ในช่วงปี 2564 โดยเบื้องต้นผู้ถือหุ้นได้ใส่เงินเพิ่มทุนก้อนแรกมาแล้ว 400-500 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ยังจำเป็นต้องใส่เงินเพิ่มทุนอีก เพราะยอดเคลมประกันภัยโควิดไม่ได้ยุติลงแค่นี้

“สถานะบริษัทของเราถือว่ายังสามารถเดินธุรกิจต่อไปได้ เพราะตอนนี้ผู้ถือหุ้นยังสนับสนุนเงินกู้ แม้ยอดเคลมท่วมเบี้ยประกันรับไปแล้ว ซึ่งก็เป็นทุกบริษัทที่อัตราความเสียหาย(Loss Ratio) สูงระดับกว่า 1000%” นายอรัญกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันผู้ถือหุ้นของบริษัท เดอะวันประกันภัย คือ กลุ่มบิวตี้ เจมส์ โดยนายพรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล เป็นประธานกรรมการบริษัทฯ

สำหรับข้อมูลทางการเงินสำคัญของบริษัท เดอะวันประกันภัย สิ้นสุดเดือน ส.ค.64 พบว่า มีสินทรัพย์ 3,372.76 ล้านบาท มีหนี้สิน 3,081.84 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น 290.92 ล้านบาท มีเงินกองทุนที่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมด 290.92 ล้านบาท มีเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย 277.17 ล้านบาท และมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน(CAR ratio) ที่ 104.96% (ดูตาราง)

ทั้งนี้ตามประกาศ คปภ.ว่าด้วยการกำหนดประเภทและชนิดของเงินกองทุน รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณเงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัย กำหนดให้นายทะเบียนอาจกำหนดมาตรการที่จำเป็นในการกำกับดูแลบริษัทที่มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน(CAR ratio) ต่ำกว่า 140% ได้

และตามประกาศ คปภ.ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการจัดทำรายงานการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัย กำหนดให้บริษัทที่มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน(CAR ratio) ต่ำกว่า 140%  ต้องเสนอรายงานการดำรงเงินกองทุนต่อนายทะเบียน(เลขาธิการ คปภ.) เป็นประจำทุกเดือน

อนึ่ง เงินกองทุน เป็นเงินกองทุนตามราคาประเมิน ตามประกาศ คปภ.ว่าด้วยการประเมินราคาทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทประกันวินาศภัย