Outlook Dependent กับนโยบายการเงินไทย

Outlook Dependent
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด
ผู้เขียน : นิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์
ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.

หลายท่านคงได้ยินคำว่า outlook dependent บ่อยขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้พยายามสื่อสารประเด็นดังกล่าวในหลายช่องทาง ทั้งเอกสารแถลงข่าวและรายงานการประชุม

วันนี้ผู้เขียนจึงขอสรุปประเด็น outlook dependent กับนโยบายการเงินมาเล่าสู่กันฟังครับ

นโยบายการเงินของไทยมีเป้าหมาย 3 อย่างคือ (1) เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย (2) เศรษฐกิจเติบโตตามศักยภาพ และ (3) ระบบการเงินมีเสถียรภาพ ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อบรรลุเป้าหมายข้างต้น กว่าจะส่งผ่านผลไปยังระบบเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ต้องใช้เวลานานถึง 4-8 ไตรมาส ดังนั้น กนง.จึงต้องตัดสินนโยบายโดยมองไปในอนาคต

โดยใช้ข้อมูลล่าสุดมาจัดทำประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อให้สามารถตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยได้อย่างเหมาะสม

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ขอเล่าเปรียบเทียบสหรัฐกับไทยในปี 2565 ที่ผ่านมา สหรัฐเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อสูง จากเศรษฐกิจที่ร้อนแรงตั้งแต่ปี 2564 เพราะการเปิดเมืองหลังจบโควิด และจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งทำให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นมาก

ธนาคารกลางสหรัฐเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2565 และกระชากขึ้นอย่างรุนแรงครั้งละ 0.75% บ้าง 0.50% บ้าง จนมาอยู่ที่ 5.50% ในระยะเวลาเพียงปีครึ่ง เพราะต้องการปราบเงินเฟ้อให้ได้ จึงต้องเหยียบเบรกเศรษฐกิจ โดยขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าระดับที่เหมาะสมในระยะยาว ก่อนที่จะทยอยลดดอกเบี้ยลงในอนาคตเมื่อเงินเฟ้อต่ำลงแล้ว

ย้อนกลับมาที่เมืองไทย อัตราเงินเฟ้อไทยเริ่มสูงขึ้นตามราคาพลังงานหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สูงขึ้นถึง 5.28% และไปแตะจุดสูงสุดที่ 7.86% ในเดือน สิงหาคม 2565 ก่อนจะเริ่มชะลอลง

ในขณะนั้น กนง.ประเมินสถานการณ์ไปข้างหน้าแล้วเห็นว่าเงินเฟ้อไทยจะสูงขึ้นชั่วคราว เพราะสาเหตุเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก ทั้งเรื่องของราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ค่าวัตถุดิบ ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว โดยเงินเฟ้อจะปรับลดลงเมื่อเวลาผ่านไป

อีกทั้งเศรษฐกิจไทยในขณะนั้นยังไม่เข้มแข็ง เนื่องจากในครึ่งแรกของปี 2565 ยังฟื้นตัวจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอนไม่เต็มที่ นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับเข้ามา หากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงเพราะข้อมูลล่าสุดที่เงินเฟ้อหลุดกรอบเป้าหมาย 1-3% จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุดลง ซึ่งได้ไม่คุ้มเสีย

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในช่วงฟื้นตัวเหมือนเครื่องบินที่กำลังจะ take-off (บินลอยขึ้น) นโยบายการเงินจึงควรสนับสนุนให้ take-off ได้อย่างราบรื่น หรือ smooth take-off

เมื่อเครื่องบินไต่ความสูงขึ้นไปจนได้ระดับที่เหมาะสม ก็เหมือนเศรษฐกิจที่มีแรงส่งให้ฟื้นตัวได้ต่อเนื่องนั่นเอง

ต่อมา กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจในครึ่งหลังของปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน

จึงเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 และขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปครั้งละ 0.25% เพราะต้องการให้ครัวเรือนและธุรกิจสามารถปรับตัวได้ ไม่ใช่การเหยียบเบรกรุนแรงเหมือนกรณีสหรัฐ แต่เป็นการค่อย ๆ ถอนคันเร่ง จนความเร็วมาอยู่ที่จุดสมดุล เพื่อให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจไม่ร้อนเกินไป จน
อาจก่อปัญหาเงินเฟ้อ หรือปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาวได้

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อไทยลดลงอย่างรวดเร็ว จึงมีคำถามว่า กนง.ควรหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วหรือยัง

ในรายงานการประชุมล่าสุด กนง.ระบุว่าการพิจารณาตัดสินนโยบายการเงินจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ตลอดจนการประเมินความเสี่ยงในระยะข้างหน้า (outlook dependent) โดยไม่ได้ขึ้นกับข้อมูลล่าสุดอย่างเดียว

เพราะข้อมูลล่าสุดมีโอกาสผันผวนจากปัจจัยชั่วคราว หรือปัจจัยเฉพาะในเดือนนั้น ๆ ทั้งนี้ หาก กนง.ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นลงทุกครั้งที่เงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมายด้านสูงหรือด้านต่ำ จะเป็นการเพิ่มความผันผวนให้กับเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น

สิ่งที่ควรจะเป็นคือ การนำข้อมูลใหม่ไปประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในอนาคต ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดหรือไม่ หากข้อมูลใหม่เป็นปัจจัยชั่วคราว และแนวโน้มในอนาคตยังคงเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องปรับทิศทางของนโยบาย แต่หากข้อมูลใหม่ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ นโยบายการเงินก็ต้องปรับให้เหมาะสมกับแนวโน้มในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป

คำถามอีกข้อหนึ่งคือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไปหยุดที่จุดใดเป็นปลายทางของวัฏจักรขาขึ้นในรอบนี้ (terminal rate) ซึ่งตามหลักการแล้วควรไปหยุด ณ จุดที่เหมาะสมในระยะยาว ซึ่งทำให้ (1) อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน (2) เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่องตามศักยภาพ และ (3) เสริมสร้าง
ความเข้มแข็งให้กับเสถียรภาพระบบการเงิน ไม่สะสมความเปราะบางจนก่อปัญหาในอนาคต

เช่น หนี้ครัวเรือนสูงหรือฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ การคำนึงถึงความเหมาะสมในระยะยาวของเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินข้างต้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่จะช่วยให้เครื่องบินเศรษฐกิจไทยสามารถ landing หรือลงจอดที่จุดหมายปลายทางได้อย่างนุ่มนวลและมั่นคงครับ