สิบชื่อของ “ชัยวัฒน์”

สิบชื่อของชัยวัฒน์
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : สาโรจน์ มณีรัตน์

ไม่กี่วันก่อน ผมมีโอกาสไปนั่งทานข้าวกับ “อาจารย์ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตประธานสถาบันการเงินอีกหลายแห่งที่บ้านซอยพัฒนาการ 30 ซึ่งบ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังใหม่ (ติดกับหลังเก่า) ที่ผมเคยไปมาอยู่หลายครั้ง

วันที่ผมไปมีรุ่นพี่ศิษย์เก่าประชาชาติฯอีก 2 คนไปด้วย ซึ่งทั้ง 2 คนนี้เคยทำงานข่าวสายการเงิน-การธนาคารมาก่อน จึงค่อนข้างสนิทสนมกับอาจารย์ ส่วนผมรู้จักอาจารย์ในแวดวงขีด ๆ เขียน ๆ เพราะไปช่วยงานอาจารย์บ่อย สมัยที่ท่านเป็นอุปนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

ตอนหลังผมมาทำข่าวเกี่ยวกับความยั่งยืน จึงทำให้ต้องพบปะเจอะเจออาจารย์หลายครั้ง เพราะตอนนั้นอาจารย์เริ่มผลักดันเรื่องความยั่งยืนให้กับสถาบันการเงินหลายแห่ง กระทั่งเมื่อมหันตภัยไวรัสร้ายมาเยือน ผมไม่เจออาจารย์อีกเลย

จนกระทั่งอาจารย์ โทร.มา และบอกว่า…นัดเจอกันหน่อยนะ ไม่ได้เจอกันนานแล้ว อีกอย่างอาจารย์เพิ่งรอดตายจากหัวใจวายเฉียบพลัน ก็เลยเขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่ง อยากให้พวกเราได้อ่าน

ครับ…ครับ… “ผมรับปาก”

จากนั้นผมทำหน้าที่ประสานงานกับพวกพี่ ๆ เพื่อนัดหมายตามวัน เวลา และสถานที่ตามที่อาจารย์กำหนด และหลังจากผมประสานทุกอย่างเรียบร้อย ราว 10 โมงเช้าของวันอาทิตย์ก่อนเลือกตั้ง ผม และพี่อีก 2 คนก็ไปบ้านอาจารย์

บ้านหลังนี้ “พี่กุ้ง” (พวงเพ็ญ (ต่อสุวรรณ) วิบูลย์สวัสดิ์) ซึ่งเป็นสถาปนิกเป็นผู้ออกแบบทั้งหมด ดังนั้น ตัวบ้านจึงมีความโปร่งโล่ง ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ ไม่ว่าจะมองออกไปทางไหนก็จะเห็นแต่สีเขียวเต็มไปหมด และจากเดิมที่อาจารย์จะชวนไปทานข้าวเที่ยงนอกบ้าน พวกเราจึงบอกอาจารย์ว่า…สั่งมานั่งทานบ้านอาจารย์ดีกว่า เพราะนั่งสบายเหมือนอยู่รีสอร์ต

วันนั้นอาจารย์พูดคุยอย่างอารมณ์ดี คุยกันหลายเรื่อง ทั้งชีวิตการงานของพวกเรา การวางแผนหลังเกษียณ และการดูแลสุขภาพ อาจารย์บอกว่า…หลังจากผ่านความตายมาอย่างหวุดหวิด ตอนนี้ลดการทำงานลงไปมาก และลาออกจากประธานกรรมการไปหลายแห่งแล้ว เหลือที่อยากช่วยเหลือสังคม และบริษัทเพียงไม่กี่แห่ง เพื่อวางแนวทางธุรกิจที่ยั่งยืนให้กับพวกเขา

จากนั้นอาจารย์ก็เซ็นหนังสือ และส่งมอบให้กับพวกเรา พร้อมกับบอกว่า…หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า…สิบชื่อของชัยวัฒน์ เพราะตั้งแต่ทำงานจนมาถึงตอนนี้มีคนเรียกชื่อผมแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์, ท่านผู้ว่าการ, ท่านประธาน, ท่านรัฐมนตรี, ด็อกเตอร์, พี่ชัยวัฒน์, พี่ปุ๊, ลุงหมีปุ๊, ท่านและคุณอา และสุดท้ายคือคุณตาปุ๊

“ผมก็เลยนำมาเล่าง่าย ๆ ว่าทำไมคนเหล่านั้นถึงเรียกชื่อผมแบบนี้ พร้อมกับสอดแทรกถึงที่มาที่ไปเพื่อให้ผู้อ่านเห็นเส้นทางชีวิต การทำงานที่ไปเกี่ยวข้องกับผู้คนในแวดวงต่าง ๆ จนทำให้พวกเขาเรียกชื่อ
ผมแบบนั้น”

ในหนังสือเล่มนี้เขียนง่าย อ่านง่าย และมีหลายบทหลายตอนที่มีระหว่างบรรทัดซ่อนอยู่มากมาย โดยเฉพาะตอนลดค่าเงินบาท ซึ่งอาจารย์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทุกครั้ง อาจารย์เขียนเล่าสั้น ๆ ว่า…การลดค่าเงินบาทถือเป็นเรื่องลับที่สุด

ผมก็เชื่ออย่างนั้น

เสียดายอาจารย์ไม่เล่าต่อ

แต่โดยสรุปหนังสือเล่มนี้น่าอ่านมาก ทั้งยังเป็นหนังสือที่ทำให้ผมรับรู้ตัวตนของอาจารย์อย่างแท้จริง คนอะไรก็ไม่รู้…ครบรส ครบเครื่องจริง ๆ