Global Recession มาจริงหรือแค่เรื่องขู่

Global Recession
คอลัมน์ : มองข้ามชอต
ผู้เขียน : วชิรวัฒน์ บานชื่น EIC : ธนาคารไทยพาณิชย์

เศรษฐกิจโลกในปีที่ผ่านมาเผชิญกับอุปสรรคและแรงต้านมากมาย ตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ในช่วงปลายไตรมาสแรกของปี ที่ซ้ำเติมปัญหาอุปทานคอขวดโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดปรับสูงขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นราคาพลังงาน ราคาสินค้าเกษตร

รวมไปถึงราคาสินแร่สำคัญที่ใช้ในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จนทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นทั่วโลก ธนาคารกลางหลายแห่งจึงต้องดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวขึ้น โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุแรงกดดันเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งดอกเบี้ยในบางประเทศถูกปรับขึ้น “เร็วและแรง” ทำให้ตลาดการเงินผันผวนอย่างมาก

เงินเฟ้อที่เร่งขึ้นและนโยบายการเงินที่ตึงตัว ยังส่งผลให้เศรษฐกิจที่สำคัญต่างปรับชะลอลงมาก ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจสหรัฐ เศรษฐกิจยุโรป รวมถึงเศรษฐกิจจีน จึงทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” (recession) ในที่สุด บทความนี้จะวิเคราะห์ถึงสาเหตุและปัจจัย
ที่จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในกลุ่มประเทศสำคัญ และนำไปสู่ข้อสรุปว่าโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลกนั้นมีมากน้อยเพียงใด

นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นเร็วในสหรัฐ อาจทำให้เกิด recession ในปีหน้า เศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณขยายตัวชะลอลงมากในปีนี้ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการหดตัวของการลงทุนเอกชน โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ และอุปสงค์ของครัวเรือนที่อ่อนแอลง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าคงทน สำหรับในระยะต่อไป เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มชะลอลงอีกต่อเนื่อง เพราะอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวมากและมีแนวโน้มลดลงช้า ส่งผลให้อำนาจซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงต่อเนื่องขึ้นอีก ซึ่งจะบั่นทอนการใช้จ่ายของผู้บริโภคต่อไป นอกจากนี้ ภาคการผลิตก็เริ่มหดตัวเช่นกัน เพราะต้นทุนที่สูงขึ้นประกอบกับการขาดแคลนวัตถุดิบการผลิตในบางส่วน ทำให้กำไรของผู้ประกอบการลดลง ด้วยเหตุนี้
ทำให้คาดได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสเข้าสู่ recession ได้ในปีหน้า โดยผลสำรวจจาก Bloomberg เดือนตุลาคมพบว่า โอกาสที่จะเกิด recession ในสหรัฐในระยะ 12 เดือนข้างหน้ามีสูงถึง 60%

วิกฤตพลังงานในยุโรปจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยปลายปีนี้ เศรษฐกิจยุโรปก็เผชิญกับอุปสรรคมากมาย จนทำให้มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะหดตัวเช่นกัน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากวิกฤตพลังงาน ที่มาจากรัสเซียประกาศยุติการส่งก๊าซไปเยอรมนีตั้งแต่ไตรมาส 3 ส่งผลให้ราคาก๊าซในยุโรปปรับขึ้นเร็วเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งอุปทานก๊าซที่ลดลงยังส่งผลให้กิจกรรมภาคการผลิตของยุโรปหดตัวลงอีก

นอกจากนี้ อุปสงค์จากครัวเรือนก็ชะลอลงตามภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเช่นกัน และเนื่องจากกลุ่มประเทศยุโรปมีหนี้สาธารณะค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ดังนั้น ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้ภาครัฐจะมีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการคลังในระยะต่อไปมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ เศรษฐกิจยูโรโซนจึงน่าจะหลีกเลี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ยากตั้งแต่ปลายปีนี้ นำโดยเยอรมนีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงานมากที่สุด โดยผลสำรวจจาก Bloomberg ล่าสุดพบว่าโอกาสที่จะเกิด recession ในยุโรปในระยะ 12 เดือนข้างหน้าสูงถึง 80%

เศรษฐกิจจีนเผชิญแรงกดดันทั้งจากมาตรการควบคุมในประเทศและอุปสงค์โลกที่ชะลอ ทำให้เสี่ยง hard landing โดยเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจล่าสุดสะท้อนถึงการฟื้นตัวที่เปราะบาง ท่ามกลางความเสี่ยงจากทั้งในและต่างประเทศ ถึงแม้ทางการจีนจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บางส่วนแล้ว แต่ภาคอุตสาหกรรมก็ยังชะลอลง ซึ่งเป็นผลจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น มาตรการควบคุมโควิดในบางพื้นที่ที่ยังมีอยู่ และการปิดโรงงานที่เกิดจากการขาดแคลนพลังงาน

นอกจากนี้ ภาคอสังหาฯจีนก็ยังซบเซา จากปัญหาการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการ และมาตรการจำกัดเพดานเงินกู้ของภาครัฐ สำหรับในระยะต่อไป เศรษฐกิจจีนก็จะยังได้รับแรงกดดันอยู่มาก โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอลงตามอุปสงค์โลกที่จะลดลงอีก ขณะที่การบริโภคและการเดินทางของประชาชนก็จะยังฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ เพราะมาตรการควบคุมโควิดยังไม่มีสัญญาณว่าจะสิ้นสุดลงในระยะอันใกล้นี้ ด้วยเหตุนี้เศรษฐกิจจีนจึงอาจชะลอลงมาก โดยอาจขยายตัวได้เพียง 2.8% ในปีนี้

เศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป และจีน คิดเป็นสัดส่วนรวมกันถึง 48% ของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น หากเศรษฐกิจหลักเหล่านี้ต่างชะลอลงมากในปีหน้า เศรษฐกิจโลกก็มีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะ recession ด้วยเช่นกัน ล่าสุดพบว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโลกปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด

ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในหลาย ๆ ประเทศก็ปรับลดลงมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับวิกฤตโควิดแล้ว และจากการประเมินของธนาคารโลก (World Bank) พบว่า หากธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่สูงกว่าที่ได้สื่อสารไว้ (ปรับเพิ่มอีก 200 bps ในระยะ 1 ปีต่อจากนี้) จะทำให้เศรษฐกิจโลกปีหน้าชะลอลงเหลือเพียง 0.5% เท่านั้น ดังนั้น เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะเผชิญกับความท้าทายเป็นอย่างมาก และหากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักต่างชะลอลงมาก เศรษฐกิจโลกก็คงยากที่จะรอดพ้นจากภาวะ recession ไปได้