เดิมพันการเมืองของพรรค “ทักษิณ”

เดิมพันการเมือง
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ ประชาชาติ

เป้าหมายการเดินทางกลับบ้านของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ผูกโยงกับการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย อย่างปฏิเสธไม่ได้

ข่าวการ “เลื่อน” เดินทางกลับบ้านของ “ทักษิณ” บังเอิญตรงกับวันที่ศาลรัฐธรรมนูญ “เลื่อน” ไม่พิจารณาคดีผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นให้ศาลตีความการมติของรัฐสภาปิดประตูโหวต พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ รอบสอง เข้าข่ายละเมิดสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ โดยศาลนัดพิจารณาใหม่ 16 สิงหาคม พร้อมกับคำสั่งชะลอโหวตนายกฯ หรือไม่ก็จะมีคำสั่งในวันเดียวกันนั้น

การทอดเวลาตั้งรัฐบาลเพื่อไทยออกไป ยิ่งทำให้พรรคเพื่อไทยเสียเปรียบ เพราะช่องว่างในการต่อรองมีมากขึ้น

จากที่พรรคเพื่อไทยต้องการ “ปิดเกมเร็ว” มัดมือพรรคพันธมิตรใหม่จัดตั้งรัฐบาลแบบรวดเร็ว กลายเป็นเกมยืดเยื้อ พรรคเพื่อไทยอยู่ในสภาพเสียเปรียบโดยพลัน จนต้องแก้เกม-ต่อรองกันใหม่หลายตลบเพื่อให้กลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบอีกครั้บ

แถม เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ที่ถูกล็อกไว้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ก็ถูกเกมของ ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ออกมาแฉเรื่องภาษีที่ดินของบริษัทแสนสิริ

พรรคเพื่อไทย เหมือนถูกล้อมไว้ทุกทาง ขณะที่มิตรเก่าอย่างพรรคก้าวไกล ก็เล่นเกมป่วนประสาท จี้ใจดำว่าพรรคเพื่อไทยกำลังโดนพันธมิตรขั้วใหม่หลอก

เดิมพันตั้งรัฐบาลข้ามขั้วของพรรคเพื่อไทย และ “ทักษิณ” จึงไม่ใช่ของง่าย ไม่ต่างจากในอดีต พรรคเพื่อไทย และ “ทักษิณ” เดิมพันทางการเมือง ที่มีทั้งสำเร็จและล้มเหลวถึงขั้นพังทั้งกระดาน

หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทักษิณต้องลี้ภัยไปยังต่างประเทศ แต่ก็ยังมีบทบาทในพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย คู่ขนานกับการปั้นมวลชนเสื้อแดงในนามแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือเดินเกม 2 ขาทั้งขามวลชน และขาในสภา

การเดิมพันครั้งใหญ่ของกลุ่ม นปช. เกิดขึ้นในปี 2552 และ 2553 เขย่ารัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อมาก็เป็นฐานมวลชนนอกทำเนียบรัฐบาล ให้กับรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

หลังจากเกมเดิมพันมวลชน “ทักษิณ” เดิมพันเกมนิรโทษกรรม ในปี 2556 จุดเริ่มต้นมาจากการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุม ไม่รวมแกนนำ และผู้สั่งการ แต่ต่อมาในชั้นกรรมาธิการ วาระที่ 2 เสียงส่วนใหญ่เป็นฝ่ายรัฐบาลได้แก้ไข ให้นิรโทษตามเหตุการณ์ ทำให้แกนนำ ผู้สั่งการ และ “ทักษิณ” เข้าเกณฑ์ไปด้วย อีกทั้งยังผ่านวาระที่ 3 ตอนตี 4 จึงได้ชื่อว่า นิรโทษกรรมสุดซอย-ลักหลับ จุดชนวนให้เกิดแรงต้านมหาศาล สุดท้ายลงเอยด้วยการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

เดิมพันพรรคไทยรักษาชาติ ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เพราะการเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จนทำให้เกิดแผ่นดินไหวทางการเมือง พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบพรรคก่อนจะถึงวันเลือกตั้งด้วยซ้ำ และพรรคเพื่อไทยก็กลายเป็นฝ่ายค้านไป 4 ปี

มาถึงการเดิมพันการกลับบ้านของ “ทักษิณ” ซึ่งการทวีตข้อความแต่ละครั้งสร้างผลสะเทือนต่อพรรคเพื่อไทยทุกครั้ง

มาถึงการข้ามขั้วของพรรคเพื่อไทย ไม่รู้จะสำเร็จหรือล้มเหลว แต่มีราคาทางการเมืองที่ต้องจ่ายสูง