บทบรรณาธิการ : เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.5-3%

ซูเปอร์มาร์เก็ต
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ท่ามกลางกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งยืดเยื้อมามากกว่า 3 เดือนภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2566 พบว่าขยายตัวร้อยละ 1.8% หรือชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสแรกของปี 2566

และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2566 ขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 2566 ร้อยละ 0.2 รวมครึ่งแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยจึงขยายตัวร้อยละ 2.2

โดยการอุปโภคบริโภคของเอกชนขยายตัว 7.8% หรือเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.8% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวดีขึ้นของเกือบทุกหมวดสินค้า จากการใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัวร้อยละ 13.8% ตามการขยายตัวเร่งขึ้นในกลุ่มบริการทางการเงินและกลุ่มสุขภาพที่ร้อยละ 11.5 และร้อยละ 5.6 ตามลำดับ

ส่วนกลุ่มโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 49.1 ตามการเร่งขึ้นของการใช้จ่ายกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ขณะที่กลุ่มไฟฟ้าและก๊าซก็กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ส่วนหมวดสินค้าคงทนขยายตัวร้อยละ 3.2 และหมวดสินค้ากึ่งคงทนขยายตัวร้อยละ 0.7 หรือลดลงจากร้อยละ 1.3 ตามการชะลอตัวของกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องเรือน-เครื่องตกแต่ง

แต่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลกลับหดตัวลงร้อยละ 4.3 จากรายจ่ายการโอนเพื่อสวัสดิการทางสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดลดลง 25.1% หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ 40.6% และรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการกลับมาหดตัว 2.6%

ขณะที่ค่าตอบแทนแรงงานขยายตัว 0.3% ด้านการลงทุนรวมขยายตัวแค่ร้อยละ 0.4 หรือชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้านี้ ตามการชะลอตัวลงของการลงทุนภาคเอกชนร้อยละ 1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้านี้ ส่วนการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 1.1 ตามการลดลงของการลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 3.7

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้ามีมูลค่า 70,262 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 5.6 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 4.5 จากไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 5.8 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนลดลงที่ร้อยละ 6.4 ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3% แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ 2.0% การส่งออกบริการขยายตัวร้อยละ 54.6% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 78.2 ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามา

ด้วยภาวะเศรษฐกิจของประเทศข้างต้น ทำให้สภาพัฒน์คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5-3.0 ซึ่งเป็นการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลง โดยมีปัจจัยหลักมาจากมูลค่าการส่งออกที่ลดลงมาก รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง สมควรที่จะต้องเร่งตั้งรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาเร่งแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันการส่งออก จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้