
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ ผู้เขียน : อมร พวงงาม
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศความชัดเจนหลังเข้าร่วมประชุม COP26
ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050
- ชง “วาระด่วน” รัฐบาลใหม่ ทุนจีนผวารถไฟไทย-จีนเปลี่ยนทิศ
- เปิดประวัติ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ทีมประสานต่างประเทศพรรคก้าวไกล
- ด่วน 24 ส.ส.ประชาธิปัตย์ ยึดอำนาจโหวตเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่
ส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) จะพร้อมภายในปี 2065
ความพยายามดังกล่าว ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวรับมือกันอย่างขะมักเขม้น
ย้อนกลับไปดูการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศไทย
เท่าที่มีการรวบรวมหลัก ๆ มาจากภาคการใช้พลังงาน
ซึ่งจะประกอบด้วย ภาคขนส่ง, ไฟฟ้า, อุตสาหกรรม และอื่น ๆ
จากสถิติ การปล่อย CO2 ที่ส่งผลให้โลกร้อนจากการใช้พลังงานในบ้านเรา
ต่อปีอยู่ประมาณ 200 กว่าล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์
ช่วงวิกฤตโควิดปี 2563 ต่อเนื่อง 2564 ระบบขนส่งต่าง ๆ หยุดชะงัก ก็คงลดน้อยลง
แต่เชื่อว่าในปี 2566 นี้ ทุกอย่างฟื้นตัว ปริมาณการปล่อยของเสียต้องเยอะขึ้นแน่
อุตสาหกรรมยานยนต์หนีไม่ออกแน่ หากคนจะตราหน้าตกเป็นจำเลยรายต้น ๆ ของเรื่องนี้
หลายคนรู้ดีว่า กว่าจะผลิตรถยนต์ออกมา 1 คัน
ทั้งกระบวนการซัพพลายเชนและโรงงานประกอบรถยนต์
ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากแค่ไหน
หลังทำคลอดเสร็จออกมาเป็นรถยนต์ 1 คันแล้ว แต่ละคันยังสร้างมลพิษให้กับอากาศอีกมหาศาล
ดังนั้น ผู้ผลิตรถยนต์จึงให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เป็นลำดับต้น ๆ
และแบรนด์ที่แอ็กทีฟกับเรื่องนี้มาก ๆ ก็คือ “โตโยต้า” คนโตโยต้าทุกคนระบุชัดเจนว่า
หนึ่งในพันธกิจหลักของกลุ่มบริษัทโตโยต้าทั่วโลก คือการสร้าง “ความเป็นกลางทางคาร์บอน”
เป้าหมายนี้สอดรับผู้นำประเทศไทยที่ได้ประกาศไว้กับประชาคมโลก
การปรับกระบวนการผลิตให้สามารถลดการปล่อยของเสียลงน้อยที่สุด
การสรรหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมทั้งพลังงานทางเลือก นำมาใช้กับรถยนต์รุ่นต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นไฮบริด, ปลั๊ก-อินไฮบริด หรือพลังงานไฟฟ้า 100% (อีวี)
ถูกนำเสนอคันแล้วคันเล่า
แต่เท่านั้นยังไม่พอ นอกจากจะลดการปล่อยของเสียแล้ว
อีกสิ่งหนึ่งที่โตโยต้าทำมาอย่างต่อเนื่อง คือความพยายามในการดูดซับของเสีย
โตโยต้าเริ่มกิจกรรมปลูกป่ามาแล้วเกือบ 20 ปี โดยเริ่มปลูกป่าชายเลนร่วมกับศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปี 2548
ถึงวันนี้มีป่าชายเลนในพื้นที่รวมทั้งสิ้น 642,800 ต้น และเมื่อปี 2551 โตโยต้าประกาศจะปลูกต้นไม้ป่านิเวศ
ตามแนวคิดของ ศ.ดร.อาคิระ มิยาวากิ ผู้เชี่ยวชาญการปลูกป่านิเวศจากประเทศญี่ปุ่น เป็นจำนวน 2 ล้านต้น
เริ่มต้นที่โรงงานบ้านโพธิ์ และร่วมมือกับผู้แทนจำหน่าย บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน และหน่วยงานต่าง ๆ ปลูกป่านิเวศทั่วประเทศไปแล้วทั้งสิ้น 1,350,000 ต้น
ล่าสุดในวาระครบ 60 ปี ยังประกาศจะปลูกป่าเพิ่มอีก 6 แสนต้น
ความพยายามของโตโยต้ายังไม่ได้หยุดแค่นั้น พลังงานทางเลือกอีกตัวที่โตโยต้าเห็นว่า สามารถนำพาประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้เร็วขึ้น นั่นก็คือ “ไฮโดรเจน”
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า
เทคโนโลยีไฮโดรเจนเป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกที่สำคัญ ในการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
ซึ่งมีปริมาณมากมาย เช่น ในน้ำ (H2O) ทั้งนี้ การที่จะผลักดันการใช้งานไฮโดรเจนในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม
จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน
ล่าสุดมีการจัดตั้ง Hydrogen Thailand Club มีนายนินนาทเป็นประธาน กลุ่มนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ และภาคเอกชน
เพื่อผลักดันการเตรียมความพร้อมในการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน
ปัจจุบันมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 20 องค์กร ซึ่งให้ความสนใจนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนมาร่วมขับเคลื่อนให้เป็นพลังงานทางเลือกใหม่แห่งอนาคต
สิ่งหนึ่งที่องค์กรนี้ ย้ำมาตลอดก็คือ ศัตรูของเรา คือ “คาร์บอน” เราพร้อมที่นำเสนอทุกความเป็นไปได้ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยคำนึงถึงบริบท
และความต้องการของผู้ใช้ แหล่งวัตถุดิบ ตลอดจนสภาพตลาดที่แตกต่างกัน