นโยบายจ่าย-แจก 2 ขั้วการเมือง ปีละ 1 ล้านล้าน เพื่อไทยประชันพรรคประยุทธ์

2นายก

การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 เป็นการชิงอำนาจระหว่าง 2 ขั้ว ระหว่างขั้วรัฐบาลปัจจุบัน 4 พรรค ที่หวังจะกลับมาสานต่ออำนาจอีกครั้ง กับขั้วฝ่ายค้านเดิม ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล หวังพลิกขั้วมาจัดตั้งรัฐบาล

นโยบายลด-แลก-แจกเพิ่ม จึงออกมารัว ๆ เพื่อชิงเสียงจากโหวตเตอร์ 52 ล้านคน ต่อไปนี้คือภาพรวมงบประมาณที่ต้องจ่าย หากขั้วไหนได้จัดตั้งรัฐบาล

ขั้วรัฐบาลปัจจุบัน

สำหรับขั้วรัฐบาลปัจจุบัน ที่มีแนวโน้มเกาะขบวนอำนาจเป็นรัฐบาลต่อหลังเลือกตั้ง หากแผน “แลนด์สไลด์” ของพรรคเพื่อไทยไม่สำเร็จ โดยมีแกนหลักอันได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์

หลัง 14 พฤษภาคม 2566 พรรคขั้วรัฐบาลเดิมได้จัดตั้งรัฐบาลอีกรอบ สำนักงบประมาณต้องกันเงินไว้ให้ดำเนินนโยบายรวมกัน 1,197,432 ล้านบาท ภายในปีแรกเท่านั้น

กองทุนประชารัฐ 3 แสนล้าน

พรรคพลังประชารัฐ กำหนดวงเงินงบประมาณที่จะใช้หากได้เป็นรัฐบาลไว้ในกองทุนประชารัฐ วงเงิน 3 แสนล้านบาท ภายใต้นโยบาย 3 เร่งด่วน 7 เร่งรัด โดยสามารถจำแนกได้ ดังนี้

บัตรประชารัฐ 700 บาทต่อเดือน ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนผ่านเกณฑ์ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.6 ล้านคน ต้องเตรียมวงเงินไว้ 122,640 ล้านบาทต่อปี หากอยู่ครบวาระ 4 ปี ต้องใช้เงินงบประมาณทั้งหมด 490,560 ล้านบาท

เบี้ยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปรับ 3,000 บาทต่อเดือน อายุ 70 ปีขึ้นไปรับ 4,000 บาทต่อเดือน และอายุ 80 ปีขึ้นไปรับ 5,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันผู้สูงอายุมีประมาณ 12 ล้านคน หากไม่รับข้าราชการจะมีประมาณ 10 ล้านคน

หากใช้ค่ากลางเป็นเกณฑ์ คือ อายุ 70 ปีขึ้นไปรับ 4,000 บาทต่อเดือน จะใช้เงิน 480,000 ล้านบาทต่อปี หรืออยู่ครบวาระ 4 ปี ต้องเตรียมเงินงบประมาณไว้ 1,920,000 ล้านบาท

เงินสนับสนุนสตรีมีครรภ์ เดือนละ 10,000 บาทเป็นจำนวน 5 เดือน เริ่มตั้งแต่อายุครรภ์ 4 เดือน จนถึง 9 เดือน หรือคนละ 600,000 บาทต่อคนต่อปี

นอกจากนี้ยังมีให้ช่วยเหลือเงินในการเลี้ยงบุตร จำนวนเงิน 3,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 ปี หรือ 216,000 บาทต่อ 1 คนต่อ 6 ปี

ขณะที่นโยบายที่ใช้เงินงบประมาณช่วยเหลือเป็นบางครั้งบางคราว ซึ่งยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าเมื่อครบวาระของครัฐบาลแล้วจะต้องใช้เงินอุดหนุนจำนวนเท่าไหร่ ได้แก่ ลดราคาน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 6 บาท ลดราคาน้ำมันเบนซินลงลิตรละ 18 บาท ระยะเวลา 1 ปี โดยการพักส่งเงินเข้ากองน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นระยะเวลา 1 ปี

ลดราคาแก๊สหุงต้มถังละ 15 กิโลกรัม เหลือถังละ 250 บาท เงินอุดหนุน 24,000 ล้านบาทต่อปี แหล่งเงินจากรายได้จากสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย

นโยบายของพรรคพลังประชารัฐ เพียงแค่ 1 ปีแรกหากเป็นรัฐบาล เฉพาะนโยบายบัตรประชารัฐ กับเบี้ยผู้สูงอายุ ต้องใช้งบประมาณกว่า 602,640 ล้านบาท และถ้าครบ 4 ปี 2,410,560 ล้านบาท

ประกันรายได้ 5 แสนล้าน

พรรคประชาธิปัตย์ ตัวชูโรง คือ นโยบายประกันรายได้-จ่ายส่วนต่างพืช 5 ชนิด ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด วงเงิน 1 แสนกว่าล้านบาทต่อปี หรือ 5 แสนล้านบาทต่อ 4 ปี

มาตรการคู่ขนานชาวนารับ 30,000 บาทต่อครัวเรือน (ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่) จำนวน 4.69 ล้านครัวเรือน วงเงิน 140,700 ล้านบาทต่อปี หรือ 562,800 ล้านบาทต่อ 4 ปี

ชมรมผู้สูงอายุรับ 30,000 บาทต่อปี ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน จำนวน 3 หมื่นชมรม วงเงิน 10,800 ล้านบาทต่อปี หรือ 43,200 ล้านบาทต่อ 4 ปี

ประมงท้องถิ่นรับกลุ่มละ 100,000 บาททุกปี จากทั้งหมด 2,800 กลุ่ม วงเงิน 280 ล้านบาทต่อปี หรือ 1,120 ล้านบาทต่อ 4 ปี นโยบาย 3 ล้านบาทต่อยอดเกษตรแปลงใหญ่ ปัจจุบันประมาณ 10,000 แปลง เกษตรกรเข้าร่วม 5 แสนราย พื้นที่ 8 ล้านไร่

ค่าตอบแทน อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) 1,000 บาทต่อเดือน 7.6 หมื่นรายทั่วประเทศ วงเงิน 912 ล้านบาทต่อปี หรือ 3,648 ล้านบาทต่อ 4 ปี

ขณะที่นโยบายอื่น ๆ ที่ใช้วิธีการแก้ไขกฎหมาย การตั้งกองทุนและแหล่งเงินมาจากธนาคารของรัฐ ได้แก่ กองทุนเพิ่มทุน SMEs/Start ups วงเงิน 300,000 ล้านบาท ธนาคารหมู่บ้าน/ชุมชน ชุมชนละ 2 ล้านบาท วงเงิน 180,000 ล้านบาทต่อปี แหล่งที่มาจากธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ปลดล็อก กองทุน กบข.และกองทุนเงินสำรองเลี้ยงชีพให้ซื้อบ้านได้ โดยการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก) วงเงิน 300,000 ล้านบาท (กบข. 1 แสนล้านบาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 2 แสนล้านบาท)

อินเทอร์เน็ตฟรี 1 ล้านจุด ทุกหมู่บ้าน 7.9 หมื่นแห่ง ทุกห้องเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา 2.9 แห่ง เรียนฟรีถึงปริญญาตรีในสาขาที่ตลาดต้องการ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

ฟรี นมโรงเรียน 365 วัน ครอบคลุมนักเรียน 7 ล้านคนทั่วประเทศ ตรวจสุขภาพฟรี รักษาฟรี ใช้บัตรประชาชนใบเดียว ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี ออกกรรมสิทธิ์ทำกิน ให้ผู้ทำกินในที่ดินของรัฐ ปลดล็อกประมงพาณิชย์ ภายใต้ IUU

ขณะที่นโยบายไฮไลต์ของพรรคประชาธิปัตย์ 252,692 ล้านบาทในปีแรก รวม 4 ปี จะต้องใช้งบฯราว ๆ 1,110,000 ล้านบาท

บัตรประชารัฐพลัส 7 แสนล้าน

พรรครวมไทยสร้างชาติ ชู บัตรสวัสดิการพลัส เป็น 1,000 บาท/เดือน (คนลงทะเบียนผ่านเกณฑ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านคน) วงเงิน 175,200 ล้านบาทต่อปี หรือครบวาระ 4 ปี วงเงิน 700,800 ล้านบาท

ปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากแบบขั้นบันไดเป็นให้เท่ากันทุกช่วงอายุ คนละ 1,000 บาทต่อเดือน รวมวงเงิน 120,000 ล้านบาทต่อปี (ผู้สูงอายุประมาณ 10 ล้านคน) หรือครบวาระ 4 ปี วงเงิน 480,000 ล้านบาท

เพิ่มเงินสนับสนุนต้นทุนปลูกข้าว ไร่ละ 2,000 บาท ครอบครัวละ 5 ไร่ (ตัวเลขเดียวกับประชาธิปัตย์ 4.69 ล้านครัวเรือน) วงเงิน 46,900 ล้านบาทต่อปี หรือครบวาระ 4 ปี ต้องใช้เงิน 187,600 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่มีแหล่งเงินมาจากการตั้งกองทุน ได้แก่ กองทุนพยุงราคาสินค้าเกษตร ราคาข้าว ราคายาง กองทุน SMEs (กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น) รูปแบบกองทุนรวมให้ประชาชนถือหน่วยลงทุน 100,000 ล้านบาท

กองทุนฉุกเฉินประชาชน วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท โดยแหล่งเงินมาจาก 30 กองทุนที่มีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ คืน 30% เงินสะสมชราภาพ ให้ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 จำนวน 2 ล้านคน กองทุนแรงงานนอกระบบสูงสุด 3 หมื่นล้านบาท

รวมถึงโครงการคนละครึ่ง-เที่ยวด้วยกัน ภาคสอง ที่ยังไม่ได้ระบุวงเงินว่าจะให้คนละเท่าไหร่

รวมนโยบายที่เป็นไฮไลต์ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ในปีแรก 342,100 ล้านบาท ใช้งบฯตลอด 4 ปี ทั้งสิ้น 1,368,400 ล้านบาท

ภูมิใจไทย ขายพันธบัตร

พรรคภูมิใจไทย ตัวแปรสำคัญทางการเมือง มีนโยบายหลักคือ นโยบายพักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอก คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท, โครงการแจกหลังคาโซลาร์เซลล์ 21 ล้านหลังคาเรือนทั่วประเทศ, โครงการมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าซึ่งให้ประชาชนซื้อในราคา 6,000 บาท จะใช้วิธีการออก “พันธบัตรระดมทุน” ในชื่อพันธบัตร Thai Power หรือพันธบัตรคนไทยรวมพลัง จำหน่ายให้กับประชาชนผู้มีเงินฝาก ดอกเบี้ยร้อยละ 2.5-3 แล้วนำเงินที่ได้จากการขายพันธบัตรมาดำเนินนโยบาย

ขั้วฝ่ายค้านใช้ 1.22 ล้านล้าน

หาก พรรคเพื่อไทย ชนะเลือกตั้งได้ตามเป้าหมายเกิน 250 เสียงขึ้นไป อันดับแรกคือจับมือกับพรรคขั้วฝ่ายค้านเดิม สำรวจนโยบายขั้วฝ่ายค้านเดิม อันประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ

แต่มีเพียงพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เป็นพรรคเบอร์ใหญ่ มีนโยบายครบถ้วนที่จะเข้าสู่ฝ่ายบริหารงบประมาณ

พรรคเพื่อไทย มีนโยบายใหญ่ที่ใช้งบประมาณใหญ่ คือ นโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้ทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป รวม 50 ล้านคน ใช้จ่ายใกล้บ้าน 4 กิโลเมตร ระยะเวลาการใช้ 6 เดือน ใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาท ทั้งนี้ งบประมาณมาจาก 3 ส่วน

แบ่งเป็น 1.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 260,000-270,000 ล้านบาท 2.มาจากภาษีนิติบุคคล ที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 100,000 ล้านบาท 3.มาจากการจัดสรรงบประมาณจากโครงการที่ต่อไปจะไม่มีความจำเป็น เช่น สวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งประเมินโดยสำนักงบประมาณ อีกประมาณ 110,000 ล้านบาท

ขณะที่ พรรคก้าวไกล ชูนโยบาย “สวัสดิการก้าวหน้าตั้งแต่เกิดจนตาย” ใช้งบประมาณปีละ 650,000 ล้านบาท อาทิ ให้ของขวัญแรกเกิดถึง 6 ขวบ คนละ 3,000 บาท ใช้งบประมาณ 2,100 ล้านบาท ให้เงินเลี้ยงดูเด็กเล็กคนละ 1,200 บาทต่อเดือน ใช้งบประมาณ 32,000 ล้านบาท

สำหรับค่าแรงขั้นต่ำจะปรับขึ้นทุกปี เริ่มต้นวันละ 450 บาท โดยรัฐเข้าไปช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีใน 6 เดือนแรก ใช้งบประมาณ 16,000 ล้านบาท ผู้สูงวัยได้เงินเดือนละ 3,000 บาท สร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง ใช้งบฯ 420,000 ล้านบาท คนพิการได้เดือนละ 3,000 บาท ใช้งบฯ 72,000 ล้านบาท

ทั้งนโยบายเงินดิจิทัล 560,000 ล้านบาท ของพรรคเพื่อไทย และนโยบายรัฐสวัสดิการของพรรคก้าวไกล ที่ตกปีละ 650,000 ล้านบาท รวมปีแรกในการเป็นรัฐบาล สำนักงบประมาณต้องเตรียมงบฯไว้ให้ 1,210,000 ล้านบาท

แต่ถ้ารวม 4 ปี ใช้งบประมาณ 2,240,000 ล้านบาท จะทำให้ขั้วรัฐบาลนี้ต้องเตรียมงบประมาณกว่า 3,160,000 ล้านบาท

ไทยสร้างไทยไม่น้อยหน้าใช้ปีละ 3.6 แสนล้าน

ยังไม่นับพรรคที่ครองพื้นที่สื่อ อย่าง พรรคไทยสร้างไทย ที่เตรียมเข้าร่วมรัฐบาลได้ทั้ง 2 ขั้ว บนข้อแม้ที่นายกฯ จะต้องไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ด้วยการชูนโยบาย บำนาญประชาชน เบี้ยผู้สูงอายุ คนละ 3,000 ต่อเดือน ใช้งบประมาณ จากงบฯเบี้ยผู้สูงอายุที่ตั้งงบประมาณปกติปีละ 8 หมื่นล้าน-1 แสนล้านบาท การปรับขึ้น “ภาษีบาป” เหล้า เบียร์ บุหรี่ ได้เงินประมาณ 7-8 หมื่นล้าน ส่วนที่เหลือจะมาจากการปรับลดงบประมาณที่ไม่มีความจำเป็น หรือไม่ได้สร้างจีดีพีให้ประเทศ ประมาณ 1 แสนล้านบาท เช่น งบฯในการจัดซื้ออาวุธ งบฯก่อสร้างอาคารราชการที่ไม่มีความจำเป็น งบฯดูงานและสัมมนาของข้าราชการ

รวมถึงจะแขวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน 1,400 ฉบับ โดยออกพระราชกำหนด ลดทุจริต คอร์รัปชั่น ทั้งหมดจะสามารถลดการทุจริตไม่น้อยกว่า 5-10%

ทั้งนี้ ใช้งบฯตกปีละ 360,000 ล้านบาท รวม 4 ปี 1,440,000 ล้านบาท บวกกับนโยบายกองทุนสร้างไทย ช่วยเหลือ SMEs วงเงิน 3 แสนล้านบาท

ในปีแรกใช้งบฯรวม 6.6 แสนล้านบาท แต่ถ้ารวม 4 ปี พรรคไทยสร้างไทยใช้งบฯ 1,740,000 ล้านบาท