สหรัฐ จะเลี่ยงภาวะถดถอยได้จริงหรือ ?

GDPสหรัฐ
คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า
ผู้เขียน : ซาร่า ผลพิบูลย์, กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ธนาคารกสิกรไทย

การเกิดภาวะถดถอยในสหรัฐ นับเป็นความเสี่ยงที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากตั้งแต่ปีก่อน ภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวและรวดเร็วของเฟดเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อสูง ซึ่งจะนำไปสู่กิจกรรมเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะงักอย่างรุนแรงและเกิดการเลิกจ้างงานอย่างมากตามมา

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงดังกล่าวก็ดูจะเบาบางลงไปมากในปัจจุบันเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงออกมาค่อนข้างดีต่อเนื่องและดีกว่าที่คาดการณ์กันไว้ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่การจ้างงานยังเพิ่มขึ้นได้และการใช้จ่ายของครัวเรือนยังคงไปต่อ

ขณะที่คณะทำงานของเฟดล่าสุดก็มองว่าสหรัฐจะสามารถเลี่ยงภาวะถดถอยได้ โดยในรายงานการประชุมเฟดเดือนกรกฎาคม จากก่อนหน้าที่เตือนถึงความเสี่ยงดังกล่าวมาโดยตลอด

ด้าน นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดก็มองบวกมาเสมอว่าเศรษฐกิจจะยังคงขยายตัวได้ ในขณะที่นำพาเงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% หากแต่เศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถเลี่ยงภาวะถดถอยได้จริงหรือ ?

นับตั้งแต่การปรับดอกเบี้ยขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2022 จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เฟดได้ปรับดอกเบี้ยขึ้นไปแล้วรวมกันถึง 525 bps อยู่ที่ระดับ 5.25-5.50% สูงสุดในรอบ 22 ปีในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่แข็งกร้าวอย่างมากเมื่อเทียบกับวัฏจักรการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในอดีตย้อนหลังไป 50 ปี

โดยในแต่ละรอบการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็มักก่อให้เกิดภาวะถดถอยตามมา มีเพียง 3 จาก 9 รอบเท่านั้นที่เศรษฐกิจเลี่ยงภาวะถดถอยได้สำเร็จ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังได้เกิดภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาวหรือที่เรียกว่า inverted yield curve อีกด้วย ซึ่งมักบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเฉพาะเมื่อเทียบผลตอบแทนระหว่างพันธบัตรอายุ 2 ปี กับ 10 ปี ที่ให้สัญญาณค่อนข้างแม่นยำ

ดังนั้น ความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเลี่ยงภาวะถดถอยได้สำเร็จในรอบนี้ก็ดูจะมีความเป็นไปได้จำกัด โดยการเกิดภาวะถดถอยดูเหมือนจะถูกชะลอออกไปก่อนเท่านั้น ภายใต้ปัจจัยเฉพาะตัว อาทิ ภาวะ labor hoarding ซึ่งก็คือบริษัทยังคงลูกจ้างเอาไว้แม้เศรษฐกิจจะชะลอลงด้วยความกังวลว่าจะหาลูกจ้างไม่ได้เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น

ดังเช่นที่เกิดขึ้นหลังเปิดเศรษฐกิจจากโควิดใหม่ ๆ ทำให้ตอนนี้เรายังไม่เห็นตัวเลขผู้ว่างงานและการเลิกจ้างปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก ประกอบกับมาตรการแจกเงินของรัฐบาลเพื่อพยุงเศรษฐกิจจากโควิดที่นับเป็นเม็ดเงินที่สูง ส่งผลให้เงินออมของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงอย่างมาก

นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่ยังดีอยู่ กล่าวคือการจ้างงานยังคงเพิ่มขึ้นได้และผู้บริโภคยังคงใช้จ่าย ขณะเดียวกันเงินเฟ้อก็เผชิญความเสี่ยงด้านสูงจากราคาพลังงานในตลาดโลกที่ไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงราคาอาหารท่ามกลางภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ก็นับเป็นความเสี่ยงให้เงินเฟ้อชะลอกลับเข้าเป้า 2% ของเฟดได้ช้าหรืออาจไม่กลับไปด้วยซ้ำ

ทำให้ภารกิจของเฟดยังไม่จบ ยังต้องขยับดอกเบี้ยให้สูงขึ้นไปอีกและ/หรือคงไว้ที่ระดับสูงเป็นระยะเวลานาน จนส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยในท้ายที่สุดอยู่ดี

ฉะนั้น การเลี่ยง ภาวะถดถอย ยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างยากและเวลาเท่านั้นที่จะพิสูจน์ ก็คงจะต้องลุ้นกันต่อไป