แอร์พอร์ตลิงก์ ปล่อยแบบนี้ไม่ได้แล้ว

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

เสียรังวัดอย่างหนักกับการแก้ปัญหาแอร์พอร์ตเรลลิงก์ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “แอร์พอร์ตลิงก์”

หลังจากกระบวนการจัดซื้ออะไหล่ที่ล่าช้า ส่งผลถึงการซ่อมบำรุง ทำให้เหลือรถที่วิ่งได้เพียง 4-5 ขบวน จากทั้งหมด 9 ขบวน ความถี่ในการให้บริการเพิ่มจาก 10 นาทีต่อขบวน เป็น 12 นาที และมีบ่อย ๆ ที่นานกว่านั้นสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ใช้บริการอย่างหนัก ไม่รู้ว่าจะถึงจุดหมายปลายทางทันเวลาหรือไม่ นักท่องเที่ยวพลาดเที่ยวบิน ฯลฯ

ปัญหานี้แทบไม่ได้ถูกดูดำดูดีอะไรเลยจากฝ่ายรัฐ ประชาชนผู้ใช้บริการต้องเป็นผู้สร้างเพจ (วันนี้แอร์พอร์ตลิงก์เป็นอะไร และ AirportLink ที่รัก) เพื่อบอกข่าวกันเองว่า…วัน-เวลานั้น ๆ การใช้บริการมีปัญหาอะไรหรือไม่

ต่อเมื่อ “เรื่อง” ถูกกระพือโดยสารพัดสื่อ ภาครัฐถึงได้ตื่น

สิ่งที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เทกแอ็กชั่นก็คือ นำขบวนรถดีเซลรางมาวิ่งเสริม

แต่ในความเป็นจริง การเพิ่มรถดีเซลราง 1 ขบวน ช่วงเช้าและเย็น กับจำนวนผู้คนที่ติดค้างอยู่ตามสถานีต่าง ๆ เป็นพัน ๆ คน แทบไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร

ขณะที่ปัญหาอะไหล่ที่ส่งผลต่อการซ่อมบำรุง กระทรวงคมนาคมบอกผู้สื่อข่าวว่า อะไหล่ขาดแคลนได้ถูกแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ทำให้หลังเทศกาลสงกรานต์ สถานการณ์น่าจะคลี่คลาย เพราะจะมีรถวิ่งในระบบเพิ่มเป็น 6-7 ขบวนในแต่ละวัน

ฟังข่าวก็ได้แต่หัวเราะกันหึ ๆ กันไป บรรดาผู้ที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะเส้นนี้ทุกวันล้วนรู้ดี ตอนที่แอร์พอร์ตลิงก์ รถออกวิ่งครบทั้ง 9 ขบวน ก็ใช่ว่าจะสะดวกสบาย โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้า ๆ ที่ผู้คนแออัดอย่างหนัก ถึงขนาดแทรกตัวเข้าไปไม่ได้

แต่กระทรวงคมนาคมบอกว่า พอซ่อมเสร็จ มีรถออกวิ่งได้สัก 6 ขบวน สถานการณ์น่าจะคลี่คลาย !!!

จริง ๆ แผนการเพิ่มขบวนรถ เพื่อรองรับผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ถูกพูดถึงมาก่อนหน้านี้ และรัฐบาลรู้ดีว่าทั้ง 9 ขบวนที่มีอยู่ ไม่พอรองรับการเดินทางในปัจจุบันที่เพิ่มเป็น 70,000 เที่ยวต่อวัน ถึงขั้นเปิดประมูลจัดซื้อกันไปแล้ว แต่ล้มประมูลไป หรือในช่วงที่ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เข้ามาเป็น รมช.คมนาคม มีแนวคิดจะให้ซื้อขบวนรถเพิ่ม แต่แนวคิดนี้ถูกล้มเลิกไปเช่นกัน

ตามแผนล่าสุดที่รัฐบาลวางไว้ การเชื่อมโยง 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ สัตหีบ ซึ่งเป็นหัวใจของอีอีซี จะผนวกรวมการเดินรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งด้วย โดยให้เอกชนที่ได้รับสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเส้นนี้ เป็นผู้จัดหาขบวนรถเข้ามาเสริม

ในเชิงยุทธศาสตร์ ในเชิงภาพรวม ไม่ปฏิเสธว่านี่คือการแก้ปัญหาระยะยาวให้กับแอร์พอร์ตลิงก์ เพราะทำให้สุดท้ายแล้ว ผู้ที่จะมาบริหารจัดการเดินรถคือเอกชน ซึ่งมีความคล่องตัวทุกอย่างดีกว่า

ปัญหาคือไม่มีใครรู้ว่าไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ การสั่งซื้อขบวนรถไฟฟ้า ต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ กว่าจะได้รับ ในขณะที่จำนวนผู้โดยสารมีแต่จะเพิ่มขึ้น ที่สำคัญรถทั้ง 9 ขบวนที่มีอยู่ ขาดการซ่อมบำรุงอย่างเป็นระบบมานาน

สถานการณ์มาถึงจุดที่ว่ารัฐบาลอาจต้องหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ ถ้าจะนำดีเซลรางมาวิ่งเสริมเติม คงต้องเพิ่มความถี่ให้มากขึ้น รวมถึงจัดตารางเวลาเดินรถที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ใช้บริการจริง ๆ ซึ่งในทางปฏิบัติคงไม่ง่ายนัก

หรืออาจเป็นวิธีอื่น ๆ …

แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใด ต้องเร่งรีบโดยเร็วที่สุด

ต้องไม่ลืมว่าแอร์พอร์ตลิงก์ เวลานี้คือระบบขนส่งมวลชนของคนไทย มีผู้ใช้บริการแต่ละวันร่วม ๆ แสนคน

แอร์พอร์ตลิงก์ ยังเป็นหนึ่งในหน้าตาของประเทศ ทำหน้าที่ขนส่งนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากสนามบินสุวรรณภูมิสู่ใจกลางกรุงเทพฯ

ปัญหานี้ปล่อยให้ยืดเยื้อแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว