บทบรรณาธิการ : เข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง

เลือกตั้งล่วงหน้า
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

แม้ว่าการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะมีปัญหาข้อร้องเรียนที่เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนรหัสเขตเลือกตั้งที่หน้าซองสำหรับใส่บัตรเลือกตั้งผิด การกรอกรหัสจังหวัดผิดไม่ตรงกับรหัสไปรษณีย์ตามภูมิลำเนาของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งก็ตาม แต่การเลือกตั้งล่วงหน้าก็ยังดำเนินต่อไปจนเสร็จสิ้น

จากจำนวนประชาชนที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าจำนวน 2,350,969 คน เฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ามากที่สุดกว่า 800,000 คน ปรากฏมีประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าถึง 91.83% แสดงให้เห็นว่าคนไทยให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก

โดยภาพของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นจำนวนมากได้สร้างความหวังที่ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่าครั้งที่ผ่านมา หรือเกินกว่า 74% เหตุเพราะ

หนึ่ง การหาเสียงของพรรคการเมืองเป็นไปอย่างคึกคัก สอง การแข่งกันนำเสนอนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่อย่างหนักหน่วง แม้ว่าส่วนใหญ่จะเสนอชุดนโยบายประชานิยมก็ตาม สาม เป็นการแข่งขันระหว่างขั้วอนุรักษนิยม หรือพรรคร่วมรัฐบาลเดิม กับขั้วที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย และ สี่ จำนวนประชากรผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่เป็นเจเนอเรชั่นใหม่

กล่าวคือ Gen Z (18-26 ปี) จำนวน 7,670,354 คน กับ Gen Y (15,144,468 คน) รวม 22,814,822 คน เทียบกับ Gen X (43-58 ปี) จำนวน 16,091,150 คน Baby Boomer (59-77 ปี) จำนวน 11,153,133 คน รวม 27,244,283 คน ท่ามกลางการจับจ้องกันว่า คะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งใหม่ รวมกับ Gen Y จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะตัดสินชี้ขาดการแพ้ชนะของพรรคการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ จนนำมาซึ่งการแข่งขันที่จะนำเสนอชุดนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่ตรงใจกับคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ

ทว่าท่ามกลางผลโพลจากการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงจากหลากหลายสำนักล่าสุด แม้จะรายงานผลที่โน้มน้าวไปยังชัยชนะของพรรคที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ก็ตาม แต่ผลโพลเป็นเพียงการสำรวจทัศนคติ ความพึงพอใจ ความคาดหวังของประชาชนในเรื่องหนึ่งเรื่องใด ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น

การที่พรรคการเมืองใดจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งประเทศในวันที่ 14 พฤษภาคม ว่าจะให้พรรคการเมืองใดเข้ามาบริหารประเทศ เพื่อก่อให้เกิดความพึงพอใจ การกินดีอยู่ดี การดูแลคุณภาพชีวิต มีสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ดีเป็นสำคัญ