ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังตลาดคลายกังวลโควิดโอไมครอน

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังตลาดคลายกังวลโควิดโอไมครอน ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนกำลังติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในไทย ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 33.73/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 7 ธันวาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/12) ที่ระดับ 33.83/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/12) ที่ระดับ 33.87/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (3/12) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 219,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 581,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.2% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.5%

ขณะเดียวกันตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ซึ่งนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 4.8% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 5.0%

นอกจากนี้ โกลด์แมน แซกส์ ประกาศปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.2% ในปี 2565 เหลือเป็นขยายตัว 3.8% โดยเปิดเผยว่า การปรับลดตัวเลขคาดการณ์ครั้งนี้เป็นผลจากความเสี่ยงและความไม่แน่นอน สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งอาจทำให้เปิดเศรษฐกิจได้ช้าลง รวมถึงทำให้ปัญหาขาดแคลนซัพพลายย่ำแย่ลง แต่อย่างไรก็ดี การที่ประเทศคู่ค้ามีอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นน่าจะเข้ามาช่วยในจุดนี้ได้บ้าง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น นักลงทุนกำลังติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย หลังจากเมื่อวานนี้ (6/12) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แถลงยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอนรายแรกในไทย โดยเป็นชายไทยสัญชาติอเมริกันที่เดินทางมาจากประเทศสเปน

นอกจากนี้ ในวันนี้รายงานล่าสุดพบว่าผู้เสี่ยงสูงจากการพบผู้ติดเชื้อรายแรกจำนวน 17 ราย มีผลเป็นบวก ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนสอบสวนโรคว่าติดเชื้อจากที่ใด และเป็นเชื้อสายพันธุ์ใด

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.66-33.88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.73/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/12) ที่ระดับ 1.1293/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เคลื่อนไหวทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/12) ที่ระดับ 1.1290/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยตลาดได้รับแรงหนุนหลังจากคลายความวิตกเกี่ยวกับไวรัสโอไมครอน หลังจากที่อาทิตย์ที่ผ่านมานายแพทย์แอนโทนี เฟาชี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของสหรัฐเปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนดูเหมือนไม่ได้มีระดับความรุนแรงมากนัก

โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1250-1.1295 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1256/58 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/12) ที่ระดับ 113.50/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/12) ที่ระดับ 112.70/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นลดลง 0.6% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี ถือว่าเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 สอดคล้องกับการคาดการณ์เฉลี่ยของตลาดในผลสำรวจที่จัดทำโดยรอยเตอร์

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบเป็นรายเดือน การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 3.4% เนื่องจากรัฐบาลได้ยุติการใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อควบคุมโควิด-19 ในเดือน ก.ย. แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังคงอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 3.6% โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการบริโภคที่อ่อนแอลง และทางด้านนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคญี่ปุ่นจะปรับขึ้นในไตรมาส 4/2564 เนื่องจากอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ลดน้อยลง

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.45-113.76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.67/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดุลการค้าเดือน ต.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือน ต.ค., อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ย., ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน ธ.ค. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.0/-0.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.75/-1.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ